‘Future Food’ อาหารเพื่อความยั่งยืน!!

“อาหาร” หนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตมนุษย์ทุกคน แต่จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น สวนทางพื้นที่เพาะปลูกที่ลดลง และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change) กำลังทำให้ความสามารถผลิตอาหารลดลง


เมื่อเร็วๆ นี้ ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดงานสินค้าอาหารสุดยิ่งใหญ่ “THAIFEX-ANUGA ASIA 2023” สามารถสร้างเม็ดเงินทะลุ 120,000 ล้าน คนเข้าชมถล่มอิมแพ็คกว่า 130,000 คน ต่างชาติเพิ่มเกือบ 150% ชี้ถึงศักยภาพไทยต่ออุตสาหกรรมอาหารที่พร้อมกำหนดทิศทางการพัฒนาจากฐานในประเทศสู่ความมั่นคงด้านอาหารของโลกได้

ส่งออกอาหารของไทย ที่สินค้ากลุ่มอาหารมีอัตราเติบโตที่ดี จากปัจจัยสนับสนุนด้านเศรษฐกิจคู่ค้าเริ่มฟื้นตัว สัญญาณการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว และผู้ประกอบการสินค้าไทยมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องผ่านการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมาปรับปรุงการผลิต รวมถึงออกแบบสินค้าใหม่ให้ตรงความต้องการผู้บริโภค

นอกจากนี้  ยังมีปัจจัยแวดล้อมอื่น ทั้งสถานการณ์ค่าระวางเรือดีขึ้นอีกทั้งไทยมีความร่วมมือกับรัฐและเอกชนในการขยายตลาดไปยังตลาดใหม่ๆ แต่ยังมีความท้าทายที่จะมีผลต่อความมั่นคงทางอาหารในอนาคตคือ ​​ เศรษฐกิจยังคงมีความไม่แน่นอนสูง อย่างความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สถานการณ์เงินเฟ้อ และการปรับขึ้นดอกเบี้ยทั่วโลกส่งผลต่อกําลังซื้อ  ขณะเดียวกันปัญหาภัยแล้งก็ยังส่งผลต่อปริมาณวัตถุดิบ รวมถึงต้นทุนการผลิตอาหารด้วย

คาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2593 ความต้องการอาหารจะเพิ่มขึ้น 70% เพื่อเลี้ยงประชากร 10 พันล้านคน การนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และช่วยแก้ปัญหา ความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมอาหารช่วยให้การผลิตอาหารมีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย ได้ปริมาณ และ คุณภาพ ตามความต้องการของประชากรโลก นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีมากขึ้นทำให้สินค้าอาหารอนาคตมีความหลากหลาย ตามความต้องการของผู้บริโภค ทั้งรสชาติ รูปแบบการกิน และช่วยเพิ่มมูลค่าสร้างจุดเด่น ความแตกต่างให้กับสินค้า เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องคือ Food TECH และ Agri TECH สามารถนำมาปรับใช้ได้ทั้งห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น Smart Farming ไปจนถึงกระบวนการผลิต และการกระจายสินค้า เช่น ระบบอัตโนมัติ เครื่องจักร หุ่นยนต์ ระบบ AI & IOT ช่วยในการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถตรวจสอบ ย้อนกลับได้

“อุตสาหกรรม อาหาร”แข่งเดือดเฟ้นนวัตกรรม  ตอบโจทย์ Future Food สู่ความยั่งยืน

ในฝั่งซัพพลายพบว่าผู้ผลิตอาหารตระหนักถึงความจำเป็นการพัฒนา และปรับตัวแล้ว ในฝั่งผู้บริโภคก็พบว่า เทรนด์อุตสาหกรรมในปัจจุบัน 1.ยกระดับการผลิตแบบใหม่ การพิมพ์อาหาร 3 มิติ ปัจจุบันกำลังเติบโตแล้ว สามารถสร้างสรรค์รูปร่าง พื้นผิว องค์ประกอบ และแม้แต่ รสชาติใหม่ ๆ ในผลิตภัณฑ์ อย่างผัดกะเพราจากโปรตีนจากพืช 

 2.ยกระดับทางด้านการเกษตร การทําฟาร์มแนวตั้งเน้นผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด พื้นที่มากขึ้น 3.ยกระดับการผลิตแบบใหม่กระบวนการฟอร์เวิร์ดออสโมซิส กระบวนการถนอมอาหารแบบใหม่ที่ทำให้ของเหลว โดยใช้พลังงานน้อยลง และไม่ใช้ความร้อน ส่งผลให้อาหารคงคุณค่าสารอาหารได้มากขึ้น 4.ยกระดับบรรจุภัณฑ์ ปลอดพลาสติก และบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ หลายประเทศลด และเลิกการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก ก้าวหน้าทางนวัตกรรมเกิดเป็นบรรจุภัณฑ์ที่กินได้ และย่อย สลายได้ทางชีวภาพ 5.ยกระดับกระบวนการ Al Blockchain สามารถรวบรวมข้อมูลเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพทางธุรกิจ มุ่งเน้นไปที่ประสบการณ์ของผู้บริโภคที่ดีขึ้น

ความท้าทายของอุตสาหกรรมอาหารมีทั้ง ปัญหาเชิงปริมาณที่มีแนวโน้มลดลง ขณะที่ปัญหาเชิงคุณภาพต้องตอบโจทย์ความใส่ใจสุขภาพเพื่อบรรลุเป้าหมายห่างไกลโรค ร่างกายแข็งแรงดูดีทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามใจต้องการเป็นแรงผลักดันสู่ “อาหารแห่งอนาคต หรือ Future Food” ที่หากประเทศไทยต้องการเป็น “ครัวโลก” ต้องตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตที่เป็นทั้งสนามแข่งที่ต้องต่อสู้กับคู่แข่ง ปัจจัยแปรผันต่างๆ และการแข่งขันตัวเองด้วย