‘จีน’ หวังฟื้น ศก. เดินหน้า ‘บีบ’ แบงก์พาณิชย์ หั่น ดอกเบี้ยเงินฝาก 0.05-0.1% 

‘จีน’ หวังฟื้น ศก. เดินหน้า ‘บีบ’ แบงก์พาณิชย์ หั่น ดอกเบี้ยเงินฝาก 0.05-0.1% 

“รัฐบาลกลางปักกิ่ง” หวังฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 เดินหน้าร้องขอให้ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเผื่อเรียก และเงินฝากประจําสามปี-ห้าปี ลงอย่างน้อย 0.05% และ 0.1% ตามลำดับ

Key Points

  • ทางการจีนเดินหน้าขอให้แบงก์พาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก
  • ท่าทีดังกล่าวเป็นความต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังชะลอตัวจากมาตรการปราบปราบทางการค้าและโควิดเป็นศูนย์ (Zero Covid)

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานคำกล่าวของแหล่งข่าววงใน ซึ่งไม่ประสงค์ออกนาม วันนี้ (7 มิ.ย.) ว่า รัฐบาลกลางปักกิ่งเดินหน้าข ให้บรรดาธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลง ซึ่งเป็นการส่งคำร้องอย่างน้อย 2 ครั้งภายในไม่ถึง 1 ปีที่ผ่านมา โดยหวังกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ

ย้อนกลับไปเมื่อ สัปดาห์ที่แล้ว เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐเข้าไป “แนะนำ” กลุ่มธนาคารพาณิชย์ของรัฐให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารแบงก์ออฟไชน่า (Bank of China) ธนาคารอินดัสเตรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียล แบงก์ ออฟ ไชน่า (Industrial & Commercial Bank of China) และ แบงก์ ออฟ คอมมิวนิเคชันส์ (Bank of Communications) 

โดย รัฐบาลต้องการให้บรรดาธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวลดอัตราดอกเบี้ย เงินฝากเผื่อเรียกหรือเงินฝากกระแสรายวัน เงินฝากประจําสามปี และห้าปี ลงอย่างน้อย 0.05% และ 0.1% ตามลำดับ

โดยรัฐบาลกลางดำเนินการขอลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากครั้งนี้ผ่าน “กลไกการบังคับตัวเอง” จากอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Interest Rate Self-disciplinary Mechanism) ของ ธนาคารกลางแห่งประเทศจีน (PBOC)

ธนาคารกลางแห่งประเทศจีน (PBOC)

แหล่งข่าวคนดังกล่าว กล่าวต่อว่า กลุ่มธนาคารพาณิชย์อยู่ในช่วงประเมินความเป็นไปได้ของคำร้อง และอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก “อย่างเร็วที่สุดภายในสัปดาห์นี้” อย่างไรก็ตามท่าทีของรัฐบาลกลางครั้งนี้ยังไม่ใช่การบังคับ 

ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ของจีนเสนออัตราดอกเบี้ยเงินเผื่อเรียก เงินฝากประจําสามปี และห้าปีอย่าง ที่ 0.25% 2.6% และ 2.65% ต่อปี ตามลำดับ

“มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมของจีนมีขอบเขตจํากัด เนื่องจากการแยกนโยบายการเงินระหว่างจีน-สหรัฐ และการส่งผ่านทางการเงินที่มีประสิทธิภาพน้อย ” บรูซ แปง (Bruce Pang) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สำหรับประเด็นในจีนแผ่นดินใหญ่ที่ โจนส์ ลาง ลาซาลล์ (Jones Lang LaSalle) ผู้ให้บริการด้านอสังหาริมทรัพย์  สัญชาติอเมริกัน กล่าวพร้อมเสริมว่า 

การลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอาจสร้างแรงจูงใจและเสริมความสามารถแก่ธนาคารในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น นอกจากนี้ยังหมายถึงการลดโอกาสในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะเวลาอันใกล้”

ทั้งนี้ หลังนักลงทุนรับรู้ข่าวการลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากครั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของจีนปรับตัวลง 0.01% สู่ระดับ 2.70% ส่วนค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงมากถึง 0.3% แตะระดับต่ำสุดที่ 7.1253 หยวนต่อดอลลาร์

นอกจากนี้ แนวทางดังกล่าวของรัฐบาลกลางเป็นไปทิศทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในลักษณะเดียวกันของเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว ซึ่งหวังบรรเทาแรงกดดันต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ท่ามกลางความพยายามสร้างสมดุลระหว่าง “อัตรากําไรขั้นต้นที่อยู่ในสภาวะหดตัว” และความต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจของ สี จิ้นผิง (Xi Jingping)

ด้าน นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า หลังจากรัฐบาลจีนมุ่งปราบปรามอุตสาหกรรมภายในประเทศบางส่วน และใช้มาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มข้น จนทำให้เศรษฐกิจในประเทศเติบโตอย่างเชื่องช้า ทั้งหมดส่งผลให้เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลจำเป็นต้องจีนออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมาก และล่าสุดทางการจึงจำเป็นต้องเพิ่มการปล่อยสินเชื่อเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หลังจากข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่า ตัวเลขการเติบโตในหลายภาคส่วนชะลอตัวลง

หลังจากที่ยอดการปล่อยเครดิต และสินเชื่อใหม่ในจีนปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาสแรก ทว่ายอดดังกล่าวกลับปรับตัวลดลงในเดือน พ.ค. เนื่องจากผู้บริโภคและบรรดาธุรกิจห้างร้านพยายามลดการกู้ยืมลง รวมทั้งหลายครัวเรือนเก็บออมเงินมากขึ้น เพื่อไปชําระหนี้จํานองแทนการสร้างหนี้ใหม่ ท่ามกลางภาคธุรกิจที่ต้องเผชิญกับความต้องการซื้อและผลกำไรที่ลดลงสอดคล้องกันไป

โดยในเดือน ก.ย. ผ่านมา ผู้ให้กู้รายใหญ่ ทั้ง ไอซีบีซี (ICBC) และ แบงก์ ออฟ ไช (Bank of China) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมาตรฐานลงทั่วทั้งกระดาน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ธนาคารขนาดใหญ่ดังกล่าวปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวนับในรอบ 8 ปี จนต่อมาบรรดาธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กจำนวนหนึ่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงตาม

ด้านบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ประเมินว่า หากธนาคารพาณิชย์ในจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตามคำร้องของทางการจะทำให้ต้นทุนของธนาคารลดลงจนสามารถลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ได้ในอนาคต 

ในทางกลับกัน ผู้บริโภคและธุรกิจห้างร้านก็จะสามารถกู้สินเชื่อด้วยอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ “น่าสนใจ” และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำลงจะทําให้ผู้บริโภคฝากเงินในธนาคารน้อยลง และนำเงินสดไปใช้จ่ายในภาคส่วนอื่นแทน ซึ่งในทางทฤษฎีก็จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ต่อไป

อ้างอิง

1. Bloomberg