PBOC ประกาศลดแทรกแซงเงินหยวน ยันศก.โตแกร่ง อสังหาฯ เริ่มฟื้น

PBOC ประกาศลดแทรกแซงเงินหยวน ยันศก.โตแกร่ง อสังหาฯ เริ่มฟื้น

“อี้ กัง” ผู้ว่า PBOC ฟันธงเริ่มลดการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนขั้นต้นบางส่วนแล้ว คุยโว ปี 66 ภาคอสังหาฯ ฟื้น- เศรษฐกิจโต 5%- อัตราเงินเฟ้อต่ำ

Key Points

  • รัฐบาลกลางปักกิ่งยุติการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศขั้นต้นส่วนใหญ่แล้ว แต่ยังมีการแทรกแซงตลาดอยู่บ้าง
  • กระทรวงการคลังสหรัฐวิพากษ์จีนว่าดำเนินนโยบายทางการคลังแบบไม่โปร่งใส ปิดเป็นส่วนใหญ่-เปิดเป็นส่วนน้อย
  • เป้าหมายการคลังจีนในอนาคตคือปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยปรับตามอัตราเงินเฟ้อ และมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจริง
  • เศรษฐกิจจีนปี 66 อาจโต 5% ด้วยอัตราเงินเฟ้อต่ำ และตลาดอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวดีขึ้น

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานถ้อยแถลงของอี้ กัง (Yi Gang) ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน (PBOC) ในวอชิงตัน สหรัฐ วันนี้ (16 เม.ย. 2566) ว่า รัฐบาลกลางปักกิ่งยุติการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศขั้นต้นส่วนใหญ่แล้ว (Regular Foreign-exchange Intervention) และดำเนินนโยบายที่เพิ่มความสะดวกสำหรับผู้ใช้สกุลเงินหยวนมากขึ้น

อย่างไรก็ตามทางการยังคงสงวนสิทธิ์ในการเข้าแทรกแซงตลาดอยู่ “ผมยังไม่ได้ประกาศว่าจะไม่มีการแทรกแซงตลาดแล้ว แต่ไม่ช้าก็เร็วตลาดจะสามารถเอาชนะการควบคุมของธนาคารกลางได้”

โดยผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่าสไลด์นำเสนอข้อมูลของอี้ กัง แสดงให้เห็นชัดเจนว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา PBOC ได้ลดการแทรกแซงขั้นต้น (Regular Intervention) จำนวนมาก

ด้านกระทรวงการคลังสหรัฐวิพากษ์วิจารณ์จีนผ่านรายงานการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศรายครึ่งปี (Semiannual Foreign-exchange Reports) อย่างต่อเนื่องว่า ขาดความโปร่งใสในการจัดการอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศ

ล่าสุดในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ทางการสหรัฐกล่าวผ่านรายงานดังกล่าวว่าจีนเป็น "คนนอกกรอบ" ที่ไม่เปิดเผยข้อมูลภายในประเทศ โดยปักกิ่งมักให้ข้อมูลที่จำกัดเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ รวมถึง "วัตถุประสงค์เชิงนโยบายของระบบการจัดการอัตราแลกเปลี่ยน" ก็ไม่เปิดเผยออกมา

ส่วนอี้ กังกล่าวต่อว่า “โดยพื้นฐานแล้วยังสามารถเรียกระบบการเงินของจีน ว่าเป็นระบบการควบคุมแบบลอยตัวภายใต้การจัดการของรัฐบาล (A managed, Floating Regime) ที่มีตลาดเป็นปัจจัยควบคุมหลัก (Primarily Determined by Market) และระบบนี้ยังใช้ได้ผลดีกับประเทศจีน”

“ตอนนี้ยังไม่มีวันที่ชัดเจนว่าเงินหยวนสามารถแปลงสภาพได้อย่างอิสระตอนไหน เพราะขณะนี้นโยบายพื้นฐานคือการเพิ่มความสะดวกในการใช้สกุลเงินหยวนเท่านั้น”

อัตราดอกเบี้ย

ในทางตรงกันข้าม ปัจจุบันชาวจีนสามารถแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้มากถึง 5 หมื่นดอลลาร์ต่อปีต่อคน (ประมาณ 1.65 ล้านบาท)  อย่างไรก็ตาม ประชาชน 99% ใช้สิทธิ์แลกเปลี่ยนเงินตราไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดดังนั้นเห็นได้อย่างชัดเจนว่า “โควตาไม่ได้เป็นข้อจำกัดในการแลกเปลี่ยนเงินตรา”

หากพิจารณาในภาพใหญ่ อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสหรัฐ-จีนอยู่ใน “ดุลยภาพ” ที่เหมาะสม โดยไม่มีเงินทุนขนาดใหญ่ไหลออกกะทันหัน และที่ผ่านมาจีนก็ไม่ได้ดำเนินนโยบายทางการเงินแบบเกินดุลบัญชีเงินทุนด้วย (A Capital-account Surplus)

โดยอี้ กัง กล่าวเสริมว่า PBOC มี "เสาสองต้น" ในการสร้างเสถียรภาพด้านราคาและการเงิน (Price and Financial Stability) ในทางปฏิบัติ เมื่อเวลาผ่านไป เป้าหมายของจีนคือปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยปรับตามอัตราเงินเฟ้อและมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริงเล็กน้อย 

อย่างไรก็ตาม การคำนวณศักยภาพการเติบโต (Potential Growth) ของจีนนั้นค่อนข้างเป็นที่ถกเถียงอย่างมาก โดยบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า  อี้ กังให้ข้อสังเกตว่านักเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งประเมินว่าศักยภาพการเติบโตของจีนนั้นอยู่ในระดับ “สูงมาก” ทว่าในสไลด์นำเสนอข้อมูลของเขากลับใช้ค่าประมาณที่รวบรวมจากมหาวิทยาลัยซิงหัว อีกทั้งหนึ่งในสไลด์ของเขาแสดงให้เห็นว่าในปีที่แล้วตัวเลขศักยภาพในการเติบโตสูงกว่า 5% เล็กน้อย ในขณะที่ปี 2555 มากถึง 8% 

บทสนทนาเรื่อง “หนี้”

สำนักข่าวบลูมเบิร์กให้ข้อมูลว่า PBOC ภายใต้การนำของอี้ กังใช้มาตรการผ่อนคลายที่วัดผลได้ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 (A Measured Easing Approach) โดยเป็นการหลีกเลี่ยงการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งละมากๆ หรือใช้มาตรการที่ไม่เป็นทางการ เช่น มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE

ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนดีดตัวกลับขึ้นนับตั้งแต่รัฐบาลยกเลิกมาตรการโควิดเป็นศูนย์ (Zero-Covid) เมื่อปลายปีที่แล้ว ท่ามกลางนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งที่มองต่างเรื่องอัตราการเติบโตของจีนหลังจากนี้ รวมทั้งประเด็นเรื่อง PBOC ควรเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อหนุนการเติบโตหรือไม่

ทั้งนี้ อี้ กัง เดินทางไปประชุมที่วอชิงตันในสัปดาห์นี้เพื่อเข้าร่วมพูดคุยกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) เพื่อเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ให้ประเทศที่ยากจน ภายใต้หนี้หลายพันล้านดอลลาร์

 นอกจากนี้ เขายังจัดการประชุมกับกลุ่มธนาคารกลางและรัฐมนตรีคลังอีก 20 คน โดยระบุส่วนหนึ่งของการหารือว่า “คาดว่าเศรษฐกิจของจีนจะเติบโตประมาณ 5% ในปีนี้ ด้วยอัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำ และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังดีขึ้น”