4 พญามารเผชิญหน้าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง | ปิยศักดิ์ มานะสันต์ 

4 พญามารเผชิญหน้าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง | ปิยศักดิ์ มานะสันต์ 

ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา มี 3 เหตุการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังอย่างชัดเจน เหตุการณ์เหล่านั้นคือ ผลการเลือกตั้ง ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปีนี้ และอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

(1) ผลการเลือกตั้งที่ชัดเจนแต่ไม่เด็ดขาด ทำให้ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในปัจจุบัน 

(2) การประกาศตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจ (GDP) ไทยในไตรมาส 1/2023 รวมถึงการคาดการณ์เศรษฐกิจจากสภาพัฒน์ โดย GDP ไตรมาสที่ 1 ขยายตัวได้ดีเกินคาด แต่ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้เท่าเดิมว่าจะโตที่ 3.2% (ค่ากลาง) โดยปรับการบริโภคเอกชนสูงขึ้น แต่การลงทุนเอกชน รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐลง และยังคงมุมมองส่งออกที่จะหดตัวถึงกว่า 1.7% 

(3) การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.75% เป็น 2.00% ต่อปี โดยให้มีผลทันที โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.6% แต่ส่งสัญญาณว่าเงินเฟ้อเป็นความเสี่ยงและพร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อ

ผู้เขียนมองว่า มุมมองเศรษฐกิจที่แตกต่างกันระหว่างสภาพัฒน์และ ธปท. นั้น มีนัยที่น่าสนใจ เนื่องจากทั้ง 3 เหตุการณ์นั้น จะแฝงไว้ซึ่ง 4 ปัจจัยที่จะเป็นดั่งพญามาร ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยให้ตกต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาด อันได้แก่ 

(1) เศรษฐกิจโลกที่จะชะลอลงอย่างมาก และอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยโดยเฉพาะในซีกโลกตะวันตก ซึ่งจะกระทบการส่งออกและอาจรวมถึงการท่องเที่ยว  โดยในปัจจุบัน เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับ 3 ความเสี่ยง กล่าวคือ 

(1.1) ความเสี่ยงจากนโยบายการเงินที่จะตึงตัวยาวขึ้น ผลทั้งจากการรัฐสภาสหรัฐผ่านกฎหมายทำให้กระทรวงการคลังสามารถออกพันธบัตรเพื่อระดมเงินทุนเพื่อเติมเงินคงคลัง ทำให้สภาพคล่องตึงตัวมากขึ้น 

(1.2) เศรษฐกิจที่แบ่งแยกเป็น 2 กลุ่ม ระหว่างภาคการผลิตที่ชะลอตัวหรือหดตัวมากขึ้นและภาคบริการที่ยังขยายตัวได้ดี ทำให้ทางการทำนโยบายเศรษฐกิจยากลำบากขึ้น

โดยธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) และยุโรป (ECB) จะต้องขึ้นหรือคงดอกเบี้ยยาวนานขึ้น เพื่อจัดการกับความเสี่ยงเงินเฟ้อและตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่ง ท่ามกลางวิกฤติภาคธนาคารในสหรัฐและยุโรปที่ทำให้ธนาคารต่าง ๆ เริ่มชะลอการปล่อยสินเชื่อ  และ 

 

(1.3) เศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ชะลอแรงขึ้น ซึ่งจะผลักดันให้เงินดอลลาร์แข็งค่า และทำให้เงินสกุลอื่น ๆ อ่อนค่าลง กดดันกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย ภาพเหล่านี้จะทำให้กระทบทำให้การส่งออกไทยหดตัวแรงและยาวนานขึ้น ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวอาจตกต่ำกว่าคาด

(2) ความไม่ชัดเจนทางการเมือง ที่นำไปสู่ภาวะ "นโยบายการคลังตึงตัวทางพฤตินัย" โดยในปัจจุบัน ยังไม่เห็นความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่ต้องติดตาม ทั้งจำนวนเสียงรับรองข้างมากในรัฐสภา

รวมถึงคดีความที่ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ความเป็นไปได้ที่จะได้รัฐบาลใหม่ในเดือน ส.ค. ตาม Timeline ของ กกต. นั้นเป็นไปได้ยาก

โดยอาจเลื่อนไปจนถึงเดือน ก.ย.-ต.ค. ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น กระบวนการทำงบประมาณก็จะยิ่งล่าช้า และกระทบต่อการเบิกจ่ายงบลงทุนที่ต้องมีการเซ็นสัญญาใหม่ ให้ล่าช้าไปถึง 2-3 ไตรมาส 

นอกจากนั้น ในระยะต่อไป การบริหารราชการแผ่นดินในกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ อาจเริ่มชะลอลง เนื่องจากโครงการใหญ่ ๆ อาจต้องรอการตัดสินใจของรัฐบาลใหม่ ทำให้โครงการต่าง ๆ อาจล่าช้ากว่าที่เคยวางแผนไว้ ซึ่งอาจรวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณ ทั้งงบประจำและลงทุน ซึ่งจะมีผลสืบเนื่องต่อการจัดซื้อจัดจ้าง และกระบวนการภาครัฐอื่น ๆ ในระยะต่อไป

(3) นโยบายการเงินที่จะยังตึงตัวต่อเนื่อง โดยในปัจจุบัน ผลกระทบจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้น เริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญแล้ว โดยปัจจุบัน ดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 1.5% หรือ 150 bps (จาก 0.5% ณ กลางปีที่แล้ว เป็น 2.0% ในสัปดาห์ก่อน) ทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (MLR) ขึ้น 160 bps แล้ว (จาก 5.25% สู่ 6.85%) 

ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้การขยายตัวสินเชื่อชะลอลงชัดเจน จาก 8.9% ต่อปีในเดือน ต.ค. 21 เป็น 2.3% ในเดือน มี.ค. 23 สินเชื่อที่ชะลอ ส่งผลกระทบต่อการลงทุนเป็นสำคัญ (กิจกรรมภาคอสังหาฯ เช่น การซื้อบ้าน ถือเป็นการลงทุนในการคำนวณ GDP)

ล่าสุดการลงทุนหดตัว -0.3% ต่อปี (ค่าเฉลี่ย 3 เดือน) ในเดือน มี.ค. และเมื่อมองไปข้างหน้า ดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นและทำให้ดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นตาม จะยิ่งทำให้สินเชื่อธุรกิจ และการลงทุนเอกชนหดตัวยิ่งขึ้น

และ (4) ความเสี่ยงภัยแล้ง ซึ่งผู้เขียนจับตาดัชนี SOI (Southern Oscillation Index) ซึ่งเป็นดัชนีแสดงความแปรปรวนของระบบอากาศซีกโลกใต้และเป็นตัวชี้วัดความเสี่ยงเกิดภาวะ El Nino มากขึ้น

หากดัชนีนี้เข้าสู่แดนลบ แสดงว่าภูมิอากาศมีปัญหา โดยอาจทำให้เกิดภาวะ El Nino ในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า และกระทบต่อการเพาะปลูกและผลผลิตทางเกษตรของไทย และนำไปสู่วิกฤตทางการเกษตรได้ 

โดยในช่วงที่เกิดภาวะ El Nino ขึ้นครั้งใหญ่ ที่กระทบต่อไทยมาก ได้แก่ ช่วงปี 2015-17 ซึ่งกระทบกับการผลิตสินค้าเกษตร และทำให้เศรษฐกิจภาคการเกษตร (Agriculture GDP) หดตัวถึงกว่า -6.5% ในปี 2015 ขณะที่การผลิตสินค้าเกษตรหดลงกว่า 10% ทั้งธัญพืช มันสำปะหลัง ข้าวโพด และข้าว โดยข้าวหดตัวแรงสุดที่ประมาณ 70% 

นอกจากนั้น ราคายางจะหดตัวลงเช่นกันในระดับ 5-10% จากราคายางเป็นหลัก (ซึ่งสาเหตุหลักเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในช่วงดังกล่าว หรือ China hard landing ทำให้ความต้องการยางซึ่งเป็นสินค้าหลักในภาคอุตสาหกรรมลดลง) ทำให้รายได้เกษตรกรหดตัวประมาณ 15-20% ในช่วงเวลาดังกล่าว 

ผู้เขียนกังวลว่า หากดัชนี SOI เข้าสู่แดนลบในไตรมาส 3 และลากยาวไปจนถึงไตรมาส 4 อาจทำให้เกิดภาวะ El Nino ในช่วงปลายปี 2023-ต้นปี 2024 ซึ่งอาจทำให้ปริมาณการราคาสินค้าเกษตรผลิตสินค้าเกษตรหดตัวลงเช่นเดียวกับช่วงปี 2015-17) เช่นเดียวกัน 

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามว่าราคาจะปรับลดลงเช่นเดียวกับปริมาณการผลิตด้วยหรือไม่ ซึ่งหากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวแรง และทำให้ราคาสินค้าเกษตรลดลงเช่นกัน ก็อาจทำให้รายได้เกษตรกรปรับลดลงในระดับใกล้เคียงกับช่วงดังกล่าวได้ ซึ่งจะทำให้รายได้ของเกษตรกรหดตัว โดยเฉพาะชาวนาและชาวไร่ข้าวโพด 

เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ความเสี่ยงการเมือง นโยบายการเงินตึงตัว และภัยแล้ง เหล่านี้คือ 4 พญามารเผชิญหน้าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ท่านผู้อ่าน โปรดระวัง
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่

คอลัมน์ : Global Vision  
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์
ฝ่ายวิจัยการลงทุน 
บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด
[email protected]