ส่งออกไทยยังทรุดติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7

พาณิชย์ เผย ส่งออกเดือนเม.ย.มูลค่า 21,723.2 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 7.6% รวม 4 เดือนแรกของปี มูลค่า 92,003.3 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 5.2% คงเป้าทั้งปี โต 1-2 %
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนเม.ย. 2566 มีมูลค่า 21,723.2 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 7.6% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 นับจากเดือนต.ค.ปี 65 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ติดลบ 6.8% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 23,195.0 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 7.3 % ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 1,471.7 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ ภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 92,003.3 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 5.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 96,519.3 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 2.2% ขาดดุลการค้า 4,516.0 ล้านดอลลาร์
ปัจจัยหลักมาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกกดดันอุปสงค์ด้านการส่งออก หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียยังคงเผชิญกับการส่งออกที่ชะลอตัว แม้ว่าปัจจัยด้านเงินเฟ้อจะชะลอลง แต่ความเปราะบางของภาคธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรป กดดันให้เศรษฐกิจโลก มีแนวโน้มชะลอตัวมากขึ้น
“ การส่งออกเดือนเม.ย.ที่ติดลบ 7.6% ส่วนหนึ่งมาจากฐานปีที่แล้วที่สูงมาก ส่วนการส่งออกในเดือนต่อไปคาดว่า น่าจะยังคงติดลบอยู่จากสต๊อกสินค้าของประเทศคู่ค้ายังมีอยู่ทำให้ชะลอการสั่งซื้อสินค้า อย่างไรก็ตาม กระทรวงยังคงเป้าการส่งออกทั้งปีขยายตัว 1-2 % “นายกีรติ กล่าว
โดยการส่งออกในเดือนเม.ย.ที่ลดลง มาจากการลดลงของสินค้าอุตสาหกรรม ที่ติดลบ 11.2 % ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 จากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและราคาพลังงาน โดยสินค้าสำคัญที่ติดลบ เช่น สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ลด 23.5% เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ลด 19.0 % เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ลด 11.5% อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ลด 27.0% เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ลด 27.1% ทั้งนี้ 4 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ติดลบ 7.1% แม้ว่าการส่งออกภาพรวมจะติดลบ แต่ก็ยังมีสินค้าสำคัญขยายตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัว 3.4% เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 55.0 % อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ขยายตัว 107.8% หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัว 25.5% เครื่องใช้สำหรับเดินทาง ขยายตัว 28.2%
ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตร ขยายตัว 23.8 % โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ รวมถึงข้าว ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึง ผักกระป๋องและผักแปรรูป นมและผลิตภัณฑ์นม ส่วนสินค้าที่ลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ อาหารสัตว์เลี้ยง
ด้านการส่งออกไปยังตลาดสำคัญ ส่วนใหญ่กลับมาหดตัว โดยตลาดหลัก ลด 6.2% จากการลดลงของตลาดสหรัฐฯ 9.6% ญี่ปุ่น 8.1% อาเซียน (5 ประเทศ) 17.7% CLMV 17% และสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) 8.2% แต่ตลาดจีนกลับมาขยายตัว 23% ตลาดรอง ลด 14.9% โดยหดตัวในตลาดเอเชียใต้ 25.9% ตะวันออกกลาง 16.7% แอฟริกา 26.9% ลาตินอเมริกา 9.4% แต่ขยายตัวในตลาดทวีปออสเตรเลีย 4.4% ตลาดรัสเซียและกลุ่ม CIS 155.4% และสหราชอาณาจักร 49% และตลาดอื่น ๆ เพิ่ม 72.2% เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 77.9%
สำหรับตลาดส่งออกของไทยในเดือนเม.ย.ที่ขยายตัวได้ดี 10 อันดับแรก คือ 1. ตลาดรัสเซีย 211.3% 2.ตลาดสวิตเซอร์แลนด์ 77.9% 3.อิรัก 53.3% 4.สหราชอาณาจักร 49% 5.โปรตุเกส 34% 6.จีน 23% 7. สวีเดน 21% 8.ออสเตรเลีย 10.7% 9.ลาว 9.9% และ 10.2.8%
ขณะที่การค้าชายแดนและผ่านแดน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในตัวเลขการส่งออกรวม เดือนเม.ย.2566 การค้ารวมมีมูลค่า 149,810 ล้านบาท เพิ่ม 14.2% แยกเป็นการส่งออก มูลค่า 90,783 ล้านบาท เพิ่ม 22.3% และนำเข้า มูลค่า 59,027 ล้านบาท เพิ่ม 3.57% โดยส่งออกชายแดน ไปสปป.ลาว เพิ่มขึ้น แต่ส่งออกไปมาเลเซีย เมียนมา และกัมพูชาลดลง และการส่งออกผ่านแดนไปจีน สิงคโปร์และเวียดนาม เพิ่มขึ้นทุกตลาด
สำหรับแนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลงแต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้หลายประเทศยังคงใช้นโยบายการเงินอย่างเข้มงวด ขณะที่มีความเสี่ยงจากปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ปัญหาวิกฤตการเงินของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ และยุโรป และปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ สร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ การฟื้นตัวของตลาดจีนที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา เป็นสัญญาณบวกต่อการส่งออกไทย ขณะที่ปัญหาความมั่นคงทางอาหารเกิดขึ้นในหลายประเทศที่ประสบปัญหาภัยแล้งจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในปีนี้