การรถไฟฯ ขอกู้เพิ่ม 1.8 หมื่นล้าน อุดค่าดำเนินกิจการ - ดอกเบี้ย

การรถไฟฯ ขอกู้เพิ่ม 1.8 หมื่นล้าน อุดค่าดำเนินกิจการ - ดอกเบี้ย

การรถไฟฯ เตรียมชง ครม.อนุมัติกู้เงินเสริมสภาพคล่อง1.8 หมื่นล้านบาท หนุนดำเนินกิจการปีงบประมาณ 2567 หลังประมาณการรายรับรายจ่ายจ่อติดลบ เหตุยังมีภาระชำระดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายเงินกู้ครบกำหนด เดินหน้าเร่งแผนฟื้นรายได้-บริหารทรัพย์สิน

กิจการรถไฟไทยดำเนินการมามากกว่า 100 ปีแล้ว พันธกิจการขนส่งคน สินค้าและเชื่อมต่อการพัฒนาในพื้นที่ทั่วประเทศทำให้การรถไฟไทยมีศักยภาพทั้งในแง่การหารายได้จากค่าโดยสารเพราะเป็นผู้บริการรายเดียว นอกจากนี้ ยังมีสินทรัพย์และทรัพย์สินจำนวนมากทำให้ปัญหาการขาดทุนจนขาดสภาพคล่องนำไปสู่การกู้เงินเกิดขึ้นสะสมมาอย่างช้าและมีมูลค่าสูงขึ้นทุกวัน 

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า จากการจัดทำประมาณการกระแสเงินสดประจำปี 2567 พบว่าผลการดำเนินงานในปีงบประมาณดังกล่าว ขาดกระแสเงินสดราว 18,000 ล้านบาท ส่งผลให้ ร.ฟ.ท.มีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อใช้ในการดำเนินงาน หรือทำมาเสริมสภาพคล่องการดำเนินกิจการ โดยขณะนี้ได้มีการเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) และได้รับการอนุมัติแล้ว

ขณะที่ขั้นตอนหลังจากนี้ ร.ฟ.ท.จะต้องเสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมพิจารณาถึงความเหมาะสม เนื่องจากปัจจุบันอยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการ ดังนั้นต้องพิจารณาด้วยว่าจะสามารถเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติได้หรือไม่ ส่วนการจัดสรรวงเงินดังกล่าว จะเป็นอำนาจของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ในการพิจารณาความเหมาะสมของแหล่งเงินกู้

สำหรับปัจจุบัน ร.ฟ.ท.ยังมีภาระหนี้สะสมอยู่ที่ราว 2 แสนล้านบาท แต่ยอมรับว่าการดำเนินกิจการในข่วงที่ผ่านมาเนื่องจาก ร.ฟ.ท.มีภาระอัตราดอกเบี้ยจากเงินต้นที่กู้ยืมมาก่อนหน้านี้ ทำให้รายได้ที่ ร.ฟ.ท.บริหารกิจการมาแต่ละปี ต้องนำไปชดเชยดอกเบี้ยและภาระทางการเงินต่างๆ ส่งผลให้ภาพรวมการดำเนินงานของ ร.ฟ.ท.ยังคงมีกระแสเงินสดไม่เพียงพอต่อการดำเนินกิจการ

การรถไฟฯ ขอกู้เพิ่ม 1.8 หมื่นล้าน อุดค่าดำเนินกิจการ - ดอกเบี้ย

ภาระหนี้สะสมต้นเหตุเงินฝืด

“ที่ผ่านมาการรถไฟฯ เราขออนุมัติจัดสรรเงินกู้เช่นนี้มาทุกปี ในวงเงินใกล้เคียงกับที่เสนอขอให้ปีงบประมาณ 2567 เพราะที่ผ่านมาเราต้องนำเงินไปชดเชยภาระทางการเงินที่มีหนี้สะสมอยู่ ทำให้ไม่เพียงพอต่อการดำเนินกิจการ ซึ่งขณะนี้การรถไฟฯ ยังอยู่ในช่วงฟื้นฟูกิจการ และมีความพยายามในการหารายได้เพิ่มอย่างต่อเนื่อง”

ทั้งนี้ จากข้อมูลประมาณการกระแสเงินสดในปี 2567 ของ ร.ฟ.ท.พบว่ามีการคาดการณ์รายรับรวม 10,661ล้านบาท โดยแบ่งเป็น รายได้จากการโดยสาร 2,957 ล้านบาท รายได้การขนส่งสินค้า 2,467 ล้านบาท รายได้จากการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง 327 ล้านบาท รายได้จากการบริหารทรัพย์สิน 3,736 ล้านบาท รายได้ค่าธรรมเนียมการดำเนินงาน ICD ลาดกระบัง 499 ล้านบาท รายได้ค่าเช่าตลาดนัดจตุจักร 169 ล้านบาท และรายได้จาการดำเนินงานอื่นๆ 503 ล้านบาท

ขณะที่รายจ่ายครบกำหนดชำระ คือ การชำระดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายเงินกู้ 5,436 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินกิจการอีกราว 24,195 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายยบำรุงทางอาณัติสัญญาณ และสิ่งปลูกสร้าง 3,514 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้าสายสีแดง 1,111 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายบำรุงรักษารถจักร และล้อเลื่อน 3,824 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการเดินรถขนส่ง 9,342 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการบริหาร 1,005 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายบำเหน็จบำนาญอีก 5,397 ล้านบาท ส่งผลให้การดำเนินงานในปีงบประมาณ 2567 ติดลบอยู่ที่ 18,970 ล้านบาท

ลุยฟื้นฟูกิจการพลิกบวกปี 76

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.ยังคงเดินหน้าแผนฟื้นฟูกิจการฉบับใหม่ มีเป้าหมายผลักดันให้ รฟท. มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เป็นบวกภายในปี 2576 มุ่งเน้นการวางแผนธุรกิจเพื่อหารายได้จากสินทรัพย์ที่มีอยู่ โดยเฉพาะการจัดใช้ระบบรางทางคู่ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งล่าสุดบอร์ด ร.ฟ.ท.ได้อนุมัติจัดหารถโบกี้บรรทุกสินค้า (บตท.) หรือ แคร่ขนสินค้า จำนวน 946 คัน วงเงิน 2,459 ล้านบาท ให้สอดคล้องต่อความต้องการในการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ และเป็นการใช้รางทางคู่ให้เพิ่มมากขึ้นนอกเหนือจากการขนส่งผู้โดยสาร

โดยการจัดหารถโบกี้บรรทุกสินค้าเพิ่มขึ้นนั้น เป็นหนึ่งในแผนฟื้นฟูกิจการส่วนของธุรกิจหลัก ที่ประกอบด้วย ขยายการขนส่งสินค้าในอุสาหกรรมที่มีศักยภาพ, บริการจัดหาขบวนรถโดยสารเพื่อลดการขาดทุน, พัฒนาขบวนท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้ขยายฐานลูกค้าให้หลากหลายมากขึ้น, การขยายพันธมิตรการขนส่งหีบห่อวัตถุ เพิ่มลูกค้าในกลุ่มหีบห่อขนาดใหญ่และขยายพันธมิตรเอกชนให้มากขึ้น รองรับกับการขยายตัวของภาคขนส่ง, พัฒนาคุณภาพการบริการโดยสารและสินค้า รวมไปถึงบริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงและรถไฟความเร็วสูงอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.ยังมีแผนเพิ่มรายได้จากการพัฒนาและสร้างรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการขนส่งระบบราง โดยจะเร่งสร้างรายได้จากการบริหารสัญญาเช่า ทรัพย์สินและที่ดิน เร่งดำเนินการในแปลงศักยภาพของสัญญาขนาดใหญ่, สนับสนุนบริษัทลูกในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่และขยายธุรกิจใหม่เพื่อสร้างรายได้ และพัฒนารูปแบบการสร้างรายได้เสริม (Non - core) อาทิ บริการอาหารเครื่องดื่ม จำหน่ายสินค้า หรือจับมือพันธมิตรจัดทำแพ็คเกจท่องเที่ยว จำหน่ายพร้อมกับตั๋วรถไฟ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้โดยสารมากขึ้น เป็นต้น