เศรษฐกิจโลก-ไทยหลังการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

เศรษฐกิจโลก-ไทยหลังการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ถือว่าสำคัญมาก เพราะแม้จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ไปสู่ 5-5.25% แต่หลายฝ่ายมองว่า การขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย

ก่อนที่ Fed จะหยุดขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะเป็นส่วนทำให้ธนาคารกลางอื่นๆ หยุดขึ้นดอกเบี้ยตาม และจะเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบการขึ้นดอกเบี้ยโลก 

บทความนี้จึงมาวิเคราะห์ถึงภาพเศรษฐกิจโลกและไทยในปัจจุบัน และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นหลังการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย

ในส่วนของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ส่งสัญญาณชะลอตัวลงแรงขึ้น โดยเฉพาะภาคการผลิต ขณะที่ภาคบริการยังขยายตัวได้ดี แต่ก็เริ่มเห็นสัญญาณชะลอลง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ระบุว่า ภาคการผลิตส่วนใหญ่อยู่ในแดนหดตัว ขณะที่ภาคบริการยังคงขยายตัวอย่างร้อนแรง โดยได้รับอานิสงส์จากการเปิดเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอลงในบางประเทศ

 

เศรษฐกิจโลก-ไทยหลังการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ภาพนี้เช่นเดียวกับรายงาน World Economic Outlook ของ IMF ฉบับ เม.ย.2566 ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลก เหลือ 2.8% จาก 2.9% ในเดือน ม.ค. จากนโยบายการเงินที่ตึงตัวและความเสี่ยงมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นหลังวิกฤตสภาพคล่องในยุโรปและสหรัฐ

  • หันมาดูที่เศรษฐกิจสหรัฐ พบว่าเสี่ยงมากขึ้นจาก 3 ปัจจัยเสี่ยง อันได้แก่

1. ภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมากขึ้น โดยหากพิจารณาดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ จะพบว่าปรับลดลงใกล้เคียงกับวิกฤติต่างๆ ในช่วงก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อที่ยังอยู่ระดับสูง (เดือน มี.ค.อยู่ที่ 5.0%) ขณะที่การจ้างงานยังแข็งแกร่ง ทำให้ต้องคงดอกเบี้ยสูง โดยหากพิจารณาดัชนีเศรษฐกิจชี้นำของสหรัฐ พบว่าลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12

แม้ว่าดอกเบี้ยจะไม่ปรับขึ้นต่อ แต่ผู้เขียนเชื่อว่า Fed จะคงดอกเบี้ยในระดับนี้ยาวจนถึงช่วงปลายปี และในระหว่างนี้ ภาพเศรษฐกิจและตลาดการเงินจะแย่ลงเรื่อยๆ ผ่านการจ้างงานที่ลดลง ภาคการเงินและภาคธุรกิจที่จะมีปัญหาทางการเงินมากขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจตกต่ำลง จนทำให้ Fed ต้องลดดอกเบี้ยลงในที่สุด

2. ภาพดอกเบี้ยสูง จะกดดันความเสี่ยงธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารขนาดเล็กในภูมิภาค (Regional bank) ให้เกิด silent bank run (หรือการค่อยๆ ถอนเงินอย่างต่อเนื่อง) ทำให้อาจมีธนาคาร Regional bank ที่จะขาดสภาพคล่องและเกิดวิกฤติศรัทธา และถูกปิดไป เช่นเดียวกับ First Republic

หลังจากที่สถาบันประกันเงินฝาก (FDIC) สั่งปิดธนาคาร SVB และ Signature Bank ในเดือน มี.ค.ก็มีธนาคาร Regional bank อื่นๆ ที่มีความเสี่ยงจากการที่เงินฝากไหลออกต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง First Republic รวมถึง Western Alliance และ PacWest ที่ตั้งอยู่ในแถบมลรัฐแคลิฟอร์เนีย และมีลักษณะการทำธุรกิจคล้ายกัน

เศรษฐกิจโลก-ไทยหลังการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย | ปิยศักดิ์ มานะสันต์

เมื่อ First Republic ประกาศผลประกอบการ ที่พบว่าเงินฝากไหลออกไปกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ ทำให้หุ้นของธนาคารตกต่ำอย่างต่อเนื่องโดยลดต่ำลงกว่า 97% จนในที่สุด ทำให้ FDIC ได้ทำการชักจูงธนาคารขนาดใหญ่ให้เข้าควบรวมกับ First Republic ในที่สุด

ช่วงต้นเดือน พ.ค. ธนาคาร JP Morgan ร่วมกับ FDIC จึงเข้าซื้อ First Republic ผู้เขียนมองว่า ไม่น่าจะเป็นธนาคารสุดท้ายที่ล้มในวิกฤติครั้งนี้

รายงาน Financial Stability Report และ Senior loan officer survey ของ Fed เดือน เม.ย.2566 ที่ออก ณ 8 พ.ค. ระบุว่าสถานการณ์ Silent bank run ทำให้เกิดวิกฤติสภาพคล่องธนาคาร Regional bank ต่อเนื่อง ทำให้เจ้าหน้าที่ธนาคารคุมเข้มมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อยากขึ้น เกิดความเสี่ยง Credit crunch และกระทบเศรษฐกิจในระยะต่อไป

3. ความเสี่ยงหนี้สาธารณะที่จะครบกำหนดเร็วขึ้น จากการเก็บภาษีที่น้อยลง ขณะที่รายจ่ายมีมากขึ้น ซึ่งหากไม่สามารถตกลงกันได้ในประเด็นเพิ่มเพดานหนี้ดังกล่าว ซึ่งจะทำให้สหรัฐเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ และถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ

ดัชนี CDS ที่ใช้ประกันความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังข้อเสนอของพรรค Republican ในการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะอีก 1.5 ล้านล้านดอลลาร์

จากระดับหนี้ปัจจุบันที่ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ แลกกับการปรับลดการใช้จ่ายภาครัฐที่ค่อนข้างเข้มงวดผ่านสภาล่าง แต่มีโอกาสน้อยที่จะผ่านสภาสูงและ/หรือประธานาธิบดี

เนื่องจากในข้อเสนอให้มีการตัดรายจ่ายสำคัญ เช่น การพักหนี้การศึกษา สวัสดิการสุขภาพ (Medicaid) และคูปองช่วยเหลือค่าอาหาร (food stamp) ซึ่งเป็นจุดยืนของพรรค Democrat ทำให้โอกาสตกลงกันไม่ได้และผิดนัดชำระหนี้มีมากขึ้น

ทั้งนี้ ทั้งสองพรรคมีเวลาที่จะเจรจาปรับเปลี่ยนกฎหมายการขยายเพดานหนี้ได้จนถึงวันที่ 1 มิ.ย. (ตามคำกล่าวของ รมว.คลังสหรัฐ) ขึ้นอยู่กับการจัดเก็บรายได้จากภาษีเป็นสำคัญ ซึ่งมีแนวโน้มลดลงจากปีก่อน ทำให้มีความเสี่ยงที่เงินคงคลังของสหรัฐจะหมดลงเร็วกว่าคาด

ภาพความเสี่ยงต่างๆ จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐ รวมถึงเศรษฐกิจโลกจะชะลอแรงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะสหรัฐและยุโรป (ที่แทบไม่ขยายตัวในไตรมาสแรก จากเศรษฐกิจเยอรมนีที่ไม่เติบโต) ขณะที่จีนจะฟื้นตัวดีขึ้น

ด้านเศรษฐกิจไทยเดือน มี.ค.ชะลอลงในแทบทุกภาคส่วน โดยรายได้เกษตรกรชะลอตัวลงมาก จากราคาสินค้าเกษตรหดตัวมาก โดยเฉพาะทุเรียน ยาง ปาล์มน้ำมัน ภาคอุตสาหกรรมลดลงมากตามการส่งออก ภาคบริการ

แม้การท่องเที่ยวดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยว แต่กิจกรรมในภาคการค้าและการขนส่งลดลง จากปัญหาหมอกควัน และการส่งออกที่ลดลง ขณะที่ภาคการเงินปรับลดลงตาม ปริมาณสินเชื่อที่ลดลง เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมเพิ่มขึ้นและสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ

เศรษฐกิจที่ชะลอลง ทำให้เงินเฟ้อไทยลดลงต่อเนื่อง โดยเงินเฟ้อเดือน เม.ย.2566 ลดลงไปอยู่ที่ 2.67% จากราคาอาหารและพลังงานที่ลดลงมาก ผู้เขียนคาดว่าเงินเฟ้อจะลดลงต่อเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่จะชะลอตัว ทำให้ราคาพลังงานและอาหารลดลง

ธปท.น่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในปีนี้ ทำให้ดอกเบี้ยไปอยู่ที่ 2% ซึ่งหากเป็นตามคาด ดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงในช่วงครึ่งปีหลังอาจกลับมาเป็นบวก ซึ่งจะฉุดรั้งเศรษฐกิจมากขึ้น

ทั้งนี้ ในระยะต่อไป เศรษฐกิจไทยจะมีความเสี่ยงมากขึ้นจาก

  1. การขยายตัวเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง กระทบการส่งออกและภาคการผลิต
  2. นโยบายการเงินที่ตึงตัว และมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น
  3. สถานการณ์ไม่แน่นอนด้านการเมืองหลังการเลือกตั้ง ที่อาจกระทบการบริหารราชการแผ่นดิน และกระบวนการงบประมาณ

เศรษฐกิจโลกและไทยเสี่ยงมากขึ้นหลังการขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย ท่านผู้อ่าน โปรดเตรียมตัวเตรียมใจ