เลือกตั้ง-ท่องเที่ยวหนุน การบริโภคไตรมาส 2 ฟื้น

เลือกตั้ง-ท่องเที่ยวหนุน  การบริโภคไตรมาส 2 ฟื้น

ดันดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.สูงสุด38 เดือน การบริโภคไตรมาส 2 ได้รับแรงหนุนจากเลือกตั้ง สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 5-6 หมื่นล้าน รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างจีนแห่เดินทางเข้าไทย เพิ่มการจับจ่ายใช้สอย ผู้บริโภคห่วงค่าไฟแพงฉุดกำลังซื้อ

Key Points

  • การบริโภคในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ มีแนวโน้มฟื้นตัวจากปัจจัยการเลือกตั้งและการท่องเที่ยว
  • ม.หอการค้าไทย ประเมินว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจ 50,000-60,000 ล้านบาท
  • สิ่งที่น่ากังวลหลังการเลือกตั้ง คือ การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าจะมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
  • ค่าไฟฟ้าแพงยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายเพราะค่าใช้จ่ายผู้บริโภคสูงขึ้น

สถานการณ์บริโภคของประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะในไตรมาส 2 ที่มีแรงสนับสนุนจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.2566 ที่ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีทั้งจากนักท่องเที่ยวในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นการบริโภคในเดือน เม.ย.2566 มีทิศทางดีขึ้นจากปัจจัยสำคัญ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาประเทศไทยจำนวนมากขึ้นหลังจากการเปิดประเทศ ประกอบกับประเทศจีนเปิดประเทศ โดยหนึ่งในเป้าหมายการเดินทางท่องเที่ยวอันดับต้น คือ ประเทศไทย ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคดีขึ้น

รวมถึงบรรยากาศการเลือกตั้งที่คึกคักหลังจากการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้วันที่ 20 มี.ค.2566 ส่งผลให้บรรยากาศในการหาเสียงคึกคักทั่วประเทศและมีเม็ดเงินสะพัดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

เลือกตั้ง-ท่องเที่ยวหนุน  การบริโภคไตรมาส 2 ฟื้น

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ คาดว่าจะมีเงินสะพัด 50,000-60,000 ล้านบาท ทำให้บรรยากาศเลือกตั้งปีนี้คึกคัก โดยเฉพาะการหาเสียงเลือกตั้งที่เข้มข้น เพราะทุกพรรคต้องการครองเสียงข้างมาก ทำให้ให้มีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจจากกิจกรรมหาเสียงและเวทีดีเบต และช่วง 2-3 สัปดาห์สุดท้ายดุดันมากขึ้น คาดว่ามีเงินลงสู่ระบบมากที่สุดถึง 20,000-30,000 ล้านบาท และจับจ่ายต่อเนื่องอีก 1-2 เดือน

“หลังการเลือกตั้งยังไม่ทราบว่าพรรคใดเป็นรัฐบาลและมีนโยบายอย่างไร ซึ่งในช่วงสุญญากาศนี้ทางการเมืองที่เป็นรอยต่อสำคัญที่จะมีรัฐบาลใหม่คาดว่าน่าจะเป็นช่วง ก.ค.-ส.ค.นี้”

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย.2566 ที่ได้จากการสำรวจตัวอย่าง 2,238 ราย พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย.2566 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 38 เดือนนับตั้งแต่เดือน มี.ค.2563

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 49.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 52.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 63.6 ซึ่งดัชนีทุกตัวปรับเพิ่มขึ้นจากเดือน มี.ค.2566

ปัจจัยบวกที่สำคัญที่ทำให้ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคดีขึ้น คือ ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นหลังจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจน ทั้งการท่องเที่ยวของคนไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนเริ่มเดินทางมามากขึ้น ตลอดจนบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งที่คึกคักทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคดีขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันลดลงทำให้ประชาชนรู้สึกผ่อนคลายเรื่องค่าครองชีพ

ขณะที่ยังมีปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ 1.ผู้บริโภคยังกังวลว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและปัญหาค่าครองชีพสูง จากปัญหาค่าไฟแพงและราคาน้ำมันที่ยังอยู่ระดับสูงไม่สอดคล้องรายได้ปัจจุบัน 2.สถานการณ์เศรษฐกิจโลกจากปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐและยุโรป กระทบจิตวิทยาเชิงลบ 3.กระทรวงการคลัง ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 2566 เหลือ 3.6% จากเดิม 3.8% เพราะการส่งออกชะลอตัว 4.กังวลปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ยังยืดเยื้อ 5.ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่กระทบการใช้ชีวิต

“ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคดีขึ้นต่อเนื่องทุกรายการ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมาเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น และจะเริ่มจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับในไตรมาสที่ 2 ปีนี้หลังการเลือกตั้งที่มีเงินสะพัดสูงและการเมืองไทยมีเสถียรภาพ”นายธนวรรธน์ กล่าว

อย่างไรก็ตามดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 38 เดือน แต่ยังไม่กลับไปอยู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด เพราะประชาชนยังกังวลค่าครองชีพที่ทรงตัวสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า รวมถึงกังวลต่อภาคสถาบันการเงินของโลก โดยเฉพาะสหรัฐ และสหภาพยุโรป ปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยเพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้เข้าสู่ภาวะถดถอยได้ ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกของไทย ทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลง และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค

ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์ฯ คาดว่าในช่วงไตรมาส 4 เศรษฐกิจจะถูกขับเคลื่อนด้วยการท่องเที่ยว หากเศรษฐกิจโลกไม่มีภาพการชะลอตัวที่รุนแรง ซึ่งส่งผลให้การส่งออกไทยดีขึ้นและการเมืองไทยมีเสถียรภาพ คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโต 3.5-4.0% หรืออาจจะมากกว่านี้ แต่หากรัฐบาลใหม่ไม่มีเสถียรภาพจะบั่นทอนความเชื่อมั่นผู้บริโภค นักลงทุน และกระทบการท่องเที่ยว โดยศูนย์พยากรณ์ฯ จะประเมินเศรษฐกิจไทยหลังเห็นความชัดเจนของรัฐบาลใหม่ รวมทั้งนโยบายสำคัญที่แถลงต่อรัฐสภา

ส่วนแนวโน้มดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคหลังจากการเลือกตั้งจะไปในทิศทางใดขึ้นกับ 2 ปัจจัยสำคัญ คือ 

1.ความกังวลในภาคสถาบันการเงินของต่างประเทศโดยเฉพาะสหรัฐและยุโรป ซึ่งจะมีผลต่อบรรยากาศการลงทุนของทั้งคนไทยและต่างประเทศ แต่มองว่าปัจจัยนี้ไม่ได้เป็นปัจจัยที่มีความเสี่ยงสูงจนต้องกังวลมากนัก เนื่องจากเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย และพยายามดูแลปัญหาสภาพคล่องของสถาบันการเงินต่าง

2.สถานการณ์การเมืองในประเทศ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่รู้ว่าพรรคการเมืองใดจะเป็นรัฐบาล และไม่เห็นโฉมหน้านายกรัฐมนตรีคนใหม่ รวมทั้งความไม่แน่นอนจากปัญหาการเมืองนอกสภาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะจะมีผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่ด้วย

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนเม.ย. 66 ซึ่งอยู่ที่ 51.9 จุด ถือว่าเป็นระดับดีสุดในรอบ 64 เดือน นับตั้งแต่เริ่มสำรวจมาในรอบ 6 ปี และเป็นครั้งแรกที่ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยทุกภาคสูงกว่าระดับ 50 จุด ชี้ว่าเอกชนเริ่มเข้มแข็งขึ้น โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญมาจากการเลือกตั้ง ส.ส.และการท่องเที่ยวไทยคึกคักต่อเนื่อง ทำให้มีเงินเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น และทำให้ภาคการผลิตมีคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น โดยภาคธุรกิจคาดว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวชัดเจน ไตรมาส 4 ปีนี้

ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่กังวลปัจจัยที่ยังเป็นตัวบั่นทอนความเชื่อมั่น ได้แก่ ปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งกระทบต่อสถานการณ์การท่องเที่ยวในบางภูมิภาคที่อาจยังไม่โดดเด่นนัก โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคอีสาน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังกังวลต่อภาวะต้นทุนค่าไฟที่แพงขึ้น รวมทั้งนโยบายหาเสียงของบางพรรคการเมืองในเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของภาคธุรกิจในอนาคต