ส่งออกอาหารลุ้นปี 66ทำนิวไฮ ขยายตัว 2.1 %

ส่งออกอาหารลุ้นปี 66ทำนิวไฮ ขยายตัว 2.1 %

ส่งออกอาหารไตรมาสแรก ขยายตัว 10 % มูลค่า346,379 ล้านบาท จากความต้องการอาหารโลก ลุ้นส่งออกอาหารปี 66 โต2.1 % มูลค่า 1.5ล้านล้าน เอกชนหวั่นภัยแล้งฉุดผลผลิต

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การส่งออกอาหารไตรมาส 1 ปี 2566 มีมูลค่า 346,379 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 10.0% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าอาหารในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น จากการที่เศรษฐกิจหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเข้าสู่ภาวะฟื้นตัวหลังโควิด-19 

นอกจากนี้ ความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหาร ภัยสงคราม สภาพอากาศร้อนและความแห้งแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก จีนเปิดประเทศและยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ได้เกื้อหนุนการส่งออกอาหารไทยให้ขยายตัว

รวมทั้งมีปัญหาความสามารถในการแข่งขันด้านราคาส่งออก เพราะต้นทุนการลิตสูงขึ้นต่อเนื่องจากค่าไฟฟ้า ค่าแรง ค่าพลังงานที่ขึ้น รวมถึงความผันผวนของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากกว่า 10% จากช่วงต้นปี แข็งค่าจาก 37 บาทต่อดอลลาร์ เป็น 33 บาทต่อดอลลาร์ ล่าสุดยังมีปัญหาภัยแล้งหรือเอลนีโญ่ที่เข้าไทย หากรัฐบาลบริหารจัดการน้ำไม่ดีจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารของไทยทั้งระบบแน่นอน

“เราเชื่อว่าการส่งออกอาหารในตลาดหลักคือ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นจะค่อยๆ กลับมาได้ เพราะสต็อกของคู่ค้าเริ่มลดลงแล้ว แต่รัฐบาลต้องช่วยดูแลปัญหาด้านการผลิตด้วย เช่น ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่นำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออกเพื่อแก้ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน ดูแลราคาพลังงานและไฟฟ้าเพื่อช่วยลดต้นทุน ที่สำคัญธนาคารแห่งประเทศไทยต้องดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวน ให้แข่งขันกับคู่แข่งได้”นายพจน์ กล่าว

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กลุ่มอาหารส่งออกในไตรมาสแรก ปี 2566 มี 8 กลุ่มอาหารที่ขยายตัว และมี 6 กลุ่มอาหารที่หดตัว โดยกลุ่มสินค้าที่การส่งออกขยายตัวดีในช่วงไตรมาสแรกปี 2566 อาทิ น้ำตาลทราย มีมูลค่า 40,310 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.3% เนื่องจากหลายประเทศกังวลปัญหาขาดแคลนอาหาร จึงสต็อกสินค้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อย่างอินเดียได้ต่ออายุมาตรการจำกัดการส่งออกน้ำตาลออกไปอีก 1 ปี ทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ดังกล่าว

 

นายเจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมีค่าไฟฟ้าเป็นต้นทุนการผลิต 5-20% ที่ผ่านมารัฐบาลมีการขึ้นค่าไฟฟ้าหลายครั้งทำให้ต้นทุนการผลิตไทยสูงกว่าคู่แข่งเวียดนาม อินโดนีเซียมากกว่าเท่าตัว

ทั้งนี้ ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหารมี ข้อเสนอแนะต่อสำหรับรัฐบาลใหม่ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยดังนี้คือ1. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยสนับสนุนการทำเกษตรแบบรวมผลิต รวมจำหน่าย หรือเกษตรแปลงใหญ่หรือสหกรณ์,สนับสนุนนวัตกรรม เงินทุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 2.สร้างระบบการผลิตที่ยั่งยืนภายใต้โมเดล BCG และ3.ผลักดันให้ไทยเป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงด้วยอุตสาหกรรมอาหาร โดยยกระดับสินค้าพื้นฐานไปสู่อาหารแห่งอนาคต ,สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าอาหารจากsoft power ซึ่งจะต้องมีการจำทำแผนและงบประมาณสนับสนุนที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม รวมทั้งเร่งจัดตั้งหน่วยงานหลักและสนับสนุนในการขับเคลื่อนและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทย