'ประชาธิปัตย์' ดันลงทุนเหมือง 'โปแตช' ลดราคาเกษตรกร 25% แก้ 'ปุ๋ยแพง'

'ประชาธิปัตย์' ดันลงทุนเหมือง 'โปแตช' ลดราคาเกษตรกร 25% แก้ 'ปุ๋ยแพง'

"ประชาธิปัตย์" ดันลงทุนเหมือง "โปแตช" แก้ปัญหาราคา "ปุ๋ยแพง" ย้ำ หากรัฐบาลไม่ลงทุน ควรเปิดทางเอกชน พร้อมทำสัญญาราคาต้องถูกกว่าตลาดโลก 20-25% 

นายนราพัฒน์ แก้วทอง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวบนเวที THE BIG ISSUE 2023 : ปุ๋ยแพง วาระเร่งด่วนประเทศไทย ทางรอดเกษตรกร หัวข้อ ความท้าทายของการลดปัญหาปุ๋ยแพง จัดโดย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ภายใต้วิสัยทัศน์ "เกษตรฐานราก เกษตรฐานโลก" ของพรรคประชาธิปัตย์ ต้องยอมรับว่า ปัญหาของเกษตรกรไทย วันนี้ หลักๆ มาจากภาวะผันผวน ของปัจจัยการผลิต เช่น ราคาปุ๋ย และ ราคาพืชผลทางเกษตร ซึ่งยากต่อการควบคุม จนนำมาซึ่งนโยบายประกันรายได้ จ่ายเงินส่วนต่าง และค่าบริหารจัดการ ที่พรรค ใช้ดูแลพี่น้องเกษตรกรมายาวนาน ซึ่งจะยกระดับให้มากยิ่งขึ้น หากได้รับโอกาสได้เข้าไปเป็นรัฐบาล 

สำหรับ เรื่องปุ๋ยในสังคม ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่มาก โดยเฉพาะ ขณะนี้ ที่มีปัญหาราคาแพง ประเด็นนี้ พรรคประชาธิปัตย์ อยากให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน เกษตรกรใช้ปุ๋ยหลักๆ จาก 2 แหล่ง คือ ปุ๋ยอินทรีย์ ชีวภาพ จากธรรมชาติ อีกส่วน คือ ปุ๋ยเคมี ซึ่งราคาที่ขึ้น - ลง กำหนดไม่ได้ ขึ้นอยู่กับกลไกของตลาดในช่วงเวลาต่างๆ 

อย่างไรก็ตาม ในแนวทางแก้ไขนั้น การใช้ถูกปุ๋ย ถูกเวลา และถูกวิธี เป็นเรื่องสำคัญ จากการที่ปุ๋ยเคมี มีข้อดี ปล่อยธาตุอาหารได้เร็ว แต่แพง ขณะที่ ปุ๋ยอินทรีย์ - ชีวภาพ สามารถอุ้มน้ำได้ดี รักษาคุณภาพดิน แต่ปล่อยธาตุอาหารได้ช้า ดังนั้น เกษตรกร อาจต้องเรียนรู้ การใช้ปุ๋ยอย่างผสมผสานให้ถูกต้องเสียก่อน หยิบยกองค์ความรู้ในการเลือกใช้ ปุ๋ยแต่ละชนิด ในแต่ละช่วงเวลา เพื่อเป้าหมาย เร่งใบ เร่งต้น เร่งผลผลิต ที่ต่างกัน นี่เป็นแนวทางเบื้องต้นที่เริ่มได้ทันที 

สำหรับปัญหาเหมืองแร่โปแตชนั้น อยากให้เร่งทำเหมืองที่ได้สัมปทานไปก่อน สิ่งที่ล่าช้าเพราะที่ผ่านมาไม่ลงทุนเพราะราคาโปแตชต่ำ แต่วันนี้ราคาสูง การลงทุนจากรัฐถือหุ้น 20% ก็ยังไม่ลงทุน ไม่ทราบว่าจะดึงเพื่อประโยชน์อะไร ดังนั้น สิ่งที่มีอยู่ก็ทำไปก่อนเพื่อให้เห็น เพราะวันนี้เทคโนโลยีมาแล้ว และหากรัฐบาลทำไม่ได้ก็ให้เอกชนทำภายใต้เงื่อนไขลดราคาปุ๋ยโปแตชให้เกษตรกรไทย 20-25%

นอกจากนี้ ในส่วนของนโยบายสมาร์ทฟาร์มเมอร์ถือเป็นเรื่องที่ดี โดยเด็กสมัยใหม่ให้ความสนใจ พรรคได้เตรียมฐานข้อมูลให้คนที่สนใจในอนาคต เช่น ข้อมูลดินบริเวณนั้นเป็นอย่างไร ปริมาณฝนเป็นอย่างไร ซึ่งการจัดทำสมาร์ทฟาร์มเมอร์จะเป็นการมองตลาดก่อนเสมอ จะดูว่าพื้นที่ไหนปลูกอะไรดี และมีตลาดรองรับ ซึ่งขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร อยู่ระหว่างเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อระดับรายได้ สนับสนุนเครื่องมือลดต้นทุน รวมถึงนโยบายหลักประกันรายได้ และพืชผลทางการเกษตร จะช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้เกษตรกรไทย

"ปัญหาเกษตรกรเป็นปัญหาที่เกิดจากสภาวะที่ผันผวน ปัจจัยการผลิตราคาเราจะกำหนดไม่ได้ พรรคมีหลักประกันรายได้ให้กับประชากร และเงินช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท และจะเพิ่มเป็น 2,000 บาท เพราะค่าครองชีพสูงขึ้น พร้อมยกระดับเกษตรกรโดยการรวมแปลงให้ใหญ่ขึ้น พร้อมกับสนับสนุนงบลงทุนแปลงใหญ่ก้าวสู่นิติบุคคล สร้างโรงสีขนาดย่อม สู่ผู้ประกอบการ พร้อมขายออนไลน์ ตัดวงจรพ่อค้าคนกลางก็จะไม่มีหนี้สิน"

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์