'เพื่อไทย' ผุด 1 อำเภอ 1 โรงปุ๋ย เร่งแก้กฎหมาย เปิดเหมืองโปแตช ลด 'ปุ๋ยแพง'

'เพื่อไทย' ผุด 1 อำเภอ 1 โรงปุ๋ย เร่งแก้กฎหมาย เปิดเหมืองโปแตช ลด 'ปุ๋ยแพง'

เพื่อไทย ชูแก้ปัญหาปุ๋ยแพง ผุดโครงการ 1 อำเภอ 1 โรงปุ๋ย ผลิตปุ๋ยป้อนเกษตรกรในรัศมี 10 กิโลเมตร หนุนผลิตปุ๋ยสั่งตัดอย่างจริงจัง ดันเหมืองโปแตชภายใต้เงื่อนไขต้องแบ่งปันผลประโยชน์ ตั้ง KPI บี้กระทรวงเกษตรฯ

นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ คณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวบนเวที THE BIG ISSUE 2023 : ปุ๋ยแพง วาระเร่งด่วนประเทศไทย ทางรอดเกษตรกร หัวข้อ ความท้าทายของการลดปัญหาปุ๋ยแพง จัดโดย "ฐานเศรษฐกิจ" วันที่ 2 พ.ค. 2566 ว่า พรรคเพื่อไทยมองว่าปัญหาปุ๋ยแพง เป็นปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนซึ่งเป็นต้นทุนในการผลิตของเกษตรกร เพราะการนำเข้าแม่ปุ๋ยซึ่งมีปัญหามากสำหรับประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ได้รวบรวม พบว่า จะมีช่วงที่แม่ปุ๋ยมีราคาถูก ดังนั้น ทางพรรคเพื่อไทยสนับสนุนเรื่องของทุนปลอดดอกเบี้ยเพื่อช้อนซื้อในช่วงที่แม่ปุ๋ยมีราคาถูกมาก จะช่วยประหยัดปุ๋ยต้นทางได้ รวมถึงส่งเสริมการผลิตปุ๋ยสั่งตัดอย่างจริงจังทั่วประเทศ โดยบริษัทขนาดใหญ่จะมีมาตรการของรัฐเข้าไปช่วยเหลือปีละอย่างน้อย 2.6 หมื่นล้านบาท พร้อมสนับสนุนในท้องถิ่นให้มีโรงปุ๋ย หนึ่งอำเภอหนึ่งโรงปุ๋ย จะสามารถผลิตปุ๋ยได้ 4,000 ตัน เพื่อขายปุ๋ยให้เกษตรกรในรัศมี 10 กิโลเมตร อีกทั้งยังเป็นปุ๋ยที่มีแร่ธาตุที่เหมาะกับสภาพดินในอำเภอนั้น ๆ 

นอกจากนี้ จะต้องมีการตั้ง KPI ให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หากไม่สามารถลดต้นทุนและไม่สามารถเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรได้ 20-30% จะต้องรับผิดชอบ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่มีความทันสมัยเพื่อความแม่นยำเรื่องน้ำ-ปุ๋ย ต้องทำเป็นแปลงใหญ่ มีการบริหารเหมือนบริษัทเอกชน โดยทำเป็นตัวอย่าง 10 ศูนย์เกษตรก้าวหน้า กระจายอยู่ทั่วประเทศ อีกทั้ง พรรคได้ตั้งเป้าขยายพื้นที่ชลประทานให้มากขึ้น เนื่องจากเกษตรกรในเขตชลประทานมีรายได้มากกว่านอกเขตชลประทานกว่า 3 เท่า การให้ประชาชนมีน้ำทำการเกษตร ดีกว่าเอาเงินไปแจก

ทั้งนี้ การผลิตปุ๋ยต้นน้ำ คือ การทำเหมืองโปแตชนั้น ยังคงต้องมี ซึ่งทางพรรคสนับสนุนโดยให้มีอุตสาหกรรมการผลิตแม่ปุ๋ยในไทยบนหลักการณ์ต้องเกิดและแบ่งปันประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย ขณะเดียวกันต้องจัดโซนนิ่งที่มีการทำเหมืองโปแตชอย่างชัดเจน โดยย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ โดยให้เงื่อนไขและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมเพราะรัฐมีที่หลวงอยู่ทุกอำเภอ ทั้งนี้ ปุ๋ยโปแตชที่ผลิตภายในประเทศต้องมีราคาถูกกว่าปุ๋ยนำเข้า 20%

"โครงการโปแตชล่าช้ามา 50 ปี เพราะขาดการยึดถือประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง และมือไม่ถึง คือปล่อยให้ระบบราชการมีบทบาทเยอะเกินไป การแก้ปัญหาคือออกกฏหมายให้เคลียร์ทุกอุปสรรค หัวใจของพรรคคือประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกร"