วิกฤติแบงก์สหรัฐลากยาว ฉุดเศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากขึ้น

วิกฤติแบงก์สหรัฐลากยาว ฉุดเศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากขึ้น

กกร.ชี้วิกฤติแบงก์ล่มส่งผลเชิงลบเศรษฐกิจโลก เร่งเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย ชี้จีนฟื้นตัวจำกัด คาดจีดีพีไทยโต 3.0-3.5% ส่งออกติดลบ 1.0-0.0% ฟื้นตัวได้ครึ่งปีหลัง “พาณิชย์” เผยราคาน้ำมัน-อาหารลง ทำเงินเฟ้อ มี.ค.เพิ่มขึ้น 2.83% จับตาราคาน้ำมันดิบตลาดโลกหลังโอเปกลดกำลังผลิต

Key Points

  • วิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐปิดตัวเริ่มเห็นผลกระทบที่ชัดเจนขึ้น
  • กกร.กังวลว่าจะเป็นตัวเร่งเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยให้เกิดได้มากขึ้น
  • ความเสี่ยงของเศรษฐกิจคู่ค้าทำให้การส่งออกปี 2566 อาจติดลบ 1%
  • กระทรวงพาณิชย์กำลังจับตาดูราคาน้ำมันดิบหลังโอเปกลดกำลังการผลิต

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกได้เผชิญปัจจัยเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะจากวิกฤติการเงินในสหรัฐที่มีการปิดธนาคารหลายแห่ง เช่น Silicon Valley Bank (SVB) , Signature Bank ในขณะที่สถานการณ์ราคาพลังงานโลกอาจส่งผลกระทบเมื่อโอเปคพลัส ประกาศลดกำลังการผลิตราว 1.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งอาจกดดันต้องอัตราเงินเฟ้อหลายประเทศในระยะต่อไป

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ได้ประชุมเมื่อวันที่ 5 มี.ค.2566 เพื่อติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท.ในฐานะประธาน กกร.เปิดเผยผลการประชุม กกร.ว่า วิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐและยุโรป ส่งผลให้ตลาดการเงินมีความผันผวนและเพิ่มโอกาสที่เศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวมากขึ้น แม้ว่าทางการสหรัฐและสวิตเซอร์แลนด์จะช่วยเหลือสถาบันการเงินเร็วไม่ให้ลุกลามเหมือนวิกฤติสถาบันการเงินปี 2551 แต่คาดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลกแล้ว 

ขณะนี้นักลงทุนมองโอกาสเกิดภาวะถดถอย หรือ Recession ในเศรษฐกิจสหรัฐเป็นไปได้มากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากภาคการเงินยอมรับความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อลดลง (Risk Appetite) จึงเกิดภาวะการเงินตึงตัว และตลาดการเงินอ่อนไหวต่อทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นมากกว่าเดิม โดยตลาดเริ่มคาดหวังให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดดอกเบี้ยภายในปีนี้

“ผลกระทบทางตรงต่อภาคการเงินไทยยังมีน้อยมาก อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่าเงินเฟ้อเดือน มี.ค.กลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมายจึงเป็นข่าวดีว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นถึงจุดสิ้นสุดแล้ว หรืออาจขึ้นอีกเพียง 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ 2%”

สำหรับเศรษฐกิจจีนมีสัญญาณฟื้นตัว แต่อานิสงส์ยังจำกัดอยู่ในประเทศ อุปสงค์ภายในประเทศของจีนมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจนภายหลังการเปิดประเทศตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตและการส่งออกของจีนยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวแย่ลงในเดือน มี.ค.ทั้งการผลิตและแนวโน้มการส่งออก ไม่ต่างจากประเทศอื่นในภูมิภาค

ส่งออกรับชะตากรรมถดถอย 

นอกจากนี้ กกร.กังวลต่อทิศทางการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และอาจเผชิญแรงกดดันจากค่าเงินที่ผันผวนในทิศทางแข็งค่า ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก จึงเห็นว่าควรเร่งหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ อาทิ กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) กลุ่มประเทศเอเชียกลางและเอเชียใต้ เพื่อชดเชยการส่งออกไปตลาดหลักที่มีแนวโน้มชะลอตัว

ทั้งนี้ แนวโน้มการส่งออกสินค้าไทยยังชะลอตัวตามที่สภาผู้ส่งออกทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ประเมินว่าไตรมาส 1 จะลดลงเกือบ 10% ส่วนไตรมาสที่ 2 ลดลง 4.7% แต่คาดว่าช่วงครึ่งปีหลังการส่งออกจะเริ่มฟื้นตัว แต่หากราคาน้ำมันสูงขึ้นอีกจะทำให้เงินเฟ้อกลับมา

รวมทั้งเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากรายได้ท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ โดยการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อน นักท่องเที่ยวต่างชาติ 3 เดือนแรกเข้ามาถึง 6.5 ล้านคน คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจสูงถึง 27-30 ล้านคน 

ส่วนอุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากการจ้างงานในภาคบริการ และรายได้ภาคเกษตรที่อยู่ระดับดีส่งผลให้ฐานรายได้ประชาชนดีขึ้น รวมทั้งช่วงการเลือกตั้งที่ทำให้มีเม็ดเงินสะพัดระยะสั้น

ที่ประชุม กกร.คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 เติบโต 3.0-3.5% ตามกรอบที่เคยประเมินไว้ และประเมินว่ามูลค่าการส่งออกมีโอกาสหดตัวลบ 1.0-0.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะที่ 2.7-3.2%

”เรื่องหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือสินค้าต้นทุนต่ำราคาถูกที่ผลิตจากจีนจะทะลักเข้ามาในภูมิภาคนี้มากขึ้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมรับมือกับสินค้าเหล่านี้เพื่อปกป้องเอสเอ็มอีในประเทศที่กำลังอยู่ช่วงการฟื้นตัว เช่น การให้แต้มต่อ โควต้าการประมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและเอกชน”

ยืดเวลาช่วยหนี้ผู้ประกอบการ

นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การขยายอายุมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อผู้ประกอบธุรกิจ ธปท.ร่วมกับกระทรวงการคลัง โดยความเห็นชอบจาก ครม.เห็นควรให้ขยายเวลามาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และสินเชื่อเพื่อการปรับตัวอีก 1 ปี จนถึงวันที่ 9 เม.ย.2567 เพื่อให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดได้รับความช่วยเหลือต่อเนื่องและเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจที่ต้องปรับตัว 

ทั้งนี้ จะไม่มีการขยายอายุโครงการพักทรัพย์พักหนี้ เพราะกลุ่มธุรกิจเริ่มฟื้นตัวและเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินได้ โดยเห็นควรให้โอนวงเงินคงเหลือของโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ หลังสิ้นสุดมาตรการมารวมไว้ภายใต้มาตรการสินชื่อพื้นฟูต่อไป ทำให้วงเงินมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูจะมีมูลค่า 45,000 ล้านบาท

ประชุม กกร.

เงินเฟ้อ มี.ค.ต่ำสุดรอบ 15 เดือน

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย (เงินเฟ้อ) เดือน มี.ค.เท่ากับ 107.76 เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วสูงขึ้น 2.83% ชะลอตัวเป็นเดือนที่ 3 และต่ำสุดในรอบ 15 เดือน ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน มี.ค.อยู่ที่ 104.22 ขยายตัว 1.75% ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ 2.24%

สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้าอาหารที่ราคาชะลอตัวเกือบทุกกลุ่มทั้งไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ เครื่องประกอบอาหาร อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน นอกจากนี้ฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อในปี 2565 อยู่ระดับสูง

สำหรับเงินเฟ้อเดือน มี.ค.2566 ที่สูงขึ้น 2.83% เป็นการสูงขึ้นในอัตราชะลอตัว โดยสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 5.22% ชะลอตัวจากเดือน ก.พ.2566 โดยสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น ผักและผลไม้ โดยเฉพาะมะนาว กะหล่ำปลี แตงกวา แตงโม ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง เพราะปริมาณเข้าสู่ตลาดน้อยลง 

ขณะที่ราคาไข่ไก่ เนื้อสุกร ไก่สด สูงขึ้นต่อเนื่อง แต่มีแนวโน้มชะลอลง ข้าวสาร ซีอิ้ว น้ำพริกแกง กาแฟ ชา และน้ำอัดลม ที่ต้นทุนยังสูง และอาหารสำเร็จรูปขึ้นเล็กน้อย แต่ผักคะน้า ผักชี ขึ้นฉ่าย กล้วยหอม ทุเรียน น้ำมันพืช มะพร้าว และมะขามเปียก ราคาลดลง 

ส่วนสินค้าหมวดอื่นที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ราคาเพิ่ม 1.22% ชะลอตัวจากเดือน ก.พ.2566 สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น เช่น ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารสาธารณะ น้ำมันดีเซล ก๊าซแอลพีจี ค่าการศึกษา ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล

และสินค้าที่ราคาลดลง เช่น น้ำมันแก๊สโซฮอล์และเบนซิน เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า หน้ากากอนามัย โฟมล้างหน้า ที่เขียนคิ้ว ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผม ค่าสมาชิกเคเบิลทีวี เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ และค่าทัศนาจรในประเทศ

มั่นใจเงินเฟ้อไทยขาลง

นายวิชานัน กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อเดือน เม.ย.2566 เดิมคาดว่าต่ำกว่าเดือน มี.ค.2566 เพราะฐานปีที่แล้วสูงสุดในรอบปี แต่ช่วงนี้มีเม็ดเงินจากการเลือกตั้งเข้าระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งท่องเที่ยวฟื้นตัวจะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ แต่ไม่น่าจะสูงเกิน 3% จึงไม่กังวลเพราะไม่ได้กดดันจากต้นทุน แต่เกิดจากรายได้เข้าประเทศเพิ่ม จากนั้นเดือน พ.ค.2566 เงินเฟ้อจะต่ำกว่า 2.5% และ มิ.ย.2566 เป็นต้นไปจะเห็นเงินเฟ้อไม่เกิน 1.5% ซึ่งถือเป็นขาลงของเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อไตรมาส 2 ชะลอตัว เพราะราคาสินค้าสำคัญหลายรายการมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ส่งผลทางตรงและทางอ้อม ประกอบกับฐานราคาปี 2565 อยู่ระดับสูง รวมทั้งภาครัฐมีมาตรการช่วยค่าครองชีพต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกไทยชะลอตัว และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจส่งผลให้กำลังซื้อภาคธุรกิจและประชาชนลดลง ซึ่งมีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัว

กระทรวงพาณิชย์ ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2566 เป็น 1.7-2.7% ค่ากลาง 2.2% ลดจาก 2.0-3.0% ค่ากลาง 2.5% ภายใต้สมมติฐานจีดีพีขยายตัว 2.7-3.7% ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 75-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 32.50-34.50 บาทต่อดอลลาร์

จับตาราคาน้ำมันสูงขึ้น

สำหรับโดยปัจจัยที่ต้องจับตา คือ น้ำมัน ที่ยังผันผวน เพราะล่าสุดกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (โอเปก) ได้ลดการผลิตทำให้ราคาปรับตัวขึ้นทันที แต่มองว่าไม่น่าขึ้นไปกว่านี้ และราคาอาจจะลงเพราะตลาดไม่ตอบสนอง รวมทั้งเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าจากเงินทุนไหลเข้า ซึ่งจะทำให้ต้นทุนนำเข้าน้ำมันถูกลง ส่วนกลุ่มอาหารสำเร็จรูปและสินค้าอุปโภคบริโภคที่ผ่านมาขึ้นราคาไปแล้ว เริ่มทรงตัวแล้ว ไม่น่ามีแรงกดดันอีก ยกเว้นน้ำมันและอาหารสดที่จะเป็นปัจจัยกดดันเงินเฟ้อ

ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศเดือน ก.พ.2566 พบว่า เงินเฟ้อไทยต่ำเป็นอันดับที่ 20 จาก 134 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข ซึ่งอยู่ระดับดีกว่าหลายเขตเศรษฐกิจ อาทิ สหรัฐ อิตาลี สหราชอาณาจักร เม็กซิโก อินเดีย และเกาหลีใต้ รวมถึงลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซียและเวียดนาม