‘พรายพล’ ชี้ 5 ต้นตอค่าไฟแพง - แนะรื้อสูตรคำนวณค่า FT กดค่าไฟต่ำ

นักวิชาการอิสระ ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ระบุ 5 สาเหตุหลักที่ทำให้ค่าไฟแพง - แนะรื้อสูตรคำนวณค่า FT กดค่าไฟต่ำลงได้

นักวิชาการอิสระ ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ ระบุ  5 สาเหตุหลักที่ทำให้ ค่าไฟแพง คือ

1.สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาเชื้อเพลิงโลก ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น ซึ่งไทยต้องใช้ก๊าซฯ ผลิตไฟฟ้า 60% มีสัดส่วนการนำเข้าสูง 20-30% คือ ก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจร หรือ Spot LNG แม้จะมีสัญญานำเข้าระยะยาวแต่ไม่พอที่จะดึงราคาให้คงที่ได้ ทำให้ต้นทุนค่าไฟสูงขึ้น

2. ค่าความพร้อมเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้า (Availability Payment: AP) ที่เป็นกำลังสำรองเพิ่มขึ้นมาเเฉลี่ย 50% แม้จะไม่ผลิตส่งเข้าขายในระบบก็ตาม ผู้ใช้ไฟต้องรับภาระจ่ายค่าลงทุนให้โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ หรือ IPP 

3. แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP ในการเร่งหาแหล่งพลังงานอื่น ถือเป็นการวางแผนที่ผิดพลาดจากการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้า โดยอาศัยภาวะเศรษฐกิจของไทยก่อนเกิดโควิด ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจจะโต 3-4% ทำให้ความต้องการใช้ไฟสูงขึ้น จึงต้องลงทุนโรงไฟฟ้าต่าง ๆ หลายส่วนลงทุนแล้ว บางส่วนให้ใบอนุญาติทั้งโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เมื่อโควิดระบาดเศรษฐกิจหดตัว การใช้ไฟไม่เป็นไปตามคาด ที่ลงทุนไปจึงเกินหรือล้นระบบ

และที่ผ่านมา ภาครัฐแจกใบอนุญาตมากและง่ายเกินไป อีกทั้งสัญญากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนแบบ Take or Pay เป็นการผูกมัดทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ผู้มีอำนาจทั้งหลายอาจมีเหตุผลอะไรพิเศษทำให้ไฟสำรองล้นเกินไป

4. ปริมาณก๊าซในอ่าวไทยที่ไม่เป็นไปตามสัญญาการผลิต 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในข่วงที่ผ่านมา

และ 5. การแก้ไขสัญญาโรงไฟฟ้า ซึ่งควรเร่งเคลียร์สัญญาโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้ก๊าซฯ ซึ่งจะเห็นว่าการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนโรงไฟฟ้าใหญ่ ๆ ในพอร์ทมีทั้งโรงไฟฟ้าใช้ก๊าซฯ และพลังงานหมุนเวียน น่าจะช่วยให้ค่าใช้จ่ายลดลงและผ่อนคลายได้บ้าง รัฐจึงควรเจรจา

แนะรื้อสูตรคำนวณค่า FT กดค่าไฟต่ำ

สำหรับ การแก้ค่าไฟแพงในระยะสั้นที่พอทำได้ง่ายสุดสำหรับรัฐบาล คือ นอกเหนือจากการคำนวณให้ถูกวิธีเพื่อให้ค่าเอฟทีลดลง อีกวิธีที่ทำได้แต่ไม่อยากให้ทำ คือ ใช้เงินอุดหนุน โดยเฉพาะช่วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยเพื่อตรึงราคา เหมือนการตรึงราคาดีเซล แต่ไม่อยากให้ใช้เงินเยอะ

ส่วนระยะกลาง นอกเหนือจากเจรจาเพื่อปรับสัญญาต่าง ๆ ของเอกชน ทั้งในแง่เงื่อนไข Take or Pay อาจเปลี่ยนแผนแอลเอ็นจี ฮับ หากใช้ก๊าซฯ น้อยลงจำเป็นต้องมีหรื่อไม่ และปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิง ทั้งการวางแผนและลงทุนระบบสายส่ง สู่สมาร์ท กริด รองรับพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้าสู่ระบบมากขึ้น

ส่วนระยะยาวเพิ่มการแข่งขันในระบบให้มากขึ้น โดยตั้ง ISO ดูแลกริดอิสระจากทุกฝ่าย พร้อมกำหนดกฏเกณฎ์เพื่อให้ราคาค่าไฟมีความเมาะสมสู่เป้ามหาย Net Zero จะสร้างการแข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศ จากแผนซื้อขายแลกเปลี่ยนไฟจากประเทศเพื่อบ้านที่ไม่ใช่เฉพาะลาวอย่างเดียว ถ้าจะดำเนินการก็ทำได้เลย