‘ค่าไฟแพง’ กระทบอุตสาหกรรม ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 15-30%

‘ค่าไฟแพง’ กระทบอุตสาหกรรม ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 15-30%

ค่าไฟกระทบต้นทุนภาคอุตสาหกรรม กลุ่มยานยนต์เร่งแผนติดโซลาร์เซลล์ ลดต้นทุนค่าไฟ กลุ่มเซรามิกต้นทุนเพิ่ม 30% กลุ่มอาหารหวั่นต้นทุนสูงขึ้น 15-20%

Key Points

  • ค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค.เก็บอัตราเดียวที่หน่วยละ 4.70 บาท ปรับลดลงสำหรับภาคธุรกิจ
  • ภาคอุตสาหกรรมเป็นกลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าหลักของประเทศได้รับผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น
  • ผู้ประกอบการหลายรายมีแผนติดตั้งโซลาร์เซลล์มากขึ้นเพื่อผลิตไฟฟ้าเอง
  • กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้าปริมาณมากจะได้รับผลกระทบสูง เช่น กลุ่มเซรามิก ต้นทุนค่าไฟสูงขึ้น 30%

นโยบายแก้ปัญหาค่าไฟแพงเป็นนโยบายที่ทุกพรรคการเมืองนำมาหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ค่าไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้น โดยค่าไฟฟ้างวดต่อไป พ.ค.-ส.ค.2566 ในส่วนของภาคครัวเรือนปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วยตามมติของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ประกาศไปก่อนหน้านี้

นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ประธานกิติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผลกระทบค่าไฟแพงส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ค่อนข้างมาก แม้ว่าก่อนหน้านี้ ส.อ.ท.จะมีการเจรจาและยื่นข้อเสนอต่อภาครัฐในการควบคุมต้นทุนค่าไฟฟ้าเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย ที่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วไทยแพงกว่ามาก

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์มีมาตรการรับมือกับค่าไฟฟ้าและพลังงานที่สูงขึ้นด้วยการออกแบบโรงงานที่รับแสงจากดวงอาทิตย์ลดการใช้หลอดไฟ การเพิ่มสัดส่วนการใช้โซลาร์เซลล์ รวมทั้งดำเนินมาตรการในการประหยัดไฟฟ้าทั้งในโรงงานและสำนักงานขาย อาทิ เปิดพัดควบคู่กับการเปิดแอร์เพื่อลดการใช้พลังงาน

“อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอุตสาหกรรมจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้นหลายด้าน แต่การตัดสินใจขึ้นราคารถยนต์อาจจะชะลอไปก่อนเนื่องจากในตลาดมีการแข่งขันราคาค่อนข้างสูง”

นายอธึก เชิดเกียรติศักดิ์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิก ส.อ.ท. กล่าวว่า อุตสาหกรรมเซรามิกโดยภาพรวมมีต้นทุนค่าไฟฟ้าคิดเป็น 20-30% ของต้นทุนทั้งหมด ซึ่งค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ช่วงต้นปีทำให้อุตสาหกรรมมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากเดิมราว 30% ทั้งนี้ เบื้องต้นหลายโรงงานรับมือกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ด้วยการเริ่มหันมาใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์

อย่างไรก็ตาม การลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์เองถือเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ทั้งยังเป็นพลังงานที่มีความไม่แน่นอน โดยความต้องการไฟฟ้าทุกๆ 1 เมกะวัตต์ จะต้องลงทุนถึง 30 ล้านบาท ทำให้บริษัทขนาดกลางถึงเล็กส่วนมากเลือกที่จะให้มีผู้ลงทุนมาติดตั้งให้แล้วซื้อไฟจากผู้ติดตั้งอีกต่อนึง ซึ่งตรงนี้ในช่วงแรกสามารถประหยัดต้นทุนลงได้ถึง 10% แต่ปัจจุบันลดลงเหลือแค่ 5% เนื่องจากการคิดราคาไฟฟ้ายังคงอิงค่าไฟหลวง ซึ่งยังมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น

นายเจริญ แก้วสุกใส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ส.อ.ท. กล่าวว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้นราว 15-20% โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารทะเล อาหารแช่แข็ง อาหารแปรรูป อาหารกระป๋อง ที่ต้องใช้ห้องเย็นจะมีการใช้ไฟค่อนข้างมาก ซึ่งถึงแม้จะมีการปรับลดค่าไฟลงบ้างแต่กลุ่มฯ ยังต้องรับภาระหนัก เนื่องจากไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้ตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนม ไข่ ไก่ และสินค้าควบคุมอื่นๆ อีกทั้งการปรับราคาขึ้นยังจะส่งผลต่อการแข่งขันและการส่งออกไปตลาดโลกอีกด้วย

โดยส่วนหนึ่งหันไปใช้พลังงานทดแทน อาทิ โซลาร์เซลล์ ไบโอแมส ไบโอแก๊ส จากของเสีย แต่พลังงานเหล่านี้ยังเข้ามาเสริมเพียงแค่ 20% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดเท่านั้น

“ต้นทุนค่าไฟฟ้าเป็นปัจจัยนึงที่นักลงทุนใช้พิจารณาในการตัดสินใจขยายการลงทุนเพิ่ม เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านแล้วตอนนี้ไทยมีต้นทุนที่สูงมาก รัฐบาลจะต้องมีการบริหารจัดการค่าไฟฟ้าจะต้องสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริง รวมถึงต้องมีมาตรการมาช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการในการเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทน อาทิ ส่งเสริมด้านภาษี การนำเข้าอุปกรณ์ ให้เงินอุดหนุน รวมทั้งปลดล็อกการขายไฟฟ้าคืนให้การไฟฟ้าได้”

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ความผันผวนของราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า แก๊สและถ่านหิน เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงหลักที่ต้องเฝ้าระวังสำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ซึ่งผลกระทบระยะสั้นจะทำให้ธุรกิจมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และดันให้ต้นทุนค่าครองชีพเพิ่มขึ้นไปด้วย ขณะที่ระยะยาวจะลดทอนความสามารถการแข่งขันในการส่งออกไปตลาดต่างประเทศเมื่อเทียบประเทศเพื่อบ้าน 

โดยเอสซีจี รับมือกับพลังงานถ่านหินและค่าไฟที่เพิ่มขึ้น ด้วยการรุกธุรกิจพลังงานสะอาด SCG Cleanergy เป็นผู้ให้บริการซื้อ-ขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดครบวงจรสำหรับภาครัฐ ธุรกิจและอุตสาหกรรม ปัจจุบันเอสซีจีมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์สำหรับใช้ภายในโรงงาน อยู่ที่ 220 เมกะวัตต์ 

อีกทั้งได้รับคัดเลือกเป็นผู้ผลิต-ขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้ภาครัฐ 10 โครงการ ขนาด 367 เมกะวัตต์ ซึ่งเทียบเท่าการใช้ไฟฟ้าบ้าน 180,000 หลังคาเรือน โดยราคาขายของเอสซีจีคลีนเนอร์ยี่ อยู่ที่ 2.16 บาท/หน่วย 

นอกจากนี้ ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นยังทำให้ “SCG Solar Roof Solutions” การติดตั้งโซลาร์เซลล์ภาคครัวเรือน เติบโตขึ้นกว่า 3 เท่า หรือ 313% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน