รื้อโครงสร้างไฟฟ้า-ลดเอฟที นโยบายหาเสียงที่ประชาชนรอ

รื้อโครงสร้างไฟฟ้า-ลดเอฟที นโยบายหาเสียงที่ประชาชนรอ

การที่พรรคการเมืองหาเสียงปรับโครงสร้างพลังงานถือเป็นสัญญาประชาคมที่พรรครัฐบาลต้องทำให้ได้ เพราะถ้าจะมาใช้วิธีการอุดหนุนค่าไฟฟ้าให้ประชาชนจะต้องใช้งบประมาณมหาศาล

ค่าไฟงวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ถูกแบ่งเป็น 2 อัตรา คือ กลุ่มบ้านอยู่อาศัยอยู่ที่อัตรา 4.72 บาทต่อหน่วย และกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น (ธุรกิจ อุตสาหกรรม บริการ) เฉลี่ยอยู่ที่ 5.33 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นค่าไฟที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์

เมื่อรวมกับปัจจัยสภาพภูมิอากาศร้อนทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นมาก โดยคาดการณ์ว่าพีคไฟฟ้าในปี 2566 จะอยู่ที่ 33,900-34,000 เมกะวัตต์ โดยพีคเมื่อวันที่ 4 เม.ย.2566 อยู่ที่ 31,495 เมกะวัตต์ ซึ่งทำให้ค่าไฟฟ้าในเดือน มี.ค.-เม.ย.2566 ของทุกบ้านจะสูงขึ้น

ค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นทำให้มีการแสดงความเห็นในสื่อสังคมออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและติดเทรนด์การค้นหา และทำให้สังคมสนใจโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าและโครงสร้างไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้นโยบายพลังงานของพรรคการเมืองได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นมาทันทีในช่วงนี้ ไม่แพ้ความสนใจต่อนโยบายแจกเงินที่ถูกตั้งคำถามถึงภาระทางการคลังในอนาคต ซึ่งทำให้หลายพรรคการเมืองออกมาเน้นย้ำนโยบายที่จะดูแลประชาชนเพื่อบรรเทาผลกระทบของค่าไฟฟ้าแพง

หลายข้อเสนอถูกหยิบยกขึ้นมา โดยเฉพาะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างพลังงานที่รวมถึงธุรกิจน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้า ซึ่งพรรคการเมืองมุ่งหวังให้ค่าไฟฟ้าถูกลง ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขสัญญาค่าไฟที่ภาครัฐทำกับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน เพื่อลดค่าความพร้อมจ่ายไฟฟ้า รวมทั้งมีข้อเสนอการยกเลิกค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ยกเลิกค่าFT)

ขณะที่ในหลายประเทศไม่เพิ่มส่วนนี้ในค่าไฟฟ้า และมีข้อเสนอการคำนวณค่าไฟฟ้าตามต้นทุนราคาพลังงานจริง รวมถึงการกำหนดสำรองไฟฟ้าที่เหมาะสม เพราะปัจจุบันสูงกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าถึง 50%

นโยบายที่ถูกกล่าวถึงดังกล่าวเป็นเหมือนความหวังให้ประชาชนที่จะได้เห็นค่าไฟฟ้าถูกลง รวมทั้งต้องการเห็นการกำหนดโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งที่ผ่านมา องค์กรภาคเอกชนต่างมีข้อเสนอที่ไม่ต่างจากพรรคการเมืองที่กำลัง คือ ต้องการให้ปรับลดสำรองไฟฟ้าให้เหมาะสม รวมทั้งมีระบบคำนวณต้นทุนผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสม

ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่และหน่วยงานด้านพลังงานต้องมาร่วมพิจารณาว่าปัจจุบันสำรองไฟฟ้าและระบบการคำนวณต้นทุนการผลิตไฟฟ้ามีความเหมาะสมเพียงใด

การที่พรรคการเมืองหาเสียงปรับโครงสร้างพลังงานถือเป็นสัญญาประชาคมที่พรรครัฐบาลต้องทำให้ได้ เพราะถ้าจะมาใช้วิธีการอุดหนุนค่าไฟฟ้าให้ประชาชนจะต้องใช้งบประมาณมหาศาล โดยในปี 2565 รัฐบาลใช้งบดูแลกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าผ่านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 110,000 ล้านบาท และใช้งบกลางอุดหนุนค่าไฟฟ้าผันแปร 8,000 ล้านบาท

ที่ผ่านมาเห็นชัดว่า ทุกรัฐบาลทำตามที่หาเสียงไว้ทั้งหมดไม่ได้ และถ้าพรรคการเมืองรู้ว่าทำไม่ได้ด้วยหลายเหตุผลที่ประเมินได้อยู่แล้ว ขอให้หยุดหาเสียงด้วยประเด็นเหล่านี้