ตลาดซื้อขาย 'ไฟฟ้าเสรี' ช่วยทำให้ค่าไฟถูกลงหรือไม่?

ตลาดซื้อขาย 'ไฟฟ้าเสรี' ช่วยทำให้ค่าไฟถูกลงหรือไม่?

"เอกชน" หวังรัฐบาลเปิดตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรี เพื่อให้ประชาชนมีตัวเลือกในการซื้อขายไฟฟ้าในราคาที่ตนเองพอใจ

Key Points

  • "เอกชน" หวังรัฐบาลเปิดตลาดไฟฟ้าเสรี หวังดึงค่าไฟราคาถูก
  • ตลาดไฟเสรี เป็นทางเลือกให้ผู้ใช้บริการเลือกซื้อไฟในราคาที่ตนพอใจ
  • ตลาดไฟฟ้าเสรี กระตุ้นการแข่งขัน เพิ่มทางเลือกผู้ซื้อไฟ

ดร.รสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC กล่าวว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ถือเป็นโจทย์ใหญ่ระดับโลก ที่ต้องร่วมมือกันแก้ไขเพื่อลดโลกร้อน ซึ่ง GPSC คำนึงถึงคือจะทิ้งอะไรให้คนรุ่นหลัง ดังนั้น ในเรื่องของอินโนเวชั่นจะเข้ามาตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ดี ซึ่งทั่วโลกได้พยายามทำคือทำในเรื่องของการลดการปลดปล่อยคาร์บอน หรือ Decarbonization ในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน อย่างโซลาร์ ลม หรือ แบตเตอรี่ เป็นต้น

“หลายประเทศได้มุ่งให้ความสำคัญโดยเลือกแก้ปัญหาผ่านพลังงานสะอาด เช่น การลงทุนในเรื่องพลังงานหมุนเวียนและแบตเตอรี่ เป็นต้น ดังนั้น ในอนาคตพลังงานหมุนเวียนจะมีความสำคัญมากกว่า 80% ซึ่งต้องมีความเสถียรภาพ ดังนั้น แบตเตอรี่จะเข้ามาเสริมศักยภาพการผลิตไฟฟ้าให้กับพลังงานหมุนเวียนกลายเป็นเชื้อเพลิงที่มีเสถียรภาพมากขึ้น เพราะด้วยราคาแบตเตอรี่ที่มีราคาถูกลง เกิดการใช้เยอะจะมีส่วนสำคัญเป็นเทรนด์โลก

นอกจากนี้ จากปัญหาค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นนั้น ถือว่าสูงขึ้นทั่วโลก อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ชัดว่าค่าไฟฟ้าของประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า โดยเฉพาะในแถบยุโรป ส่วนเซาท์อีสเอเชีย อย่าง ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ยังถือว่าสูงอยู่ ซึ่งสาเหตุเกิดจากการดีสรัปชั่น และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อราคานำเข้าพลังงานที่ยังสูงขึ้น

สำหรับค่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในไทยยังสูงกว่าจีน อินเดีย และออสเตรเลีย ที่ทำราคาถูกกว่า โดยส่วนหนึ่งมากจากการได้รับแรงสนับสนุนจากรัฐบาลและมีพื้นที่การติดตั้งขนาดใหญ่พร้อมในการลงทุน

“การไปสู่พลังงานหมุนเวียนจะต้องอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีค่าใช้จ่ายสูง และในอนาคตเราอยากใช้พลังงานนิวเคลียร์, เทคโนโลยีการดักจับการใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage : CCUS) หรือแม้แต่ไฮโดรเจน ก็จะค่าใช้จ่ายที่ขยับขึ้นไปสูงมาก ดังนั้น เวลาอยากได้โลกดี อยากจะกักเก็บคาร์บอนก็ต้องมีค่าใช้จ่าย เราก็ต้องบาลานซ์และทบทวนให้ดี เพราะทุกคนเห็นและทราบดีว่าเทรนด์พลังงานสะอาดจะเข้ามา”

อย่างไรก็ตาม หลายประเทศทั่วโลกกำลังมุ่งไปสู่เรื่องการซื้อขายไฟฟ้าในตลาดเสรี เพราะจะทำให้เกิดการแข่งขันต้นทุนค่าไฟฟ้า และส่งผลให้ค่าไฟฟ้าถูกลง ซึ่งประเทศไทยเองในอนาคตก็ควรมุ่งไปที่ทิศทางดังกล่าวเช่นกัน ดังนั้น ในเรื่องของอินโนเวชั่นจะยากหน่อย เมื่อผลักดันในเรื่องนี้อย่างจริงจังจะทำให้ราคาค่าไฟถูกลงได้ เพราะการเปิดตลาดเสรีจะมีการแข่งขันเอกชนก็คาดหวังว่าประเทศไทยจะไปสู่ตรงนี้โดยเร็ว

ทั้งนี้ แม้ว่าขณะนี้รัฐจะยังไม่เปิดเสรีด้านสายส่งไฟฟ้า แต่ GPSC ก็ได้ทดลองทำโครงการภายใต้ Sandbox ในพื้นที่เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) อ.วังจันทร์ จ.ระยอง และหวังว่า ในอนาคตประเทศไทย จะเกิดตลาดไฟฟ้าเสรี เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเลือกซื้อขายไฟฟ้าในราคาถูกได้ด้วยตัวเองและเมื่อถึงวันนั้น ทาง GPSC ก็พร้อมที่จะเข้าสู่การแข่งขันในตลาดไฟฟ้าเสรี เพราะการเกิดเสรีเรื่องของไฟฟ้าจะเป็นประโยชน์กับประชาชนสามารถบริหารพลังงานได้ด้วยตนเองในหลากหลายเทคโนโลยี สามารถซื้อขายไฟได้ในราคาที่ตนเองพอใจ