กกร. ส่งหนังสือถึงนายกฯ ภายใน 7 เม.ย. นี้ จี้ทบทวนค่าไฟงวดพ.ค. - ส.ค. 2566 

กกร. ส่งหนังสือถึงนายกฯ ภายใน 7 เม.ย. นี้ จี้ทบทวนค่าไฟงวดพ.ค. - ส.ค. 2566 

กกร. พร้อมส่งหนังสือถึงนายกฯ ในฐานะ ประธาน กพช. ภายในสัปดาห์นี้ หวังให้ภาครัฐช่วยทบทวน ค่าเอฟทีงวดเดือนพ.ค. - ส.ค. 2566 มั่นใจราคาไม่เกิน 4.40 บาทต่อหน่วย จากเดิม 4.77 บาทต่อหน่วย จากปัจจัยหลัก 2 ข้อ พร้อมเร่งตั้ง กรอ.พลังงาน ร่วมแก้ไขปัญหาตรงจุด

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ครั้งที่ 15/2566 (ครั้งที่ 843) เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2566 มีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) และได้พิจารณากรณีศึกษาการปรับค่าเอฟทีขายปลีกสำหรับเรียกเก็บในงวดที่ 2/2566 เดือนพ.ค.– ส.ค.2566 โดยมีมติเห็นชอบค่าเอฟทีเป็นอัตราเดียวกันสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ เท่ากับ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) วันที่ 5 เม.ย.2566 มีความเห็นว่า จะส่งหนังสือถึงคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ควรพิจารณาทบทวนค่าเอฟทีงวดที่ 2 เพื่อเป็นการลดภาระของภาคประชาชนในครัวเรือน และภาคธุรกิจ ภายในสัปดาห์นี้คือ ไม่เกินวันที่ 7 เม.ย.2566 

สำหรับเหตุผลที่ควรปรับลดค่าเอฟที ประกอบด้วย  1.จากสถานการณ์ราคาพลังงานทั่วโลก มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น  การเร่งคืนหนี้ค่าไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากเดิมที่มีแผนคืนให้ในระยะเวลา 3 ปี (ตามงวด 1/2566) และเปลี่ยนเป็น 2 ปี (ตามงวด 2/2566) อาจเร็วเกินไป จนส่งผลกระทบต่อภาระของประชาชน และต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ กกร.จึงเสนอให้คงระยะเวลาการคืนหนี้ให้ กฟผ. เป็นระยะ 3 ปี ตามงวด 1/2566 

2. ควรพิจารณาปรับวิธีประมาณการราคาต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและราคา LNG ที่ใช้คำนวณต้นทุน ค่าไฟฟ้า โดยใช้ราคาที่สะท้อนแผนการนำเข้า LNG ในช่วงเดือนพ.ค. - ส.ค.2566 แทนการใช้ข้อมูลราคานำเข้าของเดือนม.ค.2566 ตามกลไกเดิมที่ราคาประมาณ 20 USD/MMBTU ซึ่งมีราคาที่สูงกว่าเพื่อบรรเทาผลกระทบราคาไฟฟ้าของทุกภาคส่วนลงได้ 

นอกจากนี้ กกร. ยังขอให้ภาครัฐเร่งจัดตั้ง กรอ.พลังงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมให้ความเห็นในการกำหนดนโยบายด้านพลังงาน รวมถึงมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานต่างๆ เพื่อให้สามารถบรรเทาผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคผู้ประกอบการรายย่อยได้อย่างแท้จริง และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งภายหลังที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานหารือกับตัวแทน กกร. ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนม.ค.2566 ก็ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

"เอกชนมองว่าภาคนโยบายโดย กพช. ยังสามารถทบทวนสมมติฐานในการจัดทำค่าไฟฟ้าให้ลดลงได้ เพื่อเป็นการลดภาระของภาคประชาชนในครัวเรือน และภาคธุรกิจ และควรมีการกำหนดนโยบาย หรือแนวทางเพื่อให้ กกพ. ดำเนินการทบทวนราคาค่าไฟฟ้างวด 2/2566 โดยจะเริ่มในเดือนพ.ค.2566 ซึ่งยังมีเวลาเพียงพอในการดำเนินการทบทวน" 

อย่างไรก็ตาม เอกชนมองว่า การที่ กพช. จะเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องของค่าเอฟทีในงวดดังกล่าว ไม่ถือเป็นการแทรกแซงเชิงนโยบาย หรือการหาเสียงใดๆ จาก รัฐบาล (รักษาการ) เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน และภาคธุรกิจ ที่ควรจ่ายค่าไฟฟ้าด้วยราคาที่เป็นธรรมกว่าตามประกาศของ กกพ. ที่ประกาศ เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2566 ที่ผ่านมา

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์