‘นักวิชาการ’ห่วง’แจกเงินดิจิทัล’ แนะเพิ่มเงื่อนไขพัฒนาอาชีพ

‘นักวิชาการ’ห่วง’แจกเงินดิจิทัล’ แนะเพิ่มเงื่อนไขพัฒนาอาชีพ

นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชี้เพื่อไทยใช้แนวคิด Digital Voucher ในการออกนโยบายเงินดิจิทัล ติงยังไม่มีความจำเป็นที่จะออกนโนบายกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ แม้ว่าภาคส่งออกไทยจะชะลอตัว ระบุหากจะทำจริงควรปรับนโยบายให้เอื้อต่อการพัฒนาทักษะอาชีพด้วย

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI) และประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา(IFD) กล่าวถึงนโยบายการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทต่อคนที่นายเศรษฐา ทวีสิน ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ประกาศนโยบายนโยบายนี้ของพรรคเพื่อไทย คาดว่าจะได้รับอิทธิพลหรือแรงบันดาลใจจาก แนวคิด ‘บัตรกำนัลดิจิทัล หรือ Digital Voucher’ ที่ผมได้นำเสนอไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 ทั้งในรูปเอกสารที่นำเสนอต่อภาครัฐ การบรรยาย การสัมภาษณ์ และการตีพิมพ์ เช่น เอกสารเรื่อง ‘แผนแก้ปัญหาเศรษฐกิจประเทศไทย: ระยะสั้น กลาง ยาว’ ที่จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2563 หรือบทความเรื่อง ‘5 ข้อเสนอ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นในภาวะวิกฤต’ ที่ตีพิมพ์ใน Mix Magazine วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เป็นต้น

ผมจึงขอแสดงความเห็นต่อนโยบายแจกเงิน 1 หมื่นบาท ในฐานะที่เป็นต้นธารทางความคิดของนโยบายนี้ โดยแนวคิด Digital Voucher ของผมโดยสรุป แนวคิดนี้ถูกนำเสนอโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากผ่านพ้นการล็อคดาวน์ ในช่วงที่โควิด-19 ยังระบาดอยู่ แนวคิดสำคัญ คือ การโอนเงินดิจิทัลจากรัฐบาลให้ประชาชน

โดยกำหนดระยะเวลาสั้น ๆ ในการใช้เงินทุก ๆ รอบ เช่น คนแรกที่ได้รับเงินจะมีเวลา 14 วันในการใช้เงิน และคนที่สองที่ได้รับเงินจากคนแรก และคนที่ได้รับเงินในรอบต่อ ๆ ไป จะมีเวลา 14 วันในการใช้เงินตั้งแต่ได้รับเงินมาเช่นกัน

กลไกเช่นนี้จะทำให้เกิดการหมุนของเงินอัดฉีดหลายรอบอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้เกิดผลกระทบทวีคูณ (multiplier effect) ขนาดใหญ่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ มากกว่าจำนวนเงินที่อัดฉีดเข้าไปหลายเท่าตัว ซึ่งเป็นการใช้จ่ายงบประมาณที่คุ้มค่ามากกว่าการโอนเงินให้ประชาชนแบบปกติ นอกจากนี้ ผมยังกำหนดเงื่อนไขอื่น ๆ เพื่อทำให้การใช้จ่ายงบประมาณมีเหตุผลและมีความคุ้มค่ามากขึ้น เช่น การกำหนดให้คนที่รับเงินต้องทำงานแลก เพื่อไม่ให้เคยชินกับการรับความช่วยเหลือจากรัฐ และเพื่อให้คนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือจริง ๆ ได้เข้ามาขอการช่วยเหลือของรัฐ เป็นต้น

การที่พรรคเพื่อไทยนำแนวคิดของผมไปต่อยอดเป็นนโยบาย จึงเป็นการผลักดันนวัตกรรมทางนโยบายใหม่ ๆ เข้าไปเป็นทางเลือกในการใช้จ่ายงบประมาณที่มีประสิทธิผลมากขึ้น โดยหลักการใหญ่ ๆ ในเชิงกลไกของนโยบาย ผมจึงเห็นด้วย อย่างไรก็ดี ผมมีข้อสังเกตต่อนโยบายดังกล่าวดังต่อไปนี้

ประการแรก มีความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่หรือไม่

หากพิจารณาภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งช่วยกระจายรายได้ และทำให้การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนขยายตัว รวมทั้งยังมีการใช้จ่ายทั้งบนดินและใต้ดินในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งอีกเป็นจำนวนมาก  ทั้งนี้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี พ.ศ.2566 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.7 – 3.7 ซึ่งสูงกว่าการขยายตัวในปี พ.ศ.2565 เล็กน้อย

 

ถึงแม้ว่า การส่งออกของไทยยังอยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว แต่มีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะถึงจุดต่ำสุดในปีนี้ และจะฟื้นตัวในปี พ.ศ.2567 ซึ่งหากพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล กว่าที่นโยบายแจกเงินคนละ 1 หมื่นบาทจะได้เริ่มดำเนินการคงเป็นช่วงปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้นแล้ว

ด้วยเหตุผลข้างต้น ผมจึงมีข้อสังเกตว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ด้วยงบประมาณจำนวนมหาศาล ยังมีเหตุผลในด้านความจำเป็นไม่มากพอ แต่ผมไม่ได้คัดค้านว่า ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ เพียงแต่ต้องกระตุ้นให้ตรงจุดมากขึ้น และด้วยเงื่อนไขที่สมเหตุสมผลมากขึ้น

ประการที่สอง มีความเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจหรือไม่

ปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก คือ การเพิ่มขึ้นของภาวะเงินเฟ้อทั่วทั้งโลก ซึ่งมีที่มาจากสงครามในยูเครน การกีดกันทางการค้าและการพยายามแยกห่วงโซ่อุปทานโลกออกจากกัน (decoupling) ซึ่งทำให้ต้นทุนของสินค้าต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งผลกระทบของการใช้ ‘มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ’ (QE) ในอดีตที่ทำให้ปริมาณเงินเพิ่มขึ้น และเป็นที่มาของเงินเฟ้อในปัจจุบัน

ด้วยสถานการณ์ที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มขาขึ้นหรือยังคงอยู่ในระดับสูง การใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยอัดฉีดเงินงบประมาณ 5 แสนล้านบาทโดยทันที น่าจะทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณ และกดดันให้อัตราเงินเฟ้อยิ่งเพิ่มสูงขึ้นอีก ทำให้ภาวะข้าวยากหมากแพงรุนแรงขึ้น และอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้

ผมจึงเสนอว่า การกำหนดขนาดของการกระตุ้นเศรษฐกิจ จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งในแง่ผลของการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แท้จริง และคำนึงถึงผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้วย

ประการที่สาม มีความคุ้มค่าและประสิทธิผลในการใช้งบประมาณหรือไม่

การพิจารณาความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณเป็นสิ่งที่ประเมินได้ยาก เนื่องจากนโยบายนี้มีวัตถุประสงค์หลายประการ ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ การนำคนและสถานประกอบการเข้าสู่เศรษฐกิจในระบบ และการจัดเก็บภาษี ความคุ้มค่าจึงขึ้นอยู่กับทั้งข้อเท็จจริง ข้อสมมติในการประเมิน และการให้คุณค่า (value judgement) กับเป้าหมายต่าง ๆ ด้วย

อย่างไรก็ดี ผมมีข้อสังเกตเกี่ยวกับความคุ้มค่าและประสิทธิผลของนโยบายนี้ในทัศนะของผมว่า การอัดฉีดเพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ควรเน้นการโอนเงินให้กับประชาชนที่ขาดแคลนจริง ๆ เช่น คนยากจน คนว่างงาน คนด้อยโอกาส คนที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เป็นต้น

เพราะจะเป็นการเพิ่มการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจจริง ๆ ในขณะที่การเพิ่มเงินให้กับคนที่มีรายได้เพียงพออยู่แล้ว อาจจะเป็นเพียงการแจกเงินไปทดแทนการใช้จ่ายที่เขาตั้งใจจะใช้จ่ายอยู่แล้ว ไม่ได้ทำให้การใช้จ่ายโดยรวมเพิ่มขึ้นในระยะสั้น หรือทำให้ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในระยะสั้น แต่ไปลดการใช้จ่ายในระยะต่อไป

ในขณะที่การโอนเงินผ่านระบบดิจิทัลโดยการกำหนดเงื่อนไขการใช้เงินในเวลา 6 เดือน จะทำให้มีประสิทธิผลในการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้นกว่าวิธีการเดิม แต่หากลดเงื่อนไขด้านระยะเวลาในการใช้เงินให้สั้นลง และเพิ่มเงื่อนไขระยะเวลาในการใช้จ่ายเงินของคนที่ได้รับเงินในรอบถัด ๆ ไปด้วย จะทำให้เงินหมุนเร็วขึ้นและหมุนหลายรอบมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้นอีก

ในด้านเป้าหมายการจัดเก็บภาษีมากขึ้นนั้น การกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนและการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้นเท่าใด จะยิ่งทำให้จัดเก็บภาษีได้มากขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น ดังนั้นผลการจัดเก็บภาษี จึงขึ้นอยู่กับประสิทธิผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจดังที่กล่าวข้างต้น ส่วนการนำคนและสถานประกอบการเข้าสู่ระบบภาษีนั้น ผมเห็นด้วย เพราะแนวคิดการนำแรงงานและสถานประกอบการนอกระบบเข้าสู่เศรษฐกิจในระบบ เป็นแนวคิดที่ผมได้เสนอมาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว

 

ส่วนความคุ้มค่าหรือประสิทธิผลในการกระจายรายได้นั้น นโยบายที่แจกเงินเท่ากันทุกคน เป็นการกระจายรายได้แบบเท่าเทียม แต่ไม่เป็นธรรม เพราะคนจนและคนรวยได้เงินเท่ากัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการกระจายรายได้ ผมจึงไม่เห็นด้วยที่จะแจกเท่ากันทุกคน และแจกเงินให้คนที่มีรายได้เพียงพออยู่แล้ว แต่ควรแจกเงินแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมายยิ่งไปกว่านั้น การแจกเงินครั้งเดียวแบบไม่มีเงื่อนไขจะไม่ทำให้คนพ้นจากความยากจนในระยะยาว

ผมจึงเห็นว่า ควรกำหนดเงื่อนในการฝึกอบรมหรือพัฒนาฝีมือแรงงาน การพัฒนาอาชีพ การส่งลูกเข้าโรงเรียน รวมทั้งการกำหนดเงื่อนไขการทำงานในโครงการจ้างงานของรัฐ การทำงานเพื่อสังคม หรือการทำงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อแลกกับการรับเงินของภาครัฐ ทั้งนี้เพื่อทำให้คนไม่เสพติดการแจกเงิน และกระตุ้นให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด รวมทั้งทำให้เกิดประโยชน์ทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม จากการที่ผู้รับเงินต้องมาช่วยทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วย

ผมรู้สึกยินดีที่มีพรรคการเมืองนำแนวคิดของผมไปต่อยอดเป็นนโยบาย แต่การกำหนดนโยบายมีประเด็นที่ต้องคำนึงหลายมิติ ผมจึงขอเสนอให้มีการออกแบบและปรับแต่งนโยบายต่าง ๆ โดยเฉพาะนโยบายที่มีการแจกเงินให้ประชาชน ให้มีความสมเหตุสมผล มีความเหมาะควร และมีความคุ้มค่ามากขึ้น