กกร. ห่วงวิกฤติการเงินเร่งโอกาสเกิด Recession

กกร. ห่วงวิกฤติการเงินเร่งโอกาสเกิด Recession

กกร.ชี้วิกฤติการเงินส่งผลเชิงลบเศรษฐกิจโลก เร่งโอกาสเกิด recession ในสหรัฐ ขณะที่จีนมีสัญญาณฟื้นตัวแต่ภาคการผลิตและส่งออกยังชะลอตัว คาดจีดีพีไทยโตในกรอบเดิม 3.0-3.5% ส่วนส่งออก มีโอกาสหดตัว -1.0-0.0% จับตาฟื้นตัวได้ช่วงครึ่งปีหลัง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยผลการประชุมกกร.ว่า วิกฤติสถาบันการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐและยุโรป ส่งผลให้ตลาดการเงินมีความผันผวนและเพิ่มโอกาสที่เศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวมากขึ้น 

แม้ว่าทางการของสหรัฐและสวิตเซอร์แลนด์ จะเข้ามาช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาอย่างรวดเร็ว ไม่ให้เกิดการลุกลามเหมือนวิกฤติสถาบันการเงินปี 2551 แต่คาดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลกไปแล้ว 

ขณะนี้ นักลงทุนมองโอกาสเกิด Recession ของเศรษฐกิจสหรัฐเป็นไปได้มากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากภาคการเงินยอมรับความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อลดลง (Risk Appetite) จึงเกิดภาวะการเงินตึงตัว และตลาดการเงินอ่อนไหวต่อทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นมากกว่าเดิม โดยตลาดเริ่มคาดหวังให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดดอกเบี้ยภายในปีนี้

“ทั้งนี้ ประเมินว่าผลกระทบทางตรงต่อภาคการเงินไทยยังมีน้อยมาก อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าเงินเฟ้อในเดือน มี.ค. กลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้แล้ว จึงเป็นข่าวดีว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นถึงจุดสิ้นสุดแล้ว หรืออาจปรับขึ้นอีกเพียง 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ 2%”

สำหรับเศรษฐกิจจีนมีสัญญาณฟื้นตัว แต่อานิสงส์ยังจำกัดอยู่ในประเทศ อุปสงค์ภายในประเทศของจีนมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจนภายหลังการเปิดประเทศตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ภาคการผลิตและการส่งออกของจีนยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวแย่ลงในเดือนมี.ค. ทั้งการผลิตและแนวโน้มการส่งออก ไม่ต่างจากประเทศอื่นในภูมิภาค 

ที่ประชุม กกร. มีความกังวลต่อทิศทางการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และอาจเผชิญแรงกดดันจากค่าเงินที่ผันผวนในทิศทางแข็งค่า ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก จึงมีความคิดเห็นว่า ควรเร่งดำเนินการจัดหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ อาทิ กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) กลุ่มประเทศเอเชียกลาง และเอเชียใต้ เป็นต้น เพื่อชดเชยการส่งออกไปยังตลาดหลักที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง

“แนวโน้มการส่งออกสินค้าของไทยยังคงชะลอตัว และคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะหดตัวในปีนี้ เนื่องจากอุปสงค์ภาพรวมตลาดโลกหดตัวลง โดยเรื่องหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือสินค้าต้นทุนต่ำราคาถูกที่ผลิตจากจีนจะทะลักเข้ามาในภูมิภาคนี้มากขึ้น รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมรับมือกับสินค้าเหล่านี้เพื่อปกป้องเอสเอ็มอีในประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงการฟื้นตัว เช่น การให้แต้มต่อ โควต้าการประมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ”

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากรายได้การท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ โดยภาคการท่องเที่ยวปรับดีขึ้นและถือเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการเติบโต นักท่องเที่ยวต่างชาติ 3 เดือนแรกเข้ามาถึง 6.5 ล้านคน คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจสูงถึง 27-30 ล้านคน 

ส่วนอุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากการจ้างงานในภาคบริการ และรายได้ภาคเกษตรที่ยังอยู่ในระดับดี ส่งผลให้ฐานรายได้ของประชาชนปรับตัวดีขึ้น 

ที่ประชุม กกร. คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 เติบโตประมาณ 3.0-3.5% ตามกรอบเดิมที่เคยประเมินไว้ และประเมินว่ามูลค่าการส่งออก มีโอกาสหดตัวในกรอบ -1.0-0.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 2.7-3.2%

นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การขยายอายุมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ ธปท.ร่วมกับกระทรวงการคลัง โดยความเห็นชอบจากครม. เห็นควรให้ขยายเวลามาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และสินเชื่อเพื่อการปรับตัวต่อไปอีก 1 ปีจนถึงวันที่ 9 เม.ย. 2567 เพื่อให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องและเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจที่ต้องการปรับตัว 

โดยไม่มีการขยายอายุโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เนื่องจากกลุ่มธุรกิจเริ่มฟื้นตัวและสามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินได้ โดยเห็นควรให้โอนวงเงินคงเหลือของโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ หลังสิ้นสุดมาตรการมารวมไว้ภายใต้มาตรการสินชื่อพื้นฟูต่อไป ทำให้วงเงินมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู จะมีมูลค่าประมาณ 45,000 ล้านบาท

รวมทั้งมาตรการป้องกันภัยทางการเงินด้วยพรก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 พรก.ฉบับนี้เป็นเครื่องมือสำคัญ ทำให้การจัดการภัยการเงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2566 และมีผลตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. 2566 

โดยสมาคมธนาคารไทย ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติงานในเรื่องต่างๆ ของธนาคารให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและประสานงานอย่างใกล้ชิดกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยการดำเนินการดังกล่าวเพื่อให้ติดตามเส้นทางเงินและอายัติเงินของผู้เสีบหายในระบบ ทำได้เร็วขึ้นและจัดการผู้ต้องสงสัยและบัญชีม้าภายในภาคธนาคารให้ลดลง ซึ่งจะทำให้โอกาสที่ภัยทางการเงินจะเกิดขึ้นน้อยลงด้วย