ส.อ.ท. จ่อยื่นหนังสือนายกฯ ‘รื้อ’ มติ กกพ. กดค่าไฟงวดหน้า

รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ระบุ ในเร็วๆนี้จะยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทบทวนมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ซึ่งพิจารณาอัตราค่าเอฟทีเรียกเก็บ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวม 4.77 บาท

รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ระบุ ในเร็วๆนี้จะยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทบทวนมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ซึ่งพิจารณาอัตราค่าเอฟทีเรียกเก็บ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวม 4.77 บาทต่อหน่วยในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 

โดยมติ กกพ. กำหนดให้ค่าไฟฟ้าเป็นอัตราเดียวกันทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ ส่งผลให้ภาคประชาชนต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้นเป็นหน่วยละ 4.77 บาท จากเดิม 4.72 บาท ขณะที่อัตราค่าไฟของภาคธุรกิจลดลงจากเดิมหน่วยละ 5.33 บาท ซึ่งส.อ.ท. เห็นว่ามติ กกพ.ดังกล่าวยังไม่ตอบโจทย์ในภาพรวม และหวังว่าภาครัฐจะเร่งดำเนินการก่อนอัตราค่าไฟใหม่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน พ.ค.นี้

ชง 4 แนวทาง เคาะ ‘ค่าไฟ’ ต่ำกว่า 4.40 บาท/หน่วย

ภาครัฐสามารถดำเนินการให้อัตราค่าไฟฟ้า งวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 ต่ำกว่า 4.40 บาท/หน่วยได้ โดยพิจารณาจาก 4 ประเด็น คือ 1.เหตุใดต้องเร่งคืนหนี้ของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. จากเดิม 3 ปี ในงวดก่อนหน้า คือ ม.ค.-เม.ย. 2566 เหลือ 2 ปี ในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. ซึ่งภาวะพลังงานเป็นขาลงทั่วโลก  จึงมั่นใจว่าภาระหนี้ของ กฟผ. จะหมดเร็วกว่ากำหนดแน่นอน

2.เร่งช่วยลดต้นทุน โดยพิจารณาว่าสัดส่วน LNG นำเข้า ควรลดลงหรือไม่  ในเมื่อภาครัฐเคยแจ้งว่าปริมาณ LNG ราคาถูกจากอ่าวไทย จะเข้าสู่ระบบมากขึ้นตั้งแต่กลางปี 2566

3.การใช้ราคา LNG นำเข้า ควรใช้ราคาล่าสุด ตามแผนการนำเข้าในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 ไม่ควรใช้ราคาเฉลี่ย ตามกลไกเดิมๆ ที่ 20 USD/MMBTU ซึ่งปัจจุบัน 13 USD

และ 4. ภาคนโยบายควรสนับสนุน กกพ. โดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ซึ่งมีนายกฯ เป็นประธาน  ควรมีนโยบาย หรือแนวทางให้ กกพ. ทบทวนอัตราค่าไฟฟ้างวดต่อไป ซึ่งไม่ถือเป็นการแทรกแซงเชิงนโยบาย หรือ การหาเสียงใดๆ จากรัฐบาลรักษาการ เพราะเป็นการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ควรจ่ายค่าไฟฟ้าด้วยราคาที่เป็นธรรม 

รองประธาน ส.อ.ท. ยังระบุด้วยว่า ภาครัฐและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีความกล้าหาญ เน้นการรักษาผลประโยชน์ของประชาชนมากกว่าเกรงใจโรงไฟฟ้าเอกชน