'ก้าวไกล' ชูนโยบายเศรษฐกิจอุ้ม 'คนตัวเล็ก' ชี้เจรจาการค้าต้องวางยุทธศาสตร์

'ก้าวไกล' ชูนโยบายเศรษฐกิจอุ้ม 'คนตัวเล็ก' ชี้เจรจาการค้าต้องวางยุทธศาสตร์

พรรคก้าวไกล ชูนโยบายเศรษฐกิจอุ้มคนตัวเล็ก เอสเอ็มอี - เกษตรกร สร้างความเป็นธรรม ให้แต้มต่อ "ศิริกัญญา" ชี้เจรจาการค้าต้องวางยุทธศาสตร์ให้ประเทศไทยได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจริง แนะใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอเดิม ลดความซ้ำซ้อนในการเจรจาจากหน่วยงานในประเทศ

วันนี้ (30 มี.ค.) ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าฯ นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมเวทีตอบคำถามจากภาคธุรกิจ พร้อมนำเสนอนโยบาย ในงานเสวนา “มุมมองของภาคธุรกิจต่อนโยบายขับเคลื่อนประเทศ” ซึ่งจัดขึ้นโดยหอการค้าไทย โดยมีตัวแทนภาคธุรกิจ เอกชน ทั่วประเทศ และตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วมจำนวนมาก

ศิริกัญญา กล่าวว่า แนวทางการเพิ่มรายได้ของประเทศไทยนั้นต้องยืนอยู่บนความยั่งยืน และเป็นธรรมเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างทั่วถึง โดยแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม ต้องทำใน 3 ส่วนคือ 1.การวางฐานราก (Firm Ground) 2.การสร้างกติกา และกลไกภาครัฐ เพื่อเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (Fair Game) และ 3.การเสริมสร้างเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใหม่ (Fast Forward)  

ซึ่งนโยบายของก้าวไกลที่เสนอในเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เอสเอ็มอีมีเพื่อช่วยคนตัวเล็กให้อยู่ได้อย่างมั่นคง หลายนโยบาย เช่น เติมแต้มต่อ เช่น นโยบาย หวยใบเสร็จ ซื้อของ SME แลกสลาก ลดหย่อนภาษีเมื่อซื้อของ SME  ตัดต้นทุน โดยลดภาษีนิติบุคคลให้ SME นำค่าจ้างมาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า 2 ปี

เติมตลาด โดยกำหนดสัดส่วนสินค้า SME ในห้างค้าปลีก เติมทุน  เช่น ทุนตั้งตัว 100,000 บาท และทุนสร้างตัว 1,000,000 บาท ที่รัฐค้ำประกันสินเชื่อ ติดอาวุธ เช่นให้ เงินอุดหนุน productivity boost/digital transform รวมทั้งตั้งสภา SME เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง ส่งตัวแทนจากเอสเอ็มอีไปนั่งในคณะกรรมการ เป็นต้น

ส่วนการช่วยเหลือเกษตรกร เช่น  ตั้งกองทุนพิสูจน์สิทธิที่ดิน 10,000 ล้านบาท ยุติข้อพิพาท - ออกเอกสารสิทธิให้เกษตรกร

เปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนดอย่างเป็นธรรม ตัดหนี้เกษตรกรสูงวัย ส่งเสริมโครงการต้นไม้ปลดหนี้ – รัฐเช่าที่เกษตรกรปลูกไม้มีค่า ให้เงินดูแลผู้สูงอายุ 3,000 บาท และเงินเลี้ยงดูเด็ก 1,200 บาทต่อเดือน เป็นต้น

 ส่วนการสร้างรายได้เข้าประเทศ โดยการไปเจรจาการค้า และทำเอฟทีเอกับต่างประเทศนั้นต้องทำอย่างมียุทธศาสตร์ ว่าการไปทำแล้วประเทศไทยได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งต้องหาทางใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอเดิมที่ทำไว้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด

“ถ้าเราดูกันตรงจริงๆ แล้วใน 14 ข้อตกลงสิ่งที่เราเจอก็คือ เอฟทีเอที่เรามียังใช้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเพราะเราไปเจรจากับประเทศที่มีมูลค่าทางการค้ากับเราน้อยการใช้ประโยชน์เอฟทีเอนั้นยังสามารถที่จะทำได้เพิ่มขึ้นอย่างเช่น การค้าเสรีของอัตราที่เรามีสัญญามานานแต่การใช้สิทธิประโยชน์อยู่ที่ 70% เท่านั้น

ประเด็นที่สอง เราเร่งเจรจากับไทยชิลี และไทยเปรู แต่มูลค่าทางการค้าอยู่แค่ประมาณหลักร้อยล้านดอลลาร์เท่านั้น ดังนั้นเราต้องทำยุทธศาสตร์ประเทศที่เราควรไปเจรจาว่าประเทศไทยควรไปเจรจาที่มีประโยชน์ทางการค้า และมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจแต่สิ่งที่เราจำเป็นที่จะต้องทำเรื่องที่ละเอียดอ่อนจำเป็นที่จะต้องเปิดเผย พูดคุยกันอย่างโปร่งใส อย่างเช่น การเจรจาในเรื่อง พืช เรื่อง ยาที่สามารถขอยืดการเจรจา และเตรียมกฎหมายภายในประเทศให้เรียบร้อย ให้คุ้มครองรายย่อยได้ก่อน”

นอกจากนี้ในการเจรจาเอฟทีเอต่างๆ มีหลายภาคส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง การทำงานข้ามหน่วยงานต้องเกิดขึ้นจริงต้องร่วมงานต่างๆ ให้เข้ามาอยู่ในหน่วยงานเดียวกันเนื่องจากโจทย์มีความซับซ้อนด้วยการยุบรวมหน่วยงานต่างๆ ตั้งหน่วยงานแก้ไขระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

ขณะเดียวกันต้องลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงานราชการที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำเอฟทีเอ และข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยรวมเข้ามาเป็นหน่วยงานเดียวที่ทำ ทั้งเรื่องของการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และการดึงการลงทุน

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์