ศาลปกครองชี้ขาดล้มประมูลสีส้ม ‘ชอบด้วยกฎหมาย’

วันนี้ ศาลปกครองสูงสุด นัดอ่านคำพิพากษา ในคดีที่ บีทีเอส ฟ้องปมล้มประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งศาลปกครองชั้นต้น พิพากษาให้เพิกถอน มติของคณะกรรมการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุน

    ในวันนี้ ศาลปกครองสูงสุด ได้อ่านคำพิพากษาใน คดีที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 และ รฟม. ผู้ถูกฟ้องที่ 2  กรณีมีมติการประชุม เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ที่เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวน การร่วมลงทุนตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม  ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ ดังกล่าว

  ซึ่งวันนี้  คู่ความทั้งสองฝ่าย ได้ส่งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจ มาร่วมรับฟังคำพิพากษา โดยศาลปกครองสูงสุด วินิจฉัยในประเด็นที่มีข้อสงสัย และ ผู้ถูกฟ้องคดี คือ คณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และ รฟม. ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดีไว้
     โดยเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 มีอำนาจยกเลิกประกาศเชิญชวน และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด และการยกเลิกจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย ภายใต้ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.  2562 ซึ่งจะต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าในการร่วมลงทุน และศาลยังวินิจฉัยในประเด็นหลักๆ ที่ว่า มีการยกเลิกประกาศฯโดยอำเภอใจหรือไม่  ศาลเห็นว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง2 จะต้องคัดเลือกเอกชนให้เสร็จโดยเร็ว เพราะถ้าล่าช้า จะทำให้เกิดผลกระทบด้านผลตอบแทน และการเปิดใช้บริการฝั่งตะวันออกที่ล่าช้าไปด้วย รวมถึงจะต้องมีค่าใช้จ่ายในงานโยธาที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้สิทธิประโยชน์ของผู้ใช้บริการสูญเสียไป จากเดิม ที่กำหนดตั้งเป้าว่าจะมีผู้ใช้บริการกว่า 430,000 คนต่อวัน จึงถือว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ก็คือ คณะกรรมการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และ รฟม. ได้ใช้ข้อเท็จจริงในการประกาศยกเลิก โดยพิจารณาอาศัยข้อเท็จจริงที่ถูกต้องแล้ว 

    ส่วนประเด็น ที่ว่า ผู้ฟ้องคดี คือ บีทีเอส มีการฟ้องศาลปกครองในหลายสำนวนคดี และไม่ทราบระยะเวลาการพิจารณาคดี เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง จึงให้ดำเนินการยกเลิกเอกชนที่มีปัญหา โดยไม่ต้องรอการพิจารณาของศาล ซึ่งถือเป็นดุลยพินิจในการพิจารณาตามหลักทั่วไปที่ยอมรับได้

     รวมถึงประเด็นที่ ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 กระทำขัดต่อหลักความเสมอภาคหรือไม่นั้น ศาลเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ไม่ได้เอื้อต่อเอกชนรายใดรายหนึ่งเป็นการเฉพาะ จึงถือว่าไม่ขัดต่อหลักความเสมอภาค พร้อมเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ไม่ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยแวดล้อมในการมายกเลิกประกาศดังกล่าว
 
    จากการวินิจฉัยของศาลทั้งหมดนี้ ทำให้ศาลเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ในการยกเลิกประกาศเชิญชวน และการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวน ‘มิได้เป็นไปโดยอำเภอใจ และการยกเลิก เป็นไปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ระหว่างรัฐและเอกชน ตาม ม.6 พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ซึ่งถือเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ และเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฏหมาย’


    ที่ศาลปกครองชั้นต้น พิพากษาเพิกถอนมติของคณะกรรมการฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ รวมถึงเพิกถอนประกาศของ รฟม. เรื่อง ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าวของวัน 3 ก.พ. 63 โดย ให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติ นั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย จึงพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง