‘สุพันธุ์’ ชงแขวนกฎหมาย 1,400 ฉบับ เสริมกลไก เร่งเครื่องจีดีพีเอสเอ็มอีโต

‘สุพันธุ์’ ชงแขวนกฎหมาย 1,400 ฉบับ เสริมกลไก เร่งเครื่องจีดีพีเอสเอ็มอีโต

‘สุพันธุ์’ ชี้กฎหมายล้าหลังเป็นอุปสรรคสำคัญภาคธุรกิจ ชงงดบังคับใช้ทั้งหมด 1,400 ฉบับ เป็นเวลา 5 ปี สร้างกองทุนหนุนเอสเอ็มอีพัฒนานวัตกรรม ตั้งเป้าปั้นสัดส่วนมูลค่า GDP SME ให้ได้ 50% ใน 3 ปี

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคไทยสร้างไทย กล่าวในการเสวนาเรื่อง"วิสัยทัศน์การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทย" ในงานประชุมสามัญประจำปี 2566 ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ภายใต้ธีมงาน "EMPOWERING THAI INDUSTRIES FOR POWERFUL THAILAND เสริมสร้างพลังอุตสาหกรรมไทย สู่ประเทศไทยที่แข็งแกร่ง" ว่า รัฐกับเอกชนต้องจับมือกันเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งที่ผ่านมา 4 เรื่องสำคัญที่เป็นอุปสรรคของภาคอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 1. กฎหมายที่เป็นอุปสรรคกว่า 1,400 ฉบับ โดยพรรคเสนอให้แขวนกฎหมายทั้งหมดด้วย พระราชกฤษฎีกา (พรก.) 1 ฉบับ งดบังคับใช้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากินชั่วคราว เป็นเวลา 5 ปีโดยเฉพาะกฎหมายอาหารและยา (อย.) และกฎหมายโรงแรม เพื่อเปิดโอกาสให้การทำธุรกิจไร้อุปสรรคและข้อจำกัด 

2. ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเพิ่มวงเงินบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้เพิ่มวงเงินค้ำประกันให้เอสเอ็มอีไม่ต่ำกว่า 60% เพื่อให้กลุ่มรายย่อยอยู่รอดได้ รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนเอสเอ็มอีอย่างจริงจัง มูลค่า 1 แสนล้านและต้องบริหารงานโดยภาคเอกชน ให้เกิดการผลิตที่มีนวัตกรรม สร้างกลไกใหม่ในการช่วยเหลือเอสเอ็มอี 

3. สร้างแต้มต่อให้อุตสาหกรรม ที่ต้องมีการขับเคลื่อนมากกว่าที่มีอยู่เดิม โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะต้องสนับสุนแต้มต่อให้กับอุตสาหกรรมที่ไทยเป็นเจ้าของ 70% เพื่อให้คนไทยสู้กับต่างประเทศได้ รวมทั้งการสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรมรวมกลุ่มเอสเอ็มอีให้สามารถแข่งขันกับทั่วโลกได้

4.การสร้างรายได้ลดรายจ่าย ทำสิ่งที่ไทยถนัด ยกระดับโครงสร้างการเกษตร ท่องเที่ยว สุขภาพ ไลฟ์สไตล์ รวมทั้งสนับสนุนดิจิทัลแพลตฟอร์มและอีโคซิสเต็มให้เกิดได้ในไทย และการช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า  

“ไทยสร้างไทยตั้งเป้าหมายสร้างมูลค่าจีดีพีเอสเอ็มอีให้ได้ 50% ภายใน 3 ปี  เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศจะเข้มแข็งได้ก็มาจากการเติบโตของเอสเอ็มอี”

สำหรับการส่งเสริม BCG Model ที่ผ่านมาไทยพูดถึงเรื่องนี้มาตลอดแต่ยังไม่เกิดการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม สิ่งที่ต้องทำต่อคือรัฐกับเอกชนต้องบูรณาการร่วมกัน เนื่องจากโมเดลดังกล่าวเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกต่างมุ่งไปที่เป้าหมายเดียวกัน รัฐต้องเป็นผู้สนับสนุนทำงานร่วมกันทุกหน่วยงาน โดยดึงกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้ามาช่วยการวิจัยและพัฒนา ซึ่งที่ผ่านมามีแค่บริษัทใหญ่ที่ทำได้ แต่พัฒนาไปไม่ถึงรากหญ้า กลไกลสำคัญที่จะต้องสร้างขึ้นมาคือกองทุนเอสเอ็มอี

ขณะที่ เรื่องคอร์รัปชั่นผู้นำต้องเอาจริง และทุกอย่างจะขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ชัดเจน ต้องโปร่งใสตั้งแต่หัวขบวน ทั้งภาครัฐและเอกชน  ที่สำคัญเรื่องเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยเป็นกลไกสำคัญให้เกิดการดำเนินงานที่โปร่งใส