สอท. ฝากรัฐบาลใหม่กำกับค่าไฟเป็นธรรม แนะ 'กกพ.' ปรับสูตรค่าเอฟทีปีละ 6 งวด

สอท. ฝากรัฐบาลใหม่กำกับค่าไฟเป็นธรรม แนะ 'กกพ.' ปรับสูตรค่าเอฟทีปีละ 6 งวด

สอท. ฝากการบ้านถึงรัฐบาลชุดใหม่ ช่วยกำกับค่าไฟฟ้าอย่างเป็นธรรมแนะ กกพ. ปรับสูตรค่าเอฟทีจาก 3 งวดเป็น 6 งวดต่อปี

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงผลประชุมของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2565 โดยมีมติพิจารณาค่าเอฟทีเรียกเก็บ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวม 4.77 บาทต่อหน่วยนั้นยังไม่ตอบโจทย์ในภาพรวม ซึ่งในเรื่องของการบริหารจัดการไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ ที่กระทบครัวเรือนทุกคน ตลอดจนถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของภาคธุรกิจ ที่กำลังเร่งฟื้นฟู ในข่วงภาวะเศรษฐกิจของโลกชะลอตัว และแข่งขันรุนแรงในระดับประเทศ

ดังนั้น จึงอยากฝากคำถามที่ต้องการคำตอบ จากผู้รับผิดชอบ ประกอบด้วย 

1. สมมุติฐานการคำนวณค่าไฟฟ้าที่ไม่ตอบโจทย์ โดยค่าไฟงวดที่ 1/2566 (ม.ค-เม.ย 66) เลือกใช้สมมุติฐานช่วง Peak ทั้งต้นทุนพลังงานโลก และ ค่าเงินบาท ผล คือภาคธุรกิจต้นทุนสูงขึ้น 13% จาก 4.72 เป็น 5.33 บาท/หน่วย (เมื่อวันที่ 28 ธค.65) แต่ต้นเดือน ม.ค. 2566 ก็พบว่าสมมุติฐานที่วางไว้สูงเกินไป

ส่วนค่าไฟฟ้า งวด2/2566 (พ.ค - ส.ค 66)  ช่วงต้นทุนพลังงานของโลกต่ำลง รวมค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น จากการชะลอขึ้นดอกเบี้ย ของสหรัฐ ภาครัฐกลับเลือกใช้ สมมุติฐาน ตัวเลขของเดือนม.ค. 2566 ที่ไม่เป็นการอัปเดทกับภาวะขาลง ในการประชุมบอร์ดกกพ. วันที่ 22 มี.ค. 2566 แต่ประชาชนคนไทยต้องรับตัวเลขค่าไฟฟ้าที่สูงเกินจริงตลอดเดือนพ.ค. - ส.ค. 2566 ซึ่งผลออกมาแบบนี้เพื่ออะไร และใครได้ประโยชน์ที่แท้จริง

2. การเร่งรัดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นโครงการใด ๆ ในช่วงปลายเทอมของรัฐบาล เช่น การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานสีเขียวทั้ง 5,203 เมกะวัตต์ และส่วนเพิ่มอีก 3,668 เมกะวัตต์ แบบเร่งรีบ ทั้ง ๆ ที่กำลังมีเอกชนหลายรายยื่นฟ้องขอการคุ้มครองจากศาลปกครอง ต่อกระบวนการคัดเลือกที่น่ากังขา รวมถึงโครงการไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยยังมีซัพพลายของโรงไฟฟ้ามากกว่าดีมานล์กว่า 50% ไม่ควรจะเร่งรีบในข่วงปลายเทอมรัฐบาล

3. ปัญหาเชิงโครงสร้างและนโยบายกลับไม่มีใครพูดถึงทางออกใด ๆ เลย เช่น ต้นทุนที่สูงของค่าไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็น ค่าพร้อมจ่าย, ต้นทุนแฝง อื่น ๆ จากภาวะซัพพลายเกินดีมานด์กว่า 50% อีกทั้งสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เหลือ 30% ขณะที่สัดส่วนของเอกชนรวมการนำเข้าสูงถึง 70%

 นอกจากนี้ ยังมีประเด็นในเรื่องของการจัดสรรก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศที่ยังไม่เหมาะสมเป็นธรรมระหว่างภาคปิโตรเคมี และไฟฟ้า อีกทั้ง ยังมีประเด็นในเรื่องการแข่งขันเสรี (ผ่าน TPA) ในระบบ Logistics ของไฟฟ้า และ LNG เพื่อลดการผูกขาดใด ๆ

"ผลประโยชน์เรื่องค่าไฟฟ้ามองง่าย ๆ ตามหลัก Zero Sum Game เราสามารถสรุปได้ว่า ประชาชนคนไทยต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น ในขณะที่โรงไฟฟ้าเอกชนหลายราย ต่างก็มีผลประกอบการที่มีกำไร และเติบโตกันถ้วนหน้า ในขณะที่ กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจหลักในการดูแลไฟฟ้าของประเทศ เหลือสัดส่วนเพียง 30% และ แบกภาระหนี้ ร่วม 1 แสนล้านบาท จากการแบกภาระอุ้มกลุ่มเปราะบาง ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ จึงขออนุญาตฝากการบ้านถึงทีมบริหารเศรษฐกิจที่เก่ง ๆ ของแต่ละพรรคการเมือง ให้ช่วยหาทางออกและคำตอบที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย"

อย่างไรก็ตาม ตนมั่นใจว่าคนที่ทำความดีเพื่อส่วนรวมตลอดจนการดำรงถึงความซื่อสัตย์ในอาชีพของตน ยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้งเหนืออื่นใดต้องได้รับผลตอบแทนที่ดีทั้งต่อตนเองและครอบครัวตลอดไป ซึ่งอยากเสนอกกพ. ในการคิดค่าเอฟทีในช่วงพลังงานและเศรษฐกิจโลกผันผวนควรเปลี่ยนจาก 3 งวด/ปี และงวดละ 4 เดือนเป็น 6 งวด/ปี หรือ ทุก 2 เดือน เพื่อ dynamic และ response ต้นทุนค่าไฟฟ้า ได้รวดเร็ว แม่นยำมากขึ้น