จีไอที ได้ 13 ผู้ประกอบการ 4 จังหวัดใต้ ผลิตเครื่องประดับอัตลักษณ์เสน่ห์ใต้

จีไอที ได้ 13 ผู้ประกอบการ 4 จังหวัดใต้ ผลิตเครื่องประดับอัตลักษณ์เสน่ห์ใต้

“สินิตย์”เผยโครงการ “เสน่ห์ใต้” ล่าสุด จีไอที คัดผู้ประกอบการใน 4 จังหวัดภาคใต้ เข้าร่วมพัฒนาเครื่องประดับต้นแบบได้แล้ว 13 ราย มั่นใจเกิดสินค้ารายการใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดได้เพิ่มขึ้น ระบุหลังทำเสร็จ จะนำโชว์ในงานแสดงสินค้า นิทรรศการ เพื่อเพิ่มโอกาสขายทั้งในและต่างประเทศ

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที( GIT) ถึงผลการดำเนินโครงการ “เสน่ห์ใต้” หรือ The Southern Shine by GIT ที่ได้ลงพื้นที่ไปช่วยพัฒนาผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ นครศรีธรรมราช พังงา สตูล และภูเก็ต โดยล่าสุดได้ทำการคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพได้แล้วจำนวน 13 ราย ที่จะนำไปต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ เพื่อผลิตเครื่องประดับต้นแบบอัตลักษณ์เสน่ห์ใต้ ก่อนที่จะนำชิ้นงานนั้น ๆ ไปจัดแสดงในงานแสดงสินค้า งานนิทรรศการ และประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ 

จีไอที ได้ 13 ผู้ประกอบการ 4 จังหวัดใต้ ผลิตเครื่องประดับอัตลักษณ์เสน่ห์ใต้

สำหรับผลงานของผู้ประกอบการ 13 รายที่ผ่านการคัดเลือกนั้น มีหลายรายที่น่าสนใจ โดยมีการนำผ้าบาติก ย่านลิเภา เครื่องถม เครื่องประดับมุก มาประกอบใช้ทำเป็นเครื่องประดับ โดยมั่นใจว่าจะได้เห็นเครื่องประดับในรูปแบบใหม่ ๆ ที่มีเอกลักษณ์ และเป็นเครื่องประดับที่ตรงตามเทรนด์ความต้องการของโลกที่ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้เครื่องประดับของไทยได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้อุตสาหกรรมมีการพัฒนา ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชนมากขึ้น 

ก่อนหน้านี้ จีไอที ได้ลงพื้นที่ไปยัง 4 จังหวัดภาคใต้ โดยนำผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ไปทำงานร่วมกับท้องถิ่น และได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยกิจกรรมประกอบด้วยการบรรยายจากวิทยาการที่มีความเชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์การตลาดและช่องทางการจำหน่ายสินค้า E-Marketing การบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ ซึ่งได้ถ่ายทอดประสบการณ์และการนำศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นมาใช้ในการออกแบบเครื่องประดับที่มีเอกลักษณ์ การนำอัญมณีประเภทต่าง ๆ มาผสมผสานกับวัสดุตัวเรือนที่หลากหลาย หาได้ภายในท้องถิ่น และกลยุทธ์การสื่อสารให้ผู้บริโภคเห็นถึงความงดงาม โดดเด่น และคุณค่าของอัตลักษณ์ภาคใต้ ทั้งในเรื่องของวัฒนธรรม ความงามของธรรมชาติ