‘บีโอไอ’จัดทัพโรดโชว์จีน ดึงลงทุน‘อีวี-อิเล็กทรอนิกส์-ดิจิทัล’

‘บีโอไอ’จัดทัพโรดโชว์จีน  ดึงลงทุน‘อีวี-อิเล็กทรอนิกส์-ดิจิทัล’

“บีโอไอ” เตรียมโรดโชว์จีน เจาะกลุ่ม 3 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จีนมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทั้งอุตสาหกรรมอีวี อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและดิจิทัล

Key Points

-จีนก้าวขึ้นมาเป็นผู้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมากเป็นอันดับ 1 ในปี 2565

-บีโอไอ เตรียมคณะเพื่อเดินทางไปโรดโชว์ที่ประเทศจีนในเดือน เม.ย.2566 

-ไทยจะดึงการลงทุนกลุ่มที่จีนก้าวหน้าทางเทคโนโลยี คือ อีวี อิเล็กทรอนิสก์และดิจิทัล

-วันที่ 24-26 มิ.ย.2566 ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลกครั้งที่ 16

การลงทุนจากจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2565 คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) มูลค่ารวมกว่า 433,000 ล้านบาท นักลงทุนจากจีนเป็นกลุ่มนักลงทุนที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยมากที่สุด 75 โครงการ รวมเม็ดเงินลงทุน 77,300 ล้านบาท รองลงมาเป็นญี่ปุ่น มูลค่า 50,767 ล้านบาท, สหรัฐ มูลค่าการลงทุน 50,296 ล้านบาท , ไต้หวัน มูลค่าการลงทุน 45,215 ล้านบาท และสิงคโปร์ 44,286 ล้านบาท

สำหรับทิศทางการลงทุนของจีนในไทยมีการเติบโตขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และมีการขอส่งเสริมลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยต้องการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในประเทศช่วยสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจและการจ้างงานมากขึ้นในอนาคต

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ในส่วนที่จีนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 3- 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่ที่เข้ามาลงทุนส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับ EV อุตสาหกรรมดิจิทัลรายใหญ่ ทั้งนี้บีโอไอตั้งเป้าที่จะดึงบริษัทชั้นนำของจีนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นอุตสาหกรรมมุ่งเป้า ใน 3 อุตสาหกรรม ได้แก่

1.ยานยนต์ไฟฟ้า ที่ต้องการให้เข้ามาลงทุนเพิ่มโดยเฉพาะการผลิตแบตเตอรี่และชิ้นส่วนสำคัญ

2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยเน้นดึงการลงทุนในกลุ่มที่เป็นผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ (Automotive Electronics) ซึ่งจะมีความสำคัญในการสนับสนุนการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ของประเทศไทยในอนาคต

3.อุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งจีนถือว่ามีศักยภาพด้านนี้มาก และมีบริษัทใหญ่ที่เป็นเป้าหมายดึงการลงทุนเข้ามาในประเทศไทย หรือบางบริษัทที่เข้ามาลงทุนแล้ว เช่นหัวเหว่ย และอาลีบาบาก็ยังเป็นเป้าหมายที่ไทยจะเชิญชวนให้มีการลงทุนเพิ่ม โดยอาจเป็นบริษัทในเครือหรือเป็นบริษัทที่อยูในซัพพายเชนที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาลงทุน ซึ่งธุรกิจดิจิทัลที่เป็นเป้าหมายให้จีนเข้ามาลงทุนเช่น คลาวด์เซอร์วิส และดาต้าเซนเตอร์ เป็นต้น

สำหรับโอกาสที่ในอนาคตจะมีบริษัทยักษ์ใหญ่จากจีนเข้ามาเปิด ศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Center) และศูนย์กลางบุคลากรทักษะสูง (Talent Hub) ของภูมิภาคในไทยหรือไม่นั้น เลขาธิการบีโอไอ มองว่า มีโอกาสที่บริษัทจากจีนจะลงทุนในส่วนนี้ในประเทศ โดยปกติการตั้ง International Business Center จะเกิดขึ้นภายหลังจากที่บริษัทขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนสร้างโรงงานมีการผลิต และมีการกระจายขายสินค้าออกไปยังประเทศอื่นๆก็จะมีการตั้งสำนักงานภูมิภาคตามมาในอนาคต

‘บีโอไอ’จัดทัพโรดโชว์จีน  ดึงลงทุน‘อีวี-อิเล็กทรอนิกส์-ดิจิทัล’

ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 3-7 เม.ย.2566 บีโอไอมีแผนที่จะเดินทางไปโรดโชว์ที่ประเทศจีน เพื่อดึงอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มเติม 

นอกจากนั้นในช่วงวันที่ 24-26 มิ.ย.2566 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลก ครั้งที่ 16 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยจะมีนักธุรกิจจีนทั้งที่ลงทุนในประเทศไทย และลงทุนในประเทศอื่นๆเดินทางมาร่วมประชุมในประเทศไทยประมาณ 4,000 คน ทั้งนี้การจัดงานครั้งนี้มีหอการค้าไทยจีนเป็นผู้จัดงานหลัก โดยมีหน่วยงานที่เข้าไปร่วมให้ข้อมูลกับนักธุรกิจจีนที่เข้ามาร่วมประชุมในครั้งนี้ โดยบีโอไอเตรียมที่จะร่วมให้ข้อมูลกับนักลงทุนจีนด้วย

ในส่วนของนโยบายการดึงดูดให้ชาวต่างชาติกลุ่มรายได้สูงและมีศักยภาพเข้ามาลงทุนในประเทศไทยหรือ “LTR Visa” พบว่าจีนติด 1 ใน 3 ของประเทศที่เข้ามายื่นขอวีซ่าในกลุ่มนี้ โดยยื่นใบสมัครเข้ามา 325 ราย จากผู้สมัครทั้งหมด 2,920 ราย สะท้อนว่ามีกลุ่มคนที่มีรายได้สูงและมีศักยภาพจากจีน

 

‘บีโอไอ’จัดทัพโรดโชว์จีน  ดึงลงทุน‘อีวี-อิเล็กทรอนิกส์-ดิจิทัล’

ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ผู้แทนการค้าไทย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และหัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ กล่าวว่า นโยบายของประเทศไทยในการเปิดกว้างรับการลงทุนจากต่างประเทศ และมีนโยบายต่างประเทศที่ชัดเจนว่าให้คงสถานะเป็นกลางไม่เข้ากับข้างใดข้างหนึ่งในขณะที่โลกมีปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่รุนแรงทำให้ไทยมีข้อได้เปรียบเมื่อนักลงทุนตัดสินใจที่จะเข้ามาลงทุน

สำหรับการลงทุนจากจีนนั้นมองว่าจะยังมีโอกาสอีกมาก โดยบริษัทสัญชาติจีนมีบริษัทขนาดใหญ่ที่มีเทคโนโลยีและความพร้อมทางการเงินที่ต้องการเข้ามาลงทุนในไทย หรือบริษัทที่ไม่ได้มีสัญชาติจีนแต่มีการลงทุนในจีนจะมีการตัดสินใยย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยก็มีความเป็นไปได้มากขึ้นจากเงื่อนไขความขัดแย้งที่ทำให้มีปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้น

 “ที่เราต้องการให้บริษัทใหญ่จากจีนเข้ามาลงทุนในไทยคืออุตสาหกรรมชิป และสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งส่วนหนึ่งก็มีความชัดเจนแล้วว่าจะกลับไปผลิตที่ประเทศต้นทาง คือ สหรัฐเนื่องจากมีนโยบายสนับสนุนด้านภาษีตามที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ประกาศมาตรการเพื่อดึงการลงทุนกลับไปที่สหรัฐ แต่ก็ยังมีอีกหลายบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในเรื่องของสงครามการค้า และความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐทำให้กำลังมองหาการเข้ามาลงทุนในภูมิภาคนี้ซึ่งเป็นประเทศถือเป็นเป้าหมายที่นักลงทุนจากจีนจะเข้ามาลงทุนเพิ่มเติม”

ทั้งนี้ คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2565 ที่เพิ่มขึ้นมาก สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อศักยภาพของประเทศไทย โดยเฉพาะการเป็นฐานการผลิตและการลงทุนที่สำคัญในภูมิภาค จากการมีห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ 

ประกอบกับฐานอุตสาหกรรมสนับสนุนและบุคลากรที่พร้อมรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และดิจิทัล ทำให้ประเทศผู้ลงทุนหลัก ทั้งจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เลือกปักหมุดลงทุนที่ประเทศไทยเพิ่มขึ้น ท่ามกลางการแย่งชิงเม็ดเงินลงทุนของประเทศต่างๆ ทั่วโลกซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าไทยมีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุน