พาณิชย์ เร่งพีอาร์ตราเขียวสร้างความเชื่อมั่น หลังจีนปลอมข้าวหอมมะลิไทย

พาณิชย์ เร่งพีอาร์ตราเขียวสร้างความเชื่อมั่น หลังจีนปลอมข้าวหอมมะลิไทย

กรมการต่างประเทศ เผย 3 โรงงานข้าวจีนถูกปิดกิจการหลังปลอมข้าวหอมมะลิไทยด้วยการแต่งกลิ่นในข้าว เบื้องต้นไม่พบทั้ง 3 รายปลอมตราเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย ประสานทูตพาณิชย์ ลงพื้นที่ตรวจสอบขายข้าวหอมมะลิในห้างและร้านค้า ป้องกันการแอบอ้าง

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรณีที่มีข่าวโรงงานข้าวในจีนปลอมข้าวหอมมะลิไทยโดยใช้ข้าวที่ปลูกในจีนซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับข้าวไทย มาใส่สารปรุงแต่งให้มีกลิ่นหอมเหมือนกับข้าวหอมมะลิไทย จากการตรวจสอบของกรมการค้าต่างประเทศ พบว่า เกิดขึ้นจริง ตรวจพบใน 3 โรงงาน ซึ่งทางการจีน สั่งปิดกิจการแล้วและ อยู่ระหว่างการดำเนินคดีตามกฏหมาย 

โดยพฤติกรรมการกระทำผิดของทั้ง 3 โรงงาน คล้ายคลึงกัน ใช้ข้าวที่ปลูกในจีน มาใส่สารปรุงแต่งให้มีกลิ่นหอมเหมือนข้าวหอมมะลิไทย แตกต่างกันเพียงชื่อแบรนด์ เช่น มีการแอบอ้างแหล่งผลิตจากไทย และเขียนระบุข้อความบนบรรจุภัณฑ์ว่า เป็นข้าวหอมมะลิไทย  โดยบริษัทแรก คือ บริษัท Anhui Huainan Shouxian Yongliang Rice Industry ใช้ชื่อแบรนด์ ราชาไทย (Tai Zhi Wang) และข้าวหอมมะลิไทยรุ่นที่ 2 โดยเป็นชื่อที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า และใช้ข้าวท้องถิ่น มาแต่งกลิ่น ขายในพื้นที่มณฑลอานฮุยเป็นหลัก มียอดขายปีละ 1 หมื่นตัน

 2.บริษัท Anhui Xiangwang Cereals , Oils and Food Technology Co., Ltd. ระบุบนบรรจุภัณฑ์ว่า ข้าวหอมมะลิประเทศไทย ระบุแหล่งผลิตจากประเทศไทย โดยใบอนุญาตประกอบธุรกิจแปรรูปข้าวหมดอายุตั้งแต่ปี 2017 และ 3.บริษัท Huainan Chufeng Industry and Trade Co., Ltd. จำหน่ายข้าวพันธุ์ต้าวฮวาเซียง เป็นข้าวที่ผลิตในเมืองอู่ฉาง มณฑลเอย์หลงเจียง ใช้ชื่อแบรนด์ Tai Guo Xiang Mi , Tai Xiang Mi หรือข้าวหอมมะลิไทย ใช้สารเติมแต่งกลิ่นเช่นเดียวกัน

พาณิชย์ เร่งพีอาร์ตราเขียวสร้างความเชื่อมั่น หลังจีนปลอมข้าวหอมมะลิไทย

ส่วนบริษัท Shanghai Rofeeflavor Fragrant Co., Ltd. และบริษัท Shanghai Fengmi Industrial Co., Ltd. เป็นบริษัทที่ผลิตสารปรุงแต่งที่อยู่ในเซี่ยงไฮ้ พบว่า ไม่มีใบอนุญาตการผลิต โดยทั้ง 2 โรงงานได้ขายสารปรุงแต่งให้กับโรงงานผลิตข้าว 2 แห่งในมณฑลอานฮุย และโรงงานดังกล่าว ยังลักลอบผลิตสารปรุงแต่งกลิ่นหลายสิบชนิดโดยไม่มีใบอนุญาตด้วย เช่น กลิ่นข้าวหอม และกลิ่นข้าวหอมมะลิไทย

ขณะนี้ทั้ง 3 โรงงานถูกสั่งปิดโรงงานแล้ว และกำลังถูกดำเนินคดี เนื่องจากเข้าข่ายผิดกฎหมายของจีนในหลายข้อหา ทั้งมาตรฐานอาหารปลอดภัย สิทธิผู้บริโภค การโฆษณา คุณภาพความปลอดภัยสินค้า การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในสินค้าของจีนเอง ซึ่งกฎหมายของจีน มีความเข้มงวดมาก มีบทลงโทษและดำเนินการทันที โดยทั้งหมดไม่มีความเกี่ยวข้องกับข้าวหอมมะลิไทย และไม่เคยมีการนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบว่ามีการละเมิดเครื่องหมายการค้าข้าวหอมมะลิของไทย เพราะโรงงานของจีนที่ทำข้าวหอมมะลิไทยแต่งกลิ่น ใช้เครื่องหมายการค้าของเขา จดชื่อเอง”นายรณรงค์ กล่าว

ส่วนความเสียหายจากการแอบอ้างเป็นข้าวหอมมะลิไทยนั้นยังต้องใช้เวลาอีกระยะ เพื่อนำสถิติการส่งออกข้าวหอมมะลิมาเปรียบเทียบ อาจจะในช่วง 3-6 เดือนที่เกิดปัญหานี้ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนว่าปริมาณการส่งออกลดลงมากน้อยแค่ไหน โดยปริมาณการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยไปจีน ในปี 2565 ปริมาณกว่า 142,000 ตัน ลดลงจากปีก่อนหน้า 3.68% จากการส่งออกข้าวทุกชนิดที่ 7 แสน 5 หมื่นตัน ซึ่งยังเชื่อว่า เป็นผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น เพราะผู้บริโภคชาวจีน ตื่นตัวในการตรวจสอบก่อนซื้อ

พาณิชย์ เร่งพีอาร์ตราเขียวสร้างความเชื่อมั่น หลังจีนปลอมข้าวหอมมะลิไทย

นายรณรงค์ กล่าวว่า  กรมฯ ได้ประสานงานไปยังทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในจีน ทั้ง 7 แห่ง ให้เพิ่มความเข้มข้นในการลงพื้นที่ตรวจสอบการจำหน่ายข้าวหอมมะลิไทยในห้าง ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้า และตรวจสอบดูว่าข้าวหอมมะลิไทยที่จำหน่าย เป็นข้าวหอมมะลิไทยถูกต้องหรือไม่ มีการแอบอ้างชื่อไทยหรือไม่ มีการละเมิดเครื่องหมายการค้าข้าวหอมมะลิไทยหรือไม่ และหากพบข้าวที่น่าสงสัย ก็ให้ประสานทางการของจีนเพื่อดำเนินการตรวจสอบทันที

ทั้งนี้ กรมฯ ยังจะร่วมมือกับทูตพาณิชย์ในการประชาสัมพันธ์เครื่องหมายการค้าข้าวหอมมะลิไทย ของผู้ส่งออกข้าวไทยว่ามีแบรนด์อะไรบ้าง และประชาสัมพันธ์เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย หรือที่เรียกกันว่า เครื่องหมายตราเขียว ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่แสดงความเป็นสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศไทยและมีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด  เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อว่า ได้บริโภคข้าวหอมมะลิไทยแท้