‘ประยุทธ์’สั่งถอนประมูลสายสีส้ม 8 รัฐมนตรีค้าน หวั่นปมกฎหมาย-การเมือง

‘ประยุทธ์’สั่งถอนประมูลสายสีส้ม 8 รัฐมนตรีค้าน หวั่นปมกฎหมาย-การเมือง

ปิดฉากรถไฟฟ้าสายสีส้มไม่ทันรัฐบาลนี้หลัง“ประยุทธ์-ครม.”ห่วงเช็คบิลย้อนหลัง นายกฯสั่งถอนวาระ “8รมต.” รุมขวาง “สุริยะ”โวยเร่งรีบชงวาระจร เบื้องลึกถกนาน 1 ชั่วโมง ครม.“วิษณุ”เสนอทางออกให้อนุมัติก่อนแต่ส่วนใหญ่ไม่กล้าให้ผ่านหลังห่วงปมกฎหมาย-การเมือง

Key Points

  • การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ยืดเยื้อมา 3 ปี ยังไม่สามารถหาข้อสรุปผลการประมูลได้
  • นายกรัฐมนตรีสั่งการใน ครม.ให้กระทรวงคมนาคมถอนเรื่องออกจากที่ประชุมหลังจากมีรัฐมนตรี 8 คนคัดค้าน
  • ครม.มีความกังวลเกี่ยวกับคดีที่มีการฟ้องร้องในศาลปกครอง และมีเรื่องร้องเรียนใ ป.ป.ช.
  • 'วิษณุ เครืองาม' รองนายกรัฐมนตรีฝาายกฎหมายประเมินว่าการเสนอผลการประมูลโครงการนี้อาจไม่ทันรัฐบาลชุดปัจจุบัน

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดสุดท้ายวันที่ 14 มี.ค.2566 ก่อนการยุบสภา มีวาระปกติเข้าสู่การพิจารณาและวาระพิจารณาจรรวมมากกว่า 100 วาระ และใช้เวลาในการประชุมประมาณ 7 ชั่วโมง 

สำหรับวาระพิจารณาจรมีถึง 60 วาระ โดยมีวาระที่สำคัญ คือ ผลการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ที่ใช้เวลาพิจารณาวาระนี้ถึง 1 ชั่วโมง ซึ่งนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช้่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้เสนอวาระนี้

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ประเด็นข้อกังวลว่าหากยังยืนยันที่จะเดินหน้าต่ออาจเกิดปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย เพราะยังมีคำร้องที่ต้องรอศาสปกครอง รวมถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่รอการตัดสิน 

ฉะนั้นหาก ครม.ยังดึงดันที่จะที่จะให้ความเห็นชอบ ครม.ทั้งคณะที่ให้ความเห็นชอบอาจถือเป็นการดำเนินการที่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายและอาจมีการเอาผิดในภายหลังทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเรื่องนี้กลับไปพิจารณา รวมถึงรอคำตัดสินจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

แหล่งข่าว กล่าวว่า รัฐมนตรีหลายคนแสดงความเห็นแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่คัดค้าน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า นายอธิรัฐ ที่เซ็นโครงการเข้า ครม.ครั้งนี้กลับไม่ได้อธิบายอะไรใน ครม.เพียงแต่ยืนยันว่าเรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำตามขั้นตอนแล้ว

แหล่งข่าวระบุว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เสนอทางออกต่อ ครม.ด้วยว่าในเมื่อหลายเรื่องเคลียร์ชัดเจนแล้ว ก็แนะนำว่า ครม.อนุมัติโครงการแบบมีเงื่อนไขไปก่อนได้ แต่ยังไม่ต้องไปลงนามในสัญญากับเอกชน เพราะขอให้รอคำสั่งศาลในคดีที่เหลือออกมาก่อน ถ้าศาลสั่งว่าผิดก็ไม่ต้องลงนามสัญญา แต่ท้ายที่สุดก็มีการคัดค้านจากรัฐมนตรีหลายคน จึงไม่สามารถทำตามข้อแนะนำได้แต่ ครม.หลายคนยังให้ความเห็นค้านทิศทางดังกล่าว

ครม.ห่วงคดีค้างในศาล

ทั้งนี้ได้ตั้งข้อสังเกตโครงการนี้มีเรื่องที่เคลียร์ชัดเจนแล้ว นั่นคือ การตอบคำถามสังคมได้ไหมว่า ในกรณีตัวเลขส่วนต่างของวงเงินการประมูลหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งกรณีนี้ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน เพียงแต่เป็นแค่ความเห็นของฝ่ายต่าง ๆ ที่ออกมาตั้งข้อสังเกตเพราะที่ผ่านมาการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เคยเปิดซองราคาการประมูลในครั้งแรกออกมา จึงไม่รู้ว่าเอกชนรายใดเสนอสูงกว่ากัน

เรื่องต่อมาคือ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-2 กรณีขอให้คณะกรรมการคัดเลือกฯ ชดใช้ค่าเสียหายจากการที่มีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

ซึ่งศาลก็ชี้ว่า รฟม.แก้หลักเกณฑ์โดยชอบ เช่นเดียวกับการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการล็อกสเปคในโครงการนั้น ตอนนี้ก็ไม่มีหลักฐานอะไรมาอ้างเรื่องนี้ได้ ดังนั้นจึงเห็นว่าเรื่องส่วนใหญ่ได้เคลียร์หมดแล้ว

“วิษณุ”ชี้ไม่ทันรัฐบาลนี้แล้ว

ทั้งนี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุม ครม.ว่าสาเหตุที่ผลการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ครม.ยังไม่เห็นชอบเพราะ มีรัฐมนตรีหลายท่านมองว่าในเรื่องนี้ควรให้คดีที่ค้างอยู่ในชั้นศาลโดยเฉพาะคดีที่อยู่ในชั้นศาลปกครองสูงสุดให้ถึงที่สุดก่อนค่อยกลับมาสู่การพิจารณาของ ครม.โดยยอมรับว่าเรื่องนี้คงยากแล้วที่จะกลับมาสู่การพิจารณาของ ครม.ชุดนี้

อย่างไรก็ตามในการหารือเรื่องนี้ที่ประชุมให้น้ำหนักมาเกี่ยวกับการพิจารณาความเห็นของหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เสนอเข้ามาประกอบการพิจารณาใน ครม. ซึ่งเห็นว่าปัจจุบันยังมีบางคดีที่ยังค้างอยู่ จึงอยากให้รอฟังการตัดสินของศาลออกมาก่อนที่จะให้ ครม.อนุมัติ

“ในที่ประชุมส่วนใหญ่ที่แย้งว่า เรื่องนี้ทำไมต้องมาเสนอ ครม.ในวันสุดท้าย หากอนุมัติไปจะเกิดปัญหาตามมาอีกมาก เพราะโครงการนี้เป็นเรื่องที่สังคมจับตามอง แล้วจะตอบคำถามสังคมอย่างไร รวมทั้งเป็นผลต่อทางการเมืองไหม ขณะเดียวกันในเอกสารของหลายหน่วยงานก็แสดงความเห็นชัดเจนว่าให้รอศาลตัดสินก่อนจึงทำให้เรื่องนี้นายกฯ ตัดสินใจขอให้ถอนเรื่องนี้ออกจาก ครม."

‘ประยุทธ์’สั่งถอนประมูลสายสีส้ม 8 รัฐมนตรีค้าน หวั่นปมกฎหมาย-การเมือง

“พรรคร่วม”ผวาเช็คบิลย้อนหลัง

ทั้งนี้ก่อนการประชุม ครม.รัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาลได้ให้สัมภาษณ์คัดค้านการนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม ครม. โดยนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มมี 2 ประเด็นต้องพิจารณา คือ

1.มีความไม่แน่นอนจากกรณีมีผู้ไปยื่นเรื่องร้องต่อศาลปกครอง

2.หาก ครม.พิจารณาเรื่องที่ยังไม่มีความชัดเจนในข้อกฎหมาย ครม.อาจมีความเสี่ยงในการพิจารณาและตัดสินใจ

นอกจากนี้ตนเห็นว่าเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้มหาก ครม.อนุมัติในเวลานี้ ขณะที่ยังมีข้อสงสัยของสังคมว่าโครงการดังกล่าวยังมีปัญหาเรื่องความโปร่งใสความสุจริตเรื่องผลประโยชน์สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญและทำให้คิดว่าถ้าเรามีการอนุมัติในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นจะทำให้ ครม.ทั้งคณะรวมถึงผู้ที่จะพิจารณาเรื่องดังกล่าวจะถูกตั้งข้อสงสัยจากประชาชนและหากเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณา ครม.ในรูปของวาระจรจะทำให้ครม.ตอบสังคมได้ยากเช่นกันดังนั้นจากเหตุผลทั้งหมดนี้ ครม.จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ

นายสาธิต กล่าวว่า ขณะนี้เมื่อสังคมยังมีความเคลือบแคลงสงสัยของประชาชนความไม่ชัดเจนของข้อกฎหมายและช่วงเวลาถือเป็นประเด็นสำคัญที่ควรได้รับการพิจารณาให้ดี หากครม.อนุมัติโครงการดังกล่าวแล้วต่อมาศาลปกครองพิพากษาว่าการประมูลไม่ชอบด้วยกฎหมาย ครม.ที่เป็นผู้อนุมัติจะต้องมีปัญหาในเรื่องข้อกฎหมายขณะเดียวกันยังมีข้อสงสัยของสังคม

“8รัฐมนตรี”รุมขวาง-จี้ถอนวาระ

แหล่งข่าว กล่าวว่า มีรัฐมนตรี 8 คน ที่คัดค้านผลการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม คือ 1.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 2.นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3.นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข 4.นายนริศ ขำนุรักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

5.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

6.นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

7.นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 8.นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 

นายสุริยะ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องฟังความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย เรื่องนี้ควรรอความชัดเจนจากศาลปกครองสูงสุดก่อน เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นมาตนก็เห็นว่าไม่ควรอนุมัติตาม และเรื่องดังกล่าวเป็นที่จับจ้องของสื่อมวลชนมาโดยตลอด

อีกทั้งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก แต่เสนอมาเป็นวาระจร ทำให้ไม่มีเวลาดูรายละเอียดจึงคิดว่าไม่ควร นายกฯเองจึงได้ให้กระทรวงคมนาคมถอนเรื่องออกไป อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐไม่ได้หารือเรื่องนี้ก่อนประชุม ครม.

เช่นเดียวกับนายวราวุธ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวควรชะลอออกไปก่อนรอให้การตัดสินของศาลปกครอง 2 คดี ซึ่งเป็นคดีที่สังคมจับตามองและคำพิจารณาของ ป.ป.ช.ให้เรียบร้อยก่อน ครม.ควรจะได้รับการชี้แจงให้เรียบร้อยก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณา