จับตาโปรเจกต์ 'ทิ้งทวน' 7 แสนล้าน 'คมนาคม' เล็งชงประมูลสายสีส้ม

จับตาโปรเจกต์ 'ทิ้งทวน' 7 แสนล้าน 'คมนาคม' เล็งชงประมูลสายสีส้ม

รัฐบาลเร่งเคลียร์โครงการค้างท่อ เสนอ ครม.ก่อนยุบสภา “คมนาคม” ค้าง 7 แสนล้าน ดันส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีแดง เคลียร์ปมโอน 3 สนามบิน จับตาประมูลสายสีส้ม “คลัง” เร่งเสนอบัตรสวัสดิการรัฐ เก็บภาษีขายหุ้น “พลังงาน” ชงประมูลปิโตรเลียม ดันมาตรการส่งเสริมแบต

รัฐบาลกำลังนับถอยหลังการทำงานหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศจะยุบสภาในภายในต้นเดือน มี.ค.2566 และอาจมีเลือกตั้งในวันที่ 7 พ.ค.2566 ซึ่งทำให้โครงการที่ต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะต้องรีบดำเนินการ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วางปฏิทินการเลือกตั้งไว้ในเดือน พ.ค.2566 โดยปัจจุบันมีโครงการของกระทรวงคมนาคมที่รอเสนอ ครม.หลายโครงการ เช่น โครงการส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดง รวมถึงการโอนสิทธิบริหาร 3 สนามบินให้บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. (สนามบินอุดรธานี บุรีรัมย์ และกระบี่) และโครงการรถไฟทางคู่ ระยะ 2 ที่ส่วนใหญ่ขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“แม้เป็นรัฐบาลรักษาการก็เสนอโครงการให้ ครม.พิจารณาได้ แต่ต้องไม่ผูกพันกับรัฐบาลชุดต่อไป ส่วนการแต่งตั้งโยกย้ายก็ทำได้แต่ต้องให้ กกต.พิจารณาตามความเหมาะสม และในช่วง 4 เดือนที่เป็นรัฐบาลรักษาการ ส่วนตัวก็มีแผนที่จะเร่งรัดโครงการที่อยู่ในแผนงบประมาณปี 2566 ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลอยู่แล้ว ต้องทำปกติยืนยันว่าไม่มีเกียร์ว่างแน่นอน และปีนี้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดงบลงทุนได้กว่า 80% แล้ว ถือว่าเร็วกว่าแผนและเร็วกว่าปีงบประมาณที่ผ่านมา” นายศักดิ์สยาม กล่าว

จับตาเสนอ ครม.เคาะสายสีส้ม

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า โครงการที่รอเสนอ ครม.รวมวงเงินกว่า 7 แสนล้านบาท ประกอบด้วย ผลการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ และการเดินรถทั้งเส้นทางช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ยื่นข้อเสนอดีที่สุด แต่ยังมีข้อพิพาทในศาลปกครอง รวมทั้งที่ผ่านมาเคยมีการยกเลิกการประมูลมาแล้ว รวมแล้วการประมูลมีความล่าช้าเกือบ 3 ปี

โครงการรถไฟไทย-จีน ที่เตรียมเสนอ ครม.เป็นโครงการระยะ 2 (นครราชสีมา-หนองคาย) ระยะทาง 365 กิโลเมตร วงเงิน 300,000 ล้านบาท ในขณะที่ระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) ระยะทาง 253 กิโลเมตร รวม 14 สัญญา วงเงิน 179,000 ล้านบาท การก่อสร้างงานโยธาคืบหน้า 16.72% เป็นโครงการที่ดำเนินการมาแล้ว 5 ปี และติดขัดหลายปัญหา เช่น สัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กิโลเมตร อยู่ขั้นตอนต่อรองราคากับบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) อีกทั้งตัวสถานีอยุธยาต้องรอผลรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessment : HIA) ของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาแล้วเสร็จก่อน

ชงโอนสิทธิ 3 สนามบินให้ ทอท.

การโอนสิทธิบริหาร 3 ท่าอากาศยานของกรมท่าอากาศยานได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี, บุรีรัมย์ และกระบี่ ซึ่งยังเสนอครม.ไม่ได้เพราะอยู่ระหว่างทำรายละเอียดทางการเงินตามข้อเสนอแนะของกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)จะเสนอครม.เห็นชอบได้ภายในไตรมาส1 ปี 2566 ซึ่งในส่วนของเงินชดเชยจาก ทอท.เพื่อนำเข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยาน โดยต้องได้มากกว่าที่เคยได้รับเพื่อนำเงินไปดูแลและพัฒนาท่าอากาศยานแห่งอื่น

โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (ตลิ่งชัน-ศาลายา) 14.8 กิโลเมตร วงเงิน 10,670 ล้านบาท รวมถึงช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร วงเงิน 4,694 ล้านบาท และช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร วงเงิน 6,468 ล้านบาท และจะเสนอรถไฟฟ้า Missing link ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กิโลเมตร วงเงิน 47,000 ล้านบาท

โครงการรถไฟทางคู่ ระยะ 2 ตามแผนมี 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,479 กิโลเมตร วงเงิน 275,301 ล้านบาท ซึ่งในเบื้องต้นมีแผนเสนอ ครม.อนุมัติเส้นทางขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 29,748 ล้านบาท รวมถึงเส้นทางปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กิโลเมตร วงเงิน 62,800 ล้านบาท และเส้นทางชุมทางถนนจิระ-อุบลฯ ระยะทาง 308 กิโลเมตร วงเงิน 37,500 ล้านบาท

จับตาโปรเจกต์ \'ทิ้งทวน\' 7 แสนล้าน \'คมนาคม\' เล็งชงประมูลสายสีส้ม

“คลัง”ค้างภาษีหุ้น-บัตรสวัสดิการ

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังมีโครงการใหญ่ที่รอเสนอ ครม.และรอดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย รวม 2 โครงการ คือ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติมปี 2565 ซึ่งผ่านการอนุมัติให้ลงทะเบียนใหม่แล้ว แต่กำลังพิจารณาคุณสมบัติผู้ลงทะเบียนเพื่อสรุปเสนอจำนวนผู้รับสิทธิให้ ครม.รับทราบ

ทั้งนี้ เดิมจะใช้สิทธิ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่วันที่ 1 มี.ค.2566 แต่ยังประกาศรายชื่อไม่ได้หลังจากมีผู้ลงทะเบียน 22 ล้านคน ขณะนี้ธนาคารกรุงไทยแจ้งผู้ผ่านการตรวจสอบรอบแรก 14 ล้านคน แต่กระทรวงการคลังขอให้ธนาคารชี้แจงสาเหตุของผู้ไม่ผ่าน 8 ล้านคน

นอกจากนี้มีการจัดเก็บภาษีหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่ง ครม.อนุมัติเมื่อปลายปี 2565 แต่ยังไม่ประกาศร่างกฎหมายในราชกิจจานุเบกษา  โดยให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีอัตรา 0.10% และเก็บภาษีจากธุรกรรมการขายหุ้น (Transaction Tax) ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งปีแรกเก็บอัตรา 0.055% เมื่อรวมภาษีท้องถิ่น แบ่งเป็นภาษีขายหุ้น 0.050% และภาษีท้องถิ่น 0.005% และเดิมคาดว่าเริ่มใช้ไตรมาส 2 ปี 2566

เสนอมาตรการหนุนแบต“อีวี”

รวมทั้ง คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาโครงการสนับสนุนมาตรการส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ โดยลดภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่จาก 8% ลดเหลือ 1% รวมทั้งมีมาตรการสนับสนุนผู้ลงทุนผลิตแบตเตอรี่ วงเงิน 24,000 ล้านบาท

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบอร์ดอีวี กล่าวว่า มาตรการสนับสนุนแบตเตอรี่อีวีที่ได้รับการอนุมัติไปเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2566 จะนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.เห็นชอบทันรัฐบาลชุดปัจจุบันแน่นอน

ผลประมูลปิโตรเลียมรอบ24

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานเตรียมเสนอ ครม.พิจารณาผลการประมูลโครงการยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 จำนวน 3 แปลงในอ่าวไทย ประกอบด้วย แปลง G1/65 แปลง G2/65 และแปลง G3/65 ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติปิดประมูลแล้ว โดยขณะนี้รอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำเสนอรายชื่อผู้ชนะประมูล

รวมทั้งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เตรียมเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 25 ถือเป็นพื้นที่บนบกภายในปี 2566 โดยจะหารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถึงแนวทางการประมูล ในประเด็นพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อนกับพื้นที่อนุรักษ์ป่าไม้ และพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพราะที่ผ่านมาเกิดปัญหาเหล่านี้กระทบผู้ลงทุน ดังนั้นการประมูลรอบนี้อาจเลือกพื้นที่ที่ไม่มีปัญหามาประมูลก่อน