เศรษฐกิจโลกและไทยในสถานการณ์ No Landing Scenario

ภาพเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐในเดือน ม.ค. ดูเหมือนว่าจะท้าทายแรงโน้มถ่วงของโลกมาก ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐดีกว่าคาดมาก โดยการจ้างงานสูงถึง 5.17 แสนตำแหน่ง สูงกว่าคาดที่ 2 แสนตำแหน่ง เกิน 2 เท่า อัตราการว่างงานอยู่ที่ 3.4% ต่ำที่สุดในรอบกว่า 5 ทศวรรษ

ขณะที่ยอดค้าปลีกฟื้นตัวรุนแรง โดยขยายตัวถึง 3% จากเดือนก่อนจากที่หดตัวต่อเนื่องใน 2 เดือนก่อนหน้า ส่วนเงินเฟ้อที่แม้ว่ายังจะขยายตัวชะลอลง ก็เริ่มเห็นสัญญาณของการชะลอที่ช้ากว่าคาด ขณะที่องค์ประกอบเงินเฟ้อด้านค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบ้านยังน่ากังวลเพราะเริ่มปรับขึ้น 2 เดือนติด

ภาพเช่นนี้เป็นดั่งที่ Torsten Slok หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Apollo Global Management ได้ให้นิยามไว้ว่า คือสถานการณ์ “No Landing Scenarios” ซึ่งโดยย่อคือ "เศรษฐกิจไปต่อ เงินเฟ้อยังสูง ดอกเบี้ยยังขึ้นได้ต่อเนื่อง“ โดยสถานการณ์เช่นนี้ จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ซึ่งจากการคำนวณของ Slok ตามหลักการดอกเบี้ยที่ควรจะเป็น (Taylor's rule) แล้วนั้น ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐควรจะต้องอยู่ที่ 9% ซึ่งในมุมมองของเราแล้วนั้น สถานการณ์ No Landing Scenario จะทำให้ Fed ต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องและนำไปสู่วิกฤติในสหรัฐในที่สุด

  ภาพดังกล่าว ทำให้เราเชื่อว่าสถานการณ์ No Landing Scenario ไม่น่าจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเรามองว่า ในระยะต่อไป เงินเฟ้อจะเป็นความเสี่ยงมากขึ้น โดยงานศึกษาเงินเฟ้อโลกของ InnovestX บ่งชี้ว่าเงินเฟ้อเริ่มกลับมาอีกครั้ง โดยพบว่าเงินเฟ้อของ 18 ใน 36 ประเทศ เริ่มมีทิศทางเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน และในส่วนของค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อ 36 ประเทศ เริ่มเพิ่มขึ้นอีกครั้งในเดือน ม.ค.

อย่างไรก็ตาม เรายังเชื่อว่าเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นสาเหตุชั่วคราว โดยเกิดจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นมากในเดือน ม.ค. ผลจากการเปิดประเทศของจีนทำให้ตลาดคาดหวังว่าจะมีความต้องการในสินค้าโภคภัณฑ์มากขึ้น (ราคาโภคภัณฑ์ในเดือน ก.พ. ปรับตัวลงมามาก และต่ำกว่าต้นปีแล้ว)

 อย่างไรก็ตาม บางองค์ประกอบก็บ่งชี้ถึงความเสี่ยงเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะได้เริ่มกระจายตัวเข้าไปสู่หมวดอื่น ๆ นอกจากสินค้าโภคภัณฑ์มากขึ้น โดยในประเทศพัฒนาแล้วเป็นผลจากค่าจ้างที่ปรับตัวสูงขึ้นเพื่อตอบสนองต่อราคาที่เพิ่มขึ้น (Wage-price spiral) และบางส่วนอาจเป็นเพราะความคาดหวังนโยบายการเงินที่จะผ่อนคลายขึ้น ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรผ่อนคลายลง ซึ่งเป็นการเพิ่มสภาพคล่องทางอ้อม ภาพเหล่านี้จึงทำให้ธนาคารกลางอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยสูงยาวนานขึ้น (Higher for longer) เพื่อคุมความคาดหวังเงินเฟ้อดังกล่าว และอาจนำไปสู่ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย

ในส่วนของอีกองค์ประกอบหนึ่งของ “No landing scenario” คือ เศรษฐกิจที่ไปได้ต่อเนื่อง InnovestX มองว่า ภาพสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้ไม่น่าจะสดใสมากอย่างที่หลายฝ่ายมอง โดยเราเชื่อว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันชะลอตัวต่อเนื่อง โดยงานศึกษาดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index: MPI) โลกของ InnovestX บ่งชี้ว่า MPI ทั่วโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย (ชะลอตัวลงหรือหดตัวมากขึ้น)

ส่วนหนึ่งเป็นผลจากต้นทุนค่าครองชีพ รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมลดลง โดยจากการติดตาม MPI ทั่วโลกพบว่า 30 ใน 42 ประเทศ ดัชนีมีทิศทางชะลอลงหรือหดตัวมากขึ้น และล่าสุดค่าเฉลี่ยของดัชนีดังกล่าวอยู่ที่ -0.9% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวก่อนเกิดวิกฤติ Covid ในต้นปี 2020 

ภาพดังกล่าว ทำให้เราเชื่อว่า ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกจะยังคงชะลอตัวต่อเนื่องตามทิศทางนโยบายการเงินที่จะยังคงเข้มงวด ประกอบกับเงินออมของประชาชนที่เริ่มหมดลง ขณะที่สินค้าคงคลังที่ยังเหลืออยู่จากการเร่งผลิตในช่วงก่อนหน้า ทำให้ผู้ประกอบการจะไม่รีบกลับมาเร่งการผลิตอีกครั้ง ซึ่งจะกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนภาคเอกชนในระยะถัดไป

ภาพดังกล่าวจะมีผลต่อนโยบายการเงินโลก โดยเฉพาะสหรัฐ โดยเราเชื่อว่าดอกเบี้ยนโยบายจะมีการปรับขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 5.13% ณ เดือน พ.ค. และคงอยู่ในระดับเช่นนั้นจนถึงเดือน พ.ย. ขณะที่เงินเฟ้อผู้บริโภค (CPI) จะค่อย ๆ ชะลอลงจากระดับปัจจุบันที่ระดับ 6.4% ไปอยู่ที่ 3.5% ณ ธ.ค. 2023 ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายเริ่มสูงกว่าเงินเฟ้อ CPI ณ กลางปี 2023 ทำให้นโยบายการเงินสหรัฐจะเข้าสู่โหมดตึงตัว (Restrictive zone) ตั้งแต่กลางปี 2023 และจะเริ่มรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปี

ซึ่งจะทำให้ความเสี่ยงเศรษฐกิจและ/หรือภาคการเงินมีมากขึ้น จนกระทั่งทำให้ Fed ต้องลดดอกเบี้ยลงในที่สุด ในส่วนของภาพเศรษฐกิจไทยนั้น มุมมองเราค่อนข้างตรงกับสภาพัฒน์ฯ ที่ประกาศตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ปี 2022 ต่ำกว่าคาดมาก รวมถึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจจาก 3.0-4.0% (ค่ากลง 3.5%) เป็น 2.7-3.7% (ค่ากลาง 3.2%)

 ขณะที่มุมมองของ InnovestX นั้น ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่ 3.0% โดยเรามองว่าความเสี่ยงการส่งออกมีมาก (แม้ว่าจะยังไม่เท่าสภาพัฒน์ฯ ก็ตาม) โดยเรามองว่าการส่งออกจะไม่ขยายตัวในปีนี้ (ขณะที่สภาพัฒน์มองว่าจะหดตัว -1.6%) ขณะที่มองว่าการบริโภคจะเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ 

โดยเราให้การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนปีนี้ที่ 4.0% สูงกว่าสภาพัฒน์ที่ 3.2% ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวนั้น เรามองว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศในปีนี้ประมาณ 25 ล้านคน แต่รายได้ต่อหัวจะอยู่ที่ประมาณ 4.7 หมื่นบาทต่อคน น้อยกว่าปีที่แล้วที่ประมาณ 5.2 หมื่นบาทต่อคน ทำให้รายได้เข้าประเทศไม่มากนักแม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะมากขึ้น

No Landing ไม่น่าจะเกิด แต่เงินเฟ้อและเศรษฐกิจจะยังเป็นความเสี่ยง นักลงทุนและนักธุรกิจ โปรดระมัดระวัง