กับดัก “หนี้”

กับดัก “หนี้”

"หนี้” กลายเป็นหนึ่งในความเปราะบางของสังคมไทย ฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันคนไทยเป็นหนี้ในระดับอายุที่น้อยลง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งเป็น “กับดัก” ที่ฉุดรั้งการเติบโตของประเทศ 

กว่า 3 ปีที่โลกเผชิญกับโรคระบาด ธุรกิจ คน ล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก หลายคนหนี้สินล้นพ้นตัว มูลหนี้ที่อาจเกิดก่อนโควิดมาเยือน มาซ้ำหนักอีกครั้งเมื่อโควิดแพร่ระบาดรุนแรง โลกล็อกดาวน์ ต้องปิดประเทศ ธุรกิจปิดตาย คนตกงาน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถือเป็นหน่วยงานหลัก ทำหน้าที่ “แก้หนี้” ออกมาตรการช่วยเหลือ “ลูกหนี้” ให้สามารถประคองตัวได้

ปัจจุบันผลกระทบจากโควิดเริ่มลดลงตามลำดับ แต่หลายมาตรการที่ออกมาช่วยเหลือลูกหนี้ยังคงอยู่ และกลายมาเป็นโจทย์ใหญ่

ที่สำคัญท่ามกลางการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวมากขึ้น ทำให้ ธปท.ต้องกลับมา “ทบทวน” มาตรการช่วยเหลือต่างๆ ที่ยังคงมีอยู่ว่าจะยังคงมาตรการ หรือยกเลิกมาตรการ เพื่อปรับการดำเนินนโยบายการเงินเข้าสู่ “ภาวะปกติ” ได้

แนวทางที่ ธปท. จะทำต่อจากนี้ ในส่วนมาตรการแก้หนี้ระยะยาวที่จะมีถึงสิ้นปีนี้ มีแนวโน้มปรับมาตรการเข้าสู่ภาวะปกติ

ธปท. ให้เหตุผลว่า ต่อให้ไม่มีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว สถาบันการเงิน และนอนแบงก์ ก็มีการช่วยลูกหนี้อยู่แล้ว ผ่านการปรับโครงสร้างที่ทำต่อเนื่อง ส่วนมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ และสินเชื่อพักทรัพย์พักหนี้ ธปท.และกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณา จะมีความชัดเจนเร็วๆ นี้ และจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอีกครั้ง 

สินเชื่อฟื้นฟูและพักทรัพย์พักหนี้ ทั้งสองโครงการ ถูกออกแบบมาให้ยืดหยุ่น สามารถต่ออายุมาตรการต่อไปอีกไม่เกิน 1 ปี 

ในส่วน คลินิกแก้หนี้ ที่ล่าสุดธปท.ปรับเกณฑ์ให้ครอบคลุมถึงลูกหนี้ที่มีฐานะเป็นหนี้เสีย ก่อน 1 ก.พ.2566 ให้สามารถเข้าโครงการได้ จากเดิมที่กำหนดเฉพาะ ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียก่อน 1 ก.ย.2565 เท่านั้น การขยายเกณฑ์ของคลินิกแก้หนี้เพิ่มเติม ก็เพื่อรองรับกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิตได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น

ส่วนภาพรวมหนี้เสีย ธปท.มองว่า ดีขึ้นหากเทียบช่วงโควิด หลายธุรกิจปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะลูกหนี้ที่อยู่ในมาตรการช่วยเหลือ ซึ่งจากมาตรการแก้หนี้ระยะยาว ที่ยังคงมีอยู่ถึงสิ้นปี 2566 น่าจะเพียงพอในการรองรับกลุ่มเปราะบางได้ และจากภาระดอกเบี้ยที่ทยอยปรับขึ้น บวกกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น อาจกระทบกลุ่มเปราะบางบางส่วน ซึ่งธปท.ได้เน้นย้ำกับเจ้าหนี้ ในการเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ ให้เน้นแก้หนี้โดยการดูตามสภาพและความสามารถลูกหนี้เป็นหลัก

"หนี้” กลายเป็นหนึ่งในความเปราะบางของสังคมไทย ฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันคนไทยเป็นหนี้ในระดับอายุที่น้อยลง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่งเป็น “กับดัก” ที่ฉุดรั้งการเติบโตของประเทศ 

หากไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นในทุกๆ มิติ “กับดักหนี้” จะเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่พร้อมปะทุขึ้นอย่างรุนแรง จนกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน