ขัดแย้งมหาอำนาจ "โลกแบ่งขั้ว" สภาพัฒน์ห่วง "สงคราม" ลามกระทบไทย

ขัดแย้งมหาอำนาจ "โลกแบ่งขั้ว" สภาพัฒน์ห่วง "สงคราม" ลามกระทบไทย

'สภาพัฒน์' ห่วงสงคราม "รัสเซีย-ยูเครน" ปีที่สอง ขยายวงไปยังภูมิภาคอื่น ชี้ความขัดแย้งเริ่มลามใกล้ไทยมากขึ้น สรท. ประเมิน 1 ปีกระทบทั่วโลกหลัก คาดยังไม่ยุติง่าย แนะผู้ส่งออกปรับตัวรับมือ หวั่นรัสเซียงัดนิวเคลียร์ ด้าน ‘แบงก์ชาติ’ ระบุชัดผลกระทบเศรษฐกิจไทยยังมีน้อย

Key Points 

  •  ‘สภาพัฒน์’ ห่วงปมสงครามทำมหาอำนาจโลกแบ่งขั้วชัดขึ้น กังวลความขัดแย้งเริ่มขยายวงเข้าใกล้ไทย
  •  สรท. เชื่อสงครามยังไม่จบง่ายๆ แนะผู้ส่งออกเร่งปรับตัวรับมือ 
  • ‘แบงก์ชาติ’ ประเมินหากสถานการณ์ไม่รุนแรงไปกว่านี้ ผลกระทบต่อไทยมีน้อย
  • EIC ชี้ระยะสั้นกระทบไทยน้อย แต่ระยะยาวต้องจับตา หลังปมขัดแย้งขยับเข้ามาใกล้ตัวมากขึ้น

สงครามระหว่าง ‘รัสเซีย’ กับ ‘ยูเครน’ กินระยะเวลามาเกือบ 1 ปีเต็ม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยเฉพาะกับราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ที่ปรับตัวขึ้นร้อนแรง จนทำให้เงินเฟ้อโลกพุ่งกระฉูด กระทบต่อการดำเนินนโยบายการเงินของหลายประเทศที่ต้องเร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมการขยับขึ้นของเงินเฟ้อ

ปัจจุบันการสู้รบยังไม่จบลง แถมมีแนวโน้มว่าจะหนักขึ้นกว่าเดิมด้วย หลายคนเริ่มเป็นห่วงว่า สถานการณ์สงครามที่ยืดเยื้อและยังมีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงขึ้น ประเด็นนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเศรษฐกิจไทยอย่างไร 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงสถานการณ์รัสเซีย - ยูเครน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ว่า  ช่วงนี้ใกล้ครบรอบ 1 ปีที่รัสเซียเปิดปฎิบัติการทางทหารบุกรุกเข้ายูเครน โดยจะเห็นว่าปัจจุบันรัสเซียเองก็พยายามที่จะโหมบุกเข้าไปอีกรอบ แม้ว่าการบุกในรอบนี้เป็นสิ่งที่พอจะคาดการณ์ได้อยู่แล้ว แต่ประเด็นที่ต้องระวัง คือ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์จะขยายวงไปยังภูมิภาคอื่นๆ เพิ่มขึ้น 

เรื่องดังกล่าวสะท้อนจากการเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นของนายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต (NATO)โดยมีการหารือกันเป็นเวลานาน ก่อนที่จะมีแถลงการณ์ร่วมกันออกมา

นายดนุชา กล่าวว่า หลังจากที่นาโต้ออกแถลงการณ์ร่วมกับทางญี่ปุ่น ไม่กี่ชั่วโมงถัดมารัฐบาลจีนก็ออกมาแถลงโต้ตอบทันที สะท้อนว่าบรรยากาศของมหาอำนาจเริ่มแบ่งขั้วกันชัดเจนมากขึ้น และที่สำคัญเริ่มเห็นการเคลื่อนตัวเข้ามาในเอเชียมากขึ้นด้วย ซึ่งประเด็นนี้ถือว่าน่ากังวล เพราะความขัดแย้งเริ่มขยายวงจากยุโรปเข้ามาใกล้ประเทศไทยมากขึ้น 

ขัดแย้งมหาอำนาจ \"โลกแบ่งขั้ว\" สภาพัฒน์ห่วง \"สงคราม\" ลามกระทบไทย

“สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจยังน่าห่วง นอกจากเหตุการณ์ระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยืดเยื้อ อเมริกากับจีนก็ยังตั้งป้อมความขัดแย้งกัน อย่างเรื่องของบอลลูนที่เข้าไปยังสหรัฐฯ ซึ่งมีการตอบโต้อย่างทันท่วงที และตามมาด้วยเหตุการณ์วัตถุลึกลับที่ปรากกฎอีกหลายแห่งซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าเป็นอะไร ตรงนี้ก็ต้องติดตามว่าจะมีพัฒนาการของเหตุการณ์ไปในทิศทางใดเพราะความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจสองประเทศจะนำไปสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจได้ ”นายดนุชา กล่าว

 

ห่วงสงครามไม่ยุติง่าย

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนกำลังจะครบ 1 ปี โดยหลังจากรัสเซียเปิดฉากบุกยูเครนอย่างเต็มรูปแบบเมื่อ 24 ก.พ.2565 และได้มุ่งหน้าบุกไปยังเมืองต่างๆ รวมถึงกรุงเคียฟด้วย จนถึงบัดนี้การสู้รบยังไม่ยุติลงและอาจจะไม่ยุติง่ายๆ ด้วย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวกระทบทั่วโลก โดยเฉพาะต่อการค้าระหว่างประเทศและปัจจัยที่เกี่ยวเนื่อง จึงยังต้องเฝ้าติดตามราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่อาจจะทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ปัญหาสงครามได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ แร่สำหรับผลิตเซมิคอนดักเตอร์ เหล็ก แร่และโลหะหายาก

 

ขัดแย้งมหาอำนาจ \"โลกแบ่งขั้ว\" สภาพัฒน์ห่วง \"สงคราม\" ลามกระทบไทย

สินค้าธัญพืชที่เป็นวัตถุดิบ และปุ๋ย รวมถึงสินค้าขั้นต้นและวัตถุดิบในการผลิตหลักของห่วงโซ่อุปทานโลกส่งผลต่อการผลิตในห่วงโซ่อุปทานเป็นไปได้ยากลำบากมากขึ้น ส่งผลให้พลังงานไม่สามารถซัพพลายให้ทั่วโลก

รวมถึงปัญหาการชำระเงินระหว่างประเทศ ซึ่งชาติตะวันตกและพันธมิตรมีมาตรการคว่ำบาตรและการหยิบใช้เครื่องมือทางการเงินสำหรับมาตราการนี้ โดยการตัดรัสเซียออกจากระบบ SWIFT เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2565

ขณะที่ยูเครนถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบทางการเกษตรอันดับต้นของโลกเช่นเดียวกับรัสเซีย เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศมีลักษณะภูมิประเทศที่คล้ายคลึงกัน เช่น ข้าวสาลี โดยรัสเซียได้ทำลายโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของยูเครนไปเป็นที่เรียบร้อย ทำให้ไม่สามารถส่งออกสินค้าดังกล่าวได้ ส่งผลให้วัตถุดิบตั้งต้นอย่างข้าวสาลีขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้นในตลาดโลก

ห่วงรัสเซียใช้“อาวุธนิวเคลียร์”

นายชัยชาญ กล่าวว่า แนวโน้มของสงครามรัสเซีย-ยูเครนในปี 2566 มองว่าต่างฝ่ายยังคงเดินหน้าและหยั่งเชิงกันไปเรื่อยๆ ผลัดกันรุก ผลัดกันรับ ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ ขณะที่ผู้คนต่างเริ่มชินชากับข่าวการสู้รบดังกล่าวไปพอสมควร รวมถึงชาติตะวันตกบางชาติเริ่มลดบทบาทการสนับสนุนทางการทหารให้กับยูเครน เนื่องจากสงครามมีความยืดเยื้อและไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่าย

ทั้งนี้รัสเซียยังคงมีไม้เด็ดที่หากนำออกมาใช้แล้วจะส่งผลให้เกิดความวุ่นวายไปทั่วโลก นั้นก็คืออาวุธนิวเคลียร์ และชาติตะวันตกก็พร้อมตอบโต้ด้วยอาวุธในลักษณะเดียวกันทันที นั้นย่อมส่งให้สงครามอาจปานปลายและลุกลามออกยังประเทศอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายฝ่ายมองว่ามีความเป็นไปได้ว่าในวาระที่ครบ 1 ปี ของการทำสงครามรัสเซียอาจเปิดฉากโหมโรงยูเครนอีกระลอก ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงแสนยานุภาพที่เหนือกว่ายูเครนในทุกมิติและท่าทีที่ยังคงยืนกรานที่จะยึดพื้นที่บางส่วนกลับมาเป็นของรัสเซียให้ได้

เศรษฐกิจยูเครน-รัสเซียดิ่ง

ในแง่ของเศรษฐกิจสงครามที่ยืดเยื้อจะฉุดรั้ง GDP ของยูเครนปี 2565 ลดลง 35% ขณะที่คาดการณ์ GDP ปี 2566 ของประเทศยูเครน นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ เพราะยูเครนยังอยู่สถานะที่ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ ส่วนเศรษฐกิจรัสเซีย GDP ปี 2565 ลดลง 2.2% ขณะที่คาดการณ์ปี 2566 IMF คาดการณ์เศรษฐกิจรัสเซียเติบโตที่ 0.3%

สำหรับผลกระทบต่อการส่งออกไทยจากสถานการณ์ดังกล่าวและมาตรการตอบโต้โดยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ (Economic Sanctions) จากนานาประเทศ อาทิ ราคาน้ำมันสะท้อนต่อต้นทุนพลังงาน ต้นทุนธุรกิจ ราคาสินค้า และอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นด้านที่กระทบเศรษฐกิจไทยมากที่สุด ขณะที่ตลาดเงินตลาดทุนของไทยมีความผันผวนสูงขึ้น ทำให้นักลงทุนอาจย้ายไปสู่สินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง

ผู้ส่งออกไทยได้รับเงินล่าช้า

ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่ค้าขายกับรัสเซียและยูเครน ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มธุรกิจเกษตร อุปกรณ์ก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ โดยมูลค่าการค้าขายกับคู่ค้าในรัสเซียและยูเครนมีสัดส่วนน้อย ขณะที่ด้านการทำธุรกรรมการค้ากับทั้ง 2 ประเทศ ยังมีความไม่แน่นอน กรณีมีการนำเข้า-ส่งออก อาจมีความเสี่ยงได้รับเงินล่าช้า ทั้งกรณีคู่ค้าที่อยู่ในประเทศไทย รัสเซีย ยูเครน

ด้านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ปัจจุบันยังมีการขนส่งสินค้าไปยัง 2 ประเทศอยู่บ้างแต่ปริมาณสินค้ายังถือว่าค่อนข้างน้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคหรือสินค้าที่ทั้งสองประเทศมีความต้องการสูงและอนุญาตให้ส่งสินค้าเข้าไปได้เท่านั้น ขณะเดียวกันสายเรือหลายสายลดการให้บริการในเส้นทางดังกล่าวลงพอสมควรตั้งแต่สงครามเริ่มต้นเมื่อต้นปี 2565

ธปท.เชื่อกระทบศก.ไทยน้อย

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า จากเหตุการณ์รัสเซีย ยูเครน ผลกระทบในปัจจุบัน ถือว่ามีน้อยมาก ปัจจุบันเริ่มเห็นนักท่องเที่ยว รัสเซียเข้าไทยค่อนข้างมาก ดังนั้นวันนี้ยังไม่มีปัจจัยเสี่ยงจากกรณีนี้อย่างมีนัยสำคัญ หากสถานการณ์ไม่ได้รุนแรงไปกว่าปัจจุบัน ส่วนผลกระทบในอดีต ที่ส่งผ่านมาสู่ราคาน้ำมัน ให้ปรับตัวสูงขึ้น เหล่านี้ก็เป็นผลกระทบระยะสั้น ที่มีผลกระทบต่อทั่วโลก

แต่ปัจจุบัน ตลาดมีการรับรู้ปัจจัยเสี่ยงจากกรณีนี้ไปหมดแล้ว ดังนั้นแม้ผลกระทบจากความยืดเยื้อยังมีอยู่ แต่เชื่อว่าจะไม่รุนแรง หากไม่มีแซงชั่นในอนาคตผลกระทบรัสเซียยูเครนกระทบเศรษฐกิจไทยน้อย

EICห่วงผลกระทบระยะยาวจะมีมากขึ้น

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Economic Intelligence Center (EIC) และรองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ผลกระทบรัสเซียยูเครน ในระยะสั้น ถือว่าผลกระทบน้อยกว่าที่คาด จากเดิม และปัจจุบันผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสงคราม มีลดลง จากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมัน ที่ปัจจุบันปรับตัวลดลงแล้ว ดังนั้นผลกระทบที่มีจากกรณีนี้ถือว่า น้อยกว่าที่คาดไว้ ผลกระทบจากจากความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจมาสู่เศรษฐกิจไทย ถือว่ามีค่อนข้างน้อย

แต่สถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าว จากเดิมมองว่า จะจบเร็ว โดยใช้ระยะเวลา 3-6 เดือน แต่ปัจจุบันยืดเยื้อมาแล้วกว่า 1ปี ที่ไม่สามารถจบได้ ดังนั้นปัญหาจริงๆ ที่ทำให้สถานการณ์ยืดเยื้อ มาจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ ที่มีการแบ่งหลายขั้วทางเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งในฝั่งจะวันตก รัสเซีย จีน ดังนั้นสิ่งที่ขึ้น เป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เป็นเรื่องใหญ่

"ผลกระทบระยะสั้นต่อเศรษฐกิจไทยไม่มาก แต่ระยะยาวจะมีมาก เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นวันนี้ เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยมีกรณีใหม่เกิดขึ้นแล้ว คือ สหรัฐกับจีน ที่เข้ามาใกล้ไทยมากขึ้น ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะเป็นตัวกำหนดว่า ควรจับคู่ใครในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ"

เชื่อผลกระทบสงครามปีที่สองไม่หนักมาก

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน หากมองไปข้างหน้า แม้ดูจะไม่จบภายในปีนี้ แต่ความรุนแรงคงไม่มากเท่าปีก่อน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ เงินเฟ้อทรงตัว และมีทิศทางที่ดีขึ้น ดังนั้นเหล่านี้ไม่ได้เป็นตัวถ่วงสำหรับเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ปัจจุบันเริ่มเห็น นักท่องเที่ยวรัสเซีย เป็นคู่ค้าหลักของไทย เริ่มกลับมามากขึ้น ดังนั้นหากสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และสถานการณ์รัสเซียยูเครนไม่ได้รุนแรงไปกว่าปัจจุบัน การแซงชั่นไม่ได้รุนแรง เชื่อว่าเศรษฐกิจน่าจะทนทานรับกับปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ได้ แต่ภาพเหล่านี้ก็ยังไม่ได้มองบวกเกินไป และยังมองว่ายังคงเป็นประเด็นความเสี่ยงที่ยังคงเป็นแรงกดดันสำหรับเศรษฐกิจไทยอยู่