ไฮสปีดเทรน - อู่ตะเภา 2 โปรเจ็กต์ EEC ติดหล่ม

ไฮสปีดเทรน - อู่ตะเภา 2 โปรเจ็กต์ EEC ติดหล่ม

ร.ฟ.ท.รับไฮสปีดเชื่อมสามสนามบินล่าช้ากว่า 2 ปี ลุ้นที่ประชุม กบอ.เห็นชอบแก้สัญญา หลังเคาะ 4 ประเด็นเสนอ “อู่ตะเภา” รอหนังสืออนุญาตเข้าพื้นที่ เผยสร้างรันเวย์ 2 สะดุด “คลัง” เร่งหาเงินกู้ให้กองทัพเรือ

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นการต่อยอดจากการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด) ซึ่งเป็นการพัฒนาเชิงพื้นที่แห่งแรกที่มีกฎหมายเฉพาะขึ้นมากำกับดูแล คือ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561

การพัฒนาอีอีซีในระยะแรกกำหนดให้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มความพร้อมรองรับการลงทุนภาคเอกชน แบ่งเป็น 4 โครงการ ประกอบด้วย

1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) วงเงิน 276,516 ล้านบาท การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับบริษัทเอเชียเอราวัน จำกัด ไปเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2562 และปัจจุบันอยู่ขั้นตอนการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ให้เอกชนจากผลกระทบจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ลดลง

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ได้ส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และพื้นที่มักกะสันและศรีราชาให้แก่เอกชนแล้ว โดยเอกชนเข้ามาเตรียมงานก่อสร้าง และรอรับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ส่วนการบริหารแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ได้เข้ามาดำเนินการตามที่ รฟท.กำหนด

2.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก วงเงิน 204,240 ล้านบาท โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2563 ปัจจุบันอยู่ขั้นตอนเตรียมส่งมอบพื้นที่ 6,500 ไร่ ให้เอกชน และ สกพอ.จะดำเนินการแจ้งเอกชนให้เริ่มต้นงานก่อสร้าง

ขณะที่การสร้างรันเวย์ที่ 2 ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพเรือ ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องแหล่งเงิน และคณะรัฐมนตรี (ครม.) สั่งการให้กระทรวงการคลังเร่งรัดการจัดหาแหล่งเงินกู้ให้กองทัพเรือ 16,304 ล้านบาท เพราะกองทัพเรือไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณตามที่ขอผูกพันไว้ระหว่างปี 2565-2568

3.โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 วงเงิน 64,905 ล้านบาท ปัจจุบันงานถมทะเลคืบหน้า 28.18% (ข้อมูล ธ.ค.2565) คาดว่าเสร็จปี 2569

4.โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 วงเงิน 110,115 ล้านบาท ปัจจุบันเริ่มต้นก่อสร้างทางทะเลแล้ว จะเปิดบริการท่าเรือ F ได้ปี 2569

รถไฟความเร็วสูงล่าช้า 2 ปี

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.เปิดเผยว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ยอมรับว่าภาพรวมขณะนี้โครงการล่าช้ามาประมาณ 2 ปี โดย ร.ฟ.ท.มีความหวังที่จะให้โครงการได้แก้ไขสัญญาโดยเร็ว เพื่อผลักดันให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้าง เนื่องจาก ร.ฟ.ท.มีความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเริ่มดำเนินงานแล้ว

“ใจเราก็อยากให้โครงการแก้ไขสัญญาได้เร็วๆ นี้ เพราะภารกิจของเราก็คือการทำให้โครงการนี้แล้วเสร็จ ซึ่งการรถไฟฯ ก็มีความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่ให้เริ่มก่อสร้าง แต่อย่างไรก็ดีความล่าช้าที่เกิดขึ้น ก็เชื่อว่าจะสามารถเร่งรัดในช่วงของงานก่อสร้างและให้โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2569 พร้อมเริ่มมีการอบรมพนักงาน เริ่มทดสอบระบบ”นายนิรุฒ กล่าว

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน รฟท.อยู่ระหว่างรอผลการประชุมของคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ซึ่งจะมีการประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาในโครงการดังกล่าว โดยหากท้ายที่สุดเมื่อ กบอ.มีมติเห็นชอบแก้ไขสัญญาแล้ว ร.ฟ.ท.มีความพร้อมที่จะส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้างทันที

ขณะเดียวกัน นอกจากรอการพิจารณาแก้ไขร่างสัญญาจากทาง กบอ.แล้ว สาเหตุที่ขณะนี้ รฟท.ยังไม่สามารถออกหนังสืออนุญาตให้เอกชนเข้าพื้นที่ (NTP) เพราะมีข้อกำหนดในสัญญาด้วยว่า รฟท.จะออก NTP ได้ต่อเมื่อเอกชนคู่สัญญาได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าขณะนี้เอกชนคู่สัญญายังไม่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน

นายนิรุฒ กล่าวว่า ร.ฟ.ท.พร้อมส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการให้กับเอกชนตามที่สัญญาระบุไว้ โดยส่วนแรกที่จะส่งมอบ คือ ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ขณะนี้มีความพร้อมแล้ว 

ส่วนช่วงพญาไท-บางซื่อ ปัจจุบันอยู่ระหว่างเคลียร์พื้นที่ เร่งการเวนคืนในช่วงราชวิถี การแก้ไขปัญหารื้อย้ายท่อน้ำมัน ซึ่งมั่นใจว่าพื้นที่โครงการจะมีความพร้อมส่งมอบให้เอกชนครบทั้งหมด 100% ภายในเดือน มิ.ย.2566

เคลียร์ 4 ประเด็นแก้ไขสัญญา

สำหรับข้อเสนอของการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนที่มีการเจรจาจนได้ข้อสรุปและอยู่ระหว่างรอที่ประชุม กบอ.พิจารณาก่อนเสนอ กพอ.มี 4 ประเด็น ประกอบด้วย

1.การให้สิทธิเอกชนคู่สัญญาแบ่งชำระค่าใช้สิทธิบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ วงเงิน 10,671 ล้านบาท 2.การแก้ไขปัญหาโครงสร้างโครงการทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง 

3.การส่งมอบพื้นที่โครงการ ตามแผนที่กำหนดไว้ 3 ระยะ คือ ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา, ช่วงพญาไท-บางซื่อ และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์พญาไท-สุวรรณภูมิ และ 4.การตีความพื้นที่ลำรางสาธารณะบริเวณสถานีรถไฟมักกะสัน

ตอกเสาเข็มอู่ตะเภาภายในปีนี้

แหล่งข่าวจากบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ระบุว่า บริษัทฯ คาดว่าจะได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่และเริ่มตอกเสาเข็มโครงการได้ภายในปี 2566 เนื่องจากปัจจุบันทราบว่าทางภาครัฐยังอยู่ระหว่างดำเนินการส่วนของทางวิ่งและทางขับที่ 2 โดยในส่วนของเอกชนอยู่ระหว่างออกแบบโครงการงานก่อสร้างต่างๆ ที่ภาพรวมใกล้แล้วเสร็จ 100%

นอกจากนี้ ปัจจุบันบริษัทฯ ยังได้ลงนามร่วมกับกองทัพเรือ บันทึกข้อตกลงการใช้ท่าอากาศยานอู่ตะเภาร่วมกัน โดยบันทึกข้อตกลงนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่จะช่วยยกระดับท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้เป็นท่าอากาศยานนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 และจะทำให้บริษัทฯ สามารถใช้ทางวิ่งที่ 1 ของท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อการใช้งานเชิงพาณิชย์และเพื่อสนับสนุนการให้บริการของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

ทั้งนี้ปัจจุบันโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ยังได้ดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว จึงคาดว่าทางภาครัฐจะมีการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าพื้นที่ (NTP) ในเร็วๆ นี้ โดยบริษัทฯ ประเมินว่าในระยะแรกของการพัฒนา จะได้รับมอบพื้นที่ก่อสร้าง 6,500 ไร่ ซึ่งบริษัทฯ มีความพร้อมเข้าปรับพื้นทันที และคาดว่าจะเริ่มตอกเสาเข็มพร้อมใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี เริ่มเปิดให้บริการภายในปี 2569

เอกชนเร่งรัฐชูจุดขาย “อีอีซี”

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในอีอีซีจะต้องเร่งชูภาพอีอีซีให้เป็นเครื่องมือหลักในการเข้าถึงโอกาสทางการตลาดในระดับภูมิภาค โดยเริ่มจากการเข้าสู่ตลาด CLMV และขยายสู่ตลาดระดับภูมิภาคอาเซียน โดยใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางและจุดแข็งทีสำคัญของประเทศไทยจะเป็นด้านการอยู่อาศัย ซึ่งเหมาะสมกับการดึงดูดผู้ประกอบการนวัตกรรมใหม่

“อีอีซี ต้องเลือกกลุ่มเป้าหมาย ที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมนวัตกรรม ซึ่งเหมาะสมกับบริบทปัจจุบันของประเทศไทย และควรจัดเตรียมระบบนิเวศน์แบบครบวงจรที่เหมาะสมกับแต่ละอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเป็นปัจจัยหลักในการดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต”นายสนั่น กล่าว

นอกจากนี้ภาครัฐควรเร่งสร้างความพร้อมด้านบุคลากรเพื่อรองรับการลงทุน โดยไทยยังไม่ตื่นตัวเรื่องการศึกษาในระดับ Big change ได้เท่ากับเวียดนาม จึงเป็นประเด็นที่ท้าทายและน่าจับตาอย่างมาก เพราะเป็นฐานสำคัญในการยกระดับการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะบุคลากรตั้งแต่ระดับพื้นฐาน เทคนิค ภาษา และการศึกษาที่เชื่อมกับการทำงานในภาคธุรกิจ