กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กางแผนเจรจาเอฟทีเอปี 66

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กางแผนเจรจาเอฟทีเอปี 66

กรมเจรจาการค้าต่างประเทศ เปิดแผนเจรจา FTA ปี 2566 เดินหน้านับหนึ่งเอฟทีเอ ไทย-อียู พร้อมเร่งเครื่องสรุปผลเจรจาเอฟทีเอ คงค้าง 4 ฉบับ คือ เอฟตา แคนาดา ตุรกี และศรีลังกา ภายในปี 67 มุ่งหา สร้างแต้มต่อการค้าไทย พร้อมเร่งศึกษาเอฟทีเอใหม่กับกลุ่มGCC และกลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยแผนการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ (FTA) ของไทย ในปี2566   ว่า กรมมีแผนการเจรจาเอฟทีเอ 3 ด้าน คือ 1.เดินหน้าเปิดเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) โดยเร็ว ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้พบหารือกับ นายวัลดิส ดอมบรอฟสกิส  รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา และทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายจะเปิดเจรจา เอฟทีเอ ไทย-อียู โดยเร็วที่สุด โดยกระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ภายใน วันอังคารที่ 7  ก.พ. นี้  รวมถึงเห็นชอบกรอบเจรจา เอฟทีเอไทย-อียู ซึ่งผ่านการหารือภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว เพื่อให้ไทยสามารถเปิดเจรจา เอฟทีเอ กับอียู ภายในไตรมาสแรกของปีนี้

“การเจรจา เอฟทีเอ  ไทย-อียู เป็นเป้าหมายอันดับต้นในปีนี้ เพราะอียูเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของไทย รองจากจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับอียู มีมูลค่า 41,038.1 ล้านดอลลาร์ เพิ่ม 2.9% คิดเป็นสัดส่วน 7% ของการค้าไทยกับโลก สินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่มีโอกาสขยายตัวในตลาดอียู เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์อาหาร ไก่แปรรูป ข้าว เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก  “นางอรมน กล่าว

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กางแผนเจรจาเอฟทีเอปี 66

 

2. เร่งสรุปผลการเจรจาเอฟทีเอที่ค้างอยู่ 4 ฉบับ คือ EFTA ประกอบด้วย 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์และ Asean- แคนาดา และ เอฟทีเอ ไทย - ตุรกี และ ไทย -ศรีลังกา ให้จบโดยเร็วภายในปี 2567 โดยวางแผนจัดการประชุมทุก 2-3 เดือน เพื่อให้การเจรจาคืบหน้าและสรุปผลได้ตามกำหนด

3. เร่งศึกษาประโยชน์และผลกระทบของการทำเอฟทีเอ กับคู่ค้าใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคณะมนตรีความร่วมมือรัฐประเทศอ่าวอาหรับ หรือ GCC (ประกอบด้วย 6 ประเทศ คือ บาห์เรน คูเวต โอมาน ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก หรือ Pacific Alliance ประกอบด้วย 4 ประเทศคือ ชิลี โคลอมเบีย เม็กซิโก และเปรู และกลุ่มประเทศแอฟริกา 55 ประเทศ เพื่อหาตลาดใหม่ที่จะช่วยขยายโอกาสการค้าไทยตามข้อเรียกร้องของภาคเอกชนผ่านที่ประชุม กรอ.พาณิชย์

“ทั้งนี้เอฟทีเอ เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไทยท่ามกลางความท้าทายเศรษฐกิจโลก ผ่านการเปิดตลาด ลดเลิกอุปสรรคทางภาษีศุลกากร และที่มิใช่ภาษี ปรับปรุงกฎระเบียบที่จะอำนวยความสะดวกทางการค้า และยกระดับให้ได้มาตรฐานสากล ตลอดจนเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตระหว่างกัน กรมจึงได้ให้ความสำคัญในการเร่งเดินหน้าเรื่องการทำ เอฟทีเอ กับคู่ค้าสำคัญ “นางอรมน กล่าว

นางอรมน กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้า ของการเจรจา เอฟทีเอ ไทย – EFTA  ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจรจาจัดทำเอฟที กับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association: EFTA) รอบที่ 3 ระหว่างวันที่ 24 – 27 ม.ค. ที่ผ่านมา ณ กรุงเทพฯ หลังจากที่ไทยและ EFTA (เอฟตา) ซึ่งประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ ได้เปิดการเจรจาเอฟทีในเดือนมิ.ย. 2565 และได้ประชุมไปแล้ว 2 รอบ เมื่อเดือนมิ.ย.และพ.ย. 2565

โดยการเจรจาครั้งนี้ เป็นการหารือทั้งในระดับหัวหน้าคณะเจรจาและระดับกลุ่มย่อย โดยมีตนเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และนายมาร์คัส เชอร์ลาเกนฮอฟ เอกอัครราชทูตผู้แทนสมาพันธรัฐสวิสด้านความตกลงการค้าและหัวหน้าฝ่ายการค้าโลกภายใต้คณะกรรมการกิจการเศรษฐกิจต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่าย EFTA 

สำหรับการหารือระดับกลุ่มย่อย ฝ่ายไทยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น เข้าร่วมหารือในประเด็นสำคัญ 15 เรื่อง ได้แก่ การค้าสินค้าม กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ,การอำนวยความสะดวกทางการค้าและพิธีการศุลกากร,มาตรการเยียวยาทางการค้า, มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช, มาตรการอุปสรรคเทคนิคต่อการค้า, การค้าบริการ ,การลงทุน, พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์, ทรัพย์สินทางปัญญา ,การแข่งขัน ,การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ, การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน ,ความร่วมมือด้านเทคนิคและการเสริมสร้างศักยภาพ และการระงับข้อพิพาท

“การหารือครั้งนี้ มีความคืบหน้าด้วยดี ทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าจะสรุปผลการเจรจาภายในปี 2567 และวางแผนจะต้องประชุมทุกๆ 2 – 3 เดือน เพื่อให้การเจรจามีความคืบหน้าบรรลุตามเป้าหมาย โดยในปีนี้ จะมีการเจรจาอีก 4 รอบ คือ เดือนเม.ย. มิ.ย. ก.ย.และพ.ย.” นางอรมนกล่าว