“เพื่อไทย” ชูนโยบาย “NBZ” แก้จุดอ่อน “EEC” ดึงลงทุน-ยกระดับเศรษฐกิจครบวงจร

“เพื่อไทย” ชูนโยบาย “NBZ” แก้จุดอ่อน “EEC” ดึงลงทุน-ยกระดับเศรษฐกิจครบวงจร

“เพื่อไทย” ชูนโยบาย “NBZ” แก้จุดอ่อน “EEC” มุ่งเอสเอ็มอี - สตาร์ทอัพได้ประโยชน์เต็มที่ “เผ่าภูมิ” เล็งผุด 5 พื้นที่เขตเศรษฐกิจใหม่ทั่วประเทศ สร้างเศรษฐกิจ เล็งเลิกกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายใช้ความยืดหยุ่นตามเทรนด์การลงทุนของโลกดึงแรงงานคุณภาพสูง FDI เข้าประเทศไทย

“พรรคเพื่อไทย” มีการประกาศนโยบายเศรษฐกิจหลายนโยบายหนึ่งในนั้นคือนโยบาย “เขตธุรกิจใหม่” (New Business Zone) หรือ “NBZ” โดยระบุว่าจะเป็นนโยบายที่ว้าว และสร้างความแตกต่างกับโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของรัฐบาลปัจจุบัน และมั่นใจว่าจะเป็นนโนบายที่ดึงดูดการลงทุน และดึงแรงงานที่มีศักยภาพสูงเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้มากกว่านโยบาย EEC

นโยบาย “NBZ” จะมี 4 พื้นที่ในการทำโครงการ 4 ในระยะเริ่มต้น คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่และกรุงเทพมหานคร และพร้อมจะเปิดอีกหนึ่งพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เป้าหมายในการทำ NBZ ในระยะเวลาที่เหมาะสม

“กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์ "ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล" รองเลขาธิการและ ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย ถึงแนวคิดและที่มาของนโยบาย NBZ ของพรรค  

ดร.เผ่าภูมิกล่าวว่าในโลกปัจจุบันการส่งเสริมเศรษฐกิจด้วยการมุ่งเป้าไปดึงนักลงทุนต่างชาติ แบบที่ใช้นโยบายการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) อย่างเดียวคงจะไม่ถูกต้อง ในเขต NBZ จึงต้องการทำนโยบายที่เกี่ยวกับเรื่องการส่งเสริมการลงทุนแบบครบวงจร ทั้งในเรื่องของกฎหมายธุรกิจชุดใหม่ที่เป็นเรื่องสำคัญของพื้นที่ และเขตเศรษฐกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้น โดยจะมุ่งไปที่ 3 เรื่องที่สำคัญ ได้แก่

1.กฎหมายและกฎระเบียบที่ต้องเอื้อให้เกิดการลงทุน โดยปัญหาของกฎหมายในปัจจุบันต้องยอมรับว่าไม่เอื้อต่อการตั้งธุรกิจของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในประเทศไทย หรือว่าไม่เอื้อให้เอสเอ็มอีมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเอสเอ็มอี รวมทั้งธุรกิจสตาร์อัพติดขัดในเรื่องการก่อตั้งธุรกิจ

ในทางตรงกันข้ามธุรกิจรายใหญ่นั้นกลับมีสิทธิประโยชน์ทางกฎหมายสูง เพราะฉะนั้นการเกิดขึ้นของ NBZ จะเข้าไปแก้ไขในส่วนของกฎหมายกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาของผู้ประกอบการรายย่อยและสตาร์ทอัพในส่วนนี้เพื่อจูงใจการเข้ามาลงทุนของธุรกิจในกฎหมายที่เป็นสากลและมีความสะดวกมากขึ้น

“ทำไมนักลงทุนขนาดใหญ่ในหลายประเทศเช่นทุนประเทศจีนไม่เข้ามาในประเทศไทยเท่าที่ควรเพราะกฎหมายของเรา ไม่เอื้อให้เกิดการลงทุนจึงมีความจำเป็นที่จะต้องร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจชุดใหม่ ที่เป็นกฎหมายที่ครบวงจรสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้เพื่อให้นักลงทุนที่เป็นเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพมีโอกาสเติบโตได้มากขึ้น และรู้สึกว่าอยากเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากกว่าที่จะไปลงทุนในดูไบ เวียดนาม หรือสิงคโปร์”  

“เพื่อไทย” ชูนโยบาย “NBZ” แก้จุดอ่อน “EEC” ดึงลงทุน-ยกระดับเศรษฐกิจครบวงจร

2. การปรับปรุงสิทธิประโยชน์สิทธิประโยชน์ต่างๆให้มีสามารถแข่งขันได้ โดยมีอยู่หลายเรื่องที่ต้องแก้ไขไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยตั้งใจจะทำในเรื่องของภาษีในการเก็บจากกำไรที่ต้องแข่งขันกับประเทศต่างๆได้ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็ต้องมีความเหมาะสม และต้องสามารถที่จะแข่งขันกับประเทศต่างๆได้เพราะในปัจจุบันทุกประเทศมีแผนจะดึงการลงทุนจากต่างชาติ ดึงนักลงทุน และแรงงานที่มีความสามารถเข้าไปอยู่ในประเทศของตนเองด้วยเช่นกัน

สำหรับในเรื่องรายละเอียดเรื่องของสิทธิประโยชน์คงต้องมีการมาดูกันอีกครั้งเพราะว่ารูปแบบที่ผ่านมาการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี ไปกำหนดสิทธิประโยชน์ตายตัวโดยกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งทำให้ไม่จูงใจในเรื่องของการลงทุนเพราะว่าปัจจุบันเทรนด์ของการลงทุน และอุตสาหกรรมต่างๆปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วสิ่งที่รัฐบาลควรทำคือไม่ใช่การกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่ต้องเตรียมความพร้อมและเปิดกว้างทำพื้นที่ให้น่าสนใจสำหรับการลงทุนและทำมาตรการสนับสนุนการลงทุนที่สอดคล้องเป็นการยืดหยุ่นตามการเปลี่ยนแปลงของโลก

“เราไม่สามารถกำหนดได้ตายตัวว่าอุตสาหกรรมอะไรที่เป็นเป้าหมายของการลงทุน เราไม่ใช่หมอดูที่ทำนายอนาคตได้มันเป็นการผูกมัดตนเองโดยไม่จำเป็นในระยะอีกห้าปีข้างหน้าเราจะเห็นธุรกิจที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนแต่อาจจะอยากมาลงทุนในประเทศไทยซึ่งพื้นที่เหล่านี้ก็จะเป็นเขตที่รองรับการลงทุนไม่ได้ปิดกั้น โดยใช้ความยืดหยุ่นในเป้าหมายที่จะเปลี่ยนตามภาวะโลก”

และ 3. การให้ความสำคัญกับการสร้างสภาวะแวดล้อม (Ecosystem) ที่เหมาะสมให้กับเขตธุรกิจใหม่ เพื่อให้เป็นพื้นที่ที่น่าลงทุน

ดร.เผ่าภูมิกล่าวว่าปัจจุบันในเรื่องของสิทธิประโยชน์นั้นไม่พอที่จะดึงดูดการลงทุนได้อีกต่อไปเพราะต่างชาติเลือกประเทศที่จะเข้ามาลงทุนไม่ได้รู้แค่เรื่องของภาษี เรื่องของสิทธิประโยชน์ต่างๆ แต่ดูว่าประเทศนี้มีความพร้อมด้านต่างๆหรือไม่ตอบโจทย์การลงทุนที่บริษัทระดับโลกบริษัทขนาดใหญ่ต้องการหรือเปล่าซึ่งเราต้องเตรียมความพร้อมเรื่องของระบบนิเวศน์เป็นสำคัญ

โดยจะมีการเพิ่มเรื่องของกลไกสนับสนุนการลงทุนจากสถาบันการเงิน เช่น การจัดหาซอฟท์โลน การทำกลไกลในการร่วมลงทุนของภาครัฐและเอกชนเพิ่มเติม การแก้ปัญหาการนำเข้าและการส่งออกที่ง่ายและรวดเร็ว และถูกกว่าประเทศอื่นๆ การคิดคำนวณเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ยังเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบันก็ต้องนำกลับมาทบทวนด้วยเพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรคและปัญหาในการดึงการลงทุน 

นอกจากนั้นเราจะใช้ความร่วมมือระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ในการที่จะเป็นแหล่งที่จะจัดสรรสินเชื่อเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการ

รวมทั้งจะสนับสนุนให้มีการนำสกุลเงินดิจิทัลบาทที่เป็นสกุลเงินกลางของดิจิทัลของไทย มาเริ่มใช้ในตัวเขตธุรกิจใหม่และมีการเชื่อมกันระหว่างภาคการศึกษาการฝึกอบรมแรงงานสิ่งสำคัญเพื่อป้อนตลาดแรงงานรวมทั้งมีการดึงดูดแรงงานต่างชาติที่มีทักษะดิจิทัลเข้ามาทำงานในพื้นที่มากขึ้น  

“ที่ผ่านมาอีซีซีใช้สิทธิประโยชน์ในการเป็นการลงทุนในขณะที่การแก้ไขปัญหาต่างๆในประเทศไม่ได้ เราใช้ในเรื่องของสิทธิประโยชน์ในการแต่งหน้าทาปาก แต่เขตธุรกิจใหม่เราจะไปดูในเรื่องของสภาพแวดล้อมสภาวะที่เอื้อต่อการดึงการลงทุนและการทำงานของคนที่มีความสามารถสูงซึ่งต้องมุ่งไปที่เรื่องของการพัฒนาความสะดวกและโครงสร้างต่างๆที่จะเกิดขึ้นในเขตธุรกิจใหม่นี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานทั้งฮาร์ดและซอฟต์อินฟราสตรักเจอร์และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ต้องทำขึ้นมา”

ดร.เผ่าภูมิกล่าวเสริมด้วยว่าธุรกิจหนึ่งที่เพื่อไทยเห็นว่ามีศักยภาพในการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศไทยคือธุรกิจบริหารรูปแบบใหม่ ซึ่งต่างจากธุรกิจบริการในรูปแบบเดิมที่ใช้เรื่องของทรัพยากรธรรมชาติที่มี เช่น หาดทราย ภูเขา ป่าไม่ มาดึงดูดการดึงการท่องเที่ยวเพื่อให้เขาเดินทางมายังประเทศไทยซึ่งโอกาสในการพัฒนาไม่สูง

แต่ในเรื่องของการพัฒนารูปแบบใหม่สามารถสร้างรายได้มหาศาล โดยในอินเดียมีการให้บริการในธุรกิจเหล่านี้ คือการให้บริการในการขายความรู้องค์ความรู้ การให้บริการข้ามชาติแก่ชาวต่างชาติที่ต้องการไม่ว่าจะเป็นการบริการด้านบัญชีการบริการด้านความรู้ทางคอมพิวเตอร์ ด้านการผลิตซอฟต์แวร์ และการบริการด้านการตลาดที่ปรึกษาทางธุรกิจวิศวกรรมต่างๆที่นั่งอยู่ในประเทศแต่ก็สามารถที่จะทำธุรกิจแบบนี้ ทำหน้าที่ในการเป็นตัวกลางเชื่อมต่อธุรกิจกับบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลก ซึ่งเป็นรูปแบบของธุรกิจใหม่ที่จะเป็นอนาคตของเศรษฐกิจไทยได้อีกสาขาหนึ่ง