“ธุรกิจรีไซเคิล”เผชิญปมคนไทยไม่แยกขยะ เสี่ยงเสียโอกาสโตเต็มศักยภาพ

“ธุรกิจรีไซเคิล”เผชิญปมคนไทยไม่แยกขยะ เสี่ยงเสียโอกาสโตเต็มศักยภาพ

“ธุรกิจรีไซเคิล” มีศักยภาพ และสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนแต่สำหรับประเทศไทยอาจมีข้อจำกัด และไม่สามารถเติบโตได้เต็มศักยภาพอย่างที่คิด

ข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พบปริมาณขยะมูลฝอยช่วง ปี 2564 (ต.ค. 2563 – ก.ย. 2564)  โดยเมื่อแยกเป็น “ขยะพลาสติก” ออกมานั้น พบว่ามีถุงพลาสติกหูหิ้ว จำนวน 812,591 ใบ แก้วพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง จำนวน 208,179 ใบ และโฟมบรรจุอาหาร จำนวน 31,301 ใบ จากปริมาณขยะโดยทั่วไปที่มีจำนวนมาก หากนำไปเข้าสู่ธุรกิจรีไซเคิลก็สามารถเป็นแหล่งรายได้ใหม่

สอดคล้องกับข้อมูลจากสถาบันพลาสติก ระบุว่าจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิต ผลิตภัณฑ์พลาสติกของโลก และในประเทศไทย รวมถึง ปริมาณความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบ กับพฤติกรรมการบริโภคสินค้าที่ไม่ให้ ความสำคัญกับการคัดแยกขยะหลังการใช้งาน ส่งผลให้ เกิดปริมาณขยะพลาสติกในชุมชนเพิ่มขึ้น จนเกิดเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ขยายวงกว้าง

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษและกรมพัฒนาธุรกิจการค้า วิเคราะห์โดย Krungthai COMPASS ระบุว่าตลาดรีไซเคิลในไทยส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ประกอบการรายย่อย และกระจุกตัวอยู่ในธุรกิจขายส่ง สัดส่วนผู้ประกอบการใน ธุรกิจรีไซเคิล 97% เป็นธุรกิจขนาดเล็ก คาดตลาดรีไซเคิลเติบโตต่อเนื่อง รายได้แตะ 2.24 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.2% ของ GDP ในปี 2024

เมื่อทั่วโลกมีการผลักดัน ‘พลาสติกรีไซเคิล’ การขยายตัวอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมการผลิต พลาสติกรีไซเคิลในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการผลิต ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยยึดแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนใน การดำเนินธุรกิจ และอุตสาหกรรม แต่อีกหนึ่งฟันเฟือง สำคัญที่ขาดไม่ได้เลยคือ การสนับสนุน และผลักดันเชิงนโยบายจากภาครัฐ และองค์กรประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในปัจจุบันหน่วยงานสากลหลายหน่วยงานก็เริ่มออกนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมการรีไซเคิลพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรม อย่าง ‘ยุทธศาสตร์การจัดการกับพลาสติกฉบับใหม่ของสหภาพยุโรป’ โดย คณะกรรมาธิการยุโรปได้นำเสนอยุทธศาสตร์การจัดการ กับพลาสติกฉบับใหม่เพื่อลดใช้พลาสติกใน ภาคอุตสาหกรรม โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนวิธีการผลิต การใช้ และการกำจัดพลาสติกโดยได้ตั้งเป้าหมายในการ รีไซเคิลพลาสติกภายใน EU ให้ได้ 55 % ในปี 2030

โดยแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวของ EU มีความสอดคล้องกับนโยบายด้านการบริหารจัดการขยะของไทย ตาม ‘แผนแม่บทการบริหารขยะมูลฝอยของประเทศ ปี พ.ศ. 2559 - 2564’ ที่มีเป้าหมายเพื่อเป็น

กรอบ และกำหนดทิศทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะ มูลฝอย และของเสียอันตรายในภาพรวมของประเทศ โดย มีมาตรการเพื่อจัดการขยะทะเล และตั้งเป้าหมายระยะยาวตั้งแต่ปี 2558-2573 ในการลดขยะพลาสติกในทะเล ซึ่งส่วนใหญ่มีที่มาจากบนบก ให้ได้ 0.06-0.16 ล้านตันต่อปี และมีการจัดทำพื้นที่ต้นแบบในการห้ามใช้ขยะ พลาสติกโดยให้ใช้วัสดุอื่นทดแทน

ขณะที่บรรจุภัณฑ์อาหาร ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปริมาณการใช้ที่ค่อนข้างมากนั้น พบว่า ประเทศ ไทยยังไม่อนุญาตให้ใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิล หรือ r-PET ใน การผลิต ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 295 พ.ศ. 2548 ข้อ 8 ระบุว่า “ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจาก พลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร ” โดยวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ในขณะนั้นเป็นไปเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจากบรรจุภัณฑ์ ที่ ไม่สะอาด

ภราดร จุลชาต ประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.)ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ“กรุงเทพธุรกิจ”ว่า ในปัจจุบัน กระแสเรื่องของสิ่งแวดล้อมกำลังมาแรง และมีแรงกดดันจากภาครัฐต่ออุตสาหกรรม ในเรื่องบรรจุภัณฑ์ หรือ single use ในปัจจุบันหากรัฐประสบความสำเร็จในการให้ห้างสรรพสินค้าแจกถุงพลาสติก แต่ยังไม่สามารถลดการใช้ในตลาดทั่วไปได้ เหมือนความพยายามยังไม่ถึงที่สุด ก็ยังถือเป็นปัญหาในทางปฏิบัติอยู่ 

“ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันสินค้าที่เป็นวัสดุรีไซเคิลราคาอาจจะยังเอื้อมไม่ถึง เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงเพราะขยะไม่มีการแยกทิ้งมาตั้งแต่ต้นทาง”

โดยภาครัฐควรมีข้อบังคับคัดแยกขยะตั้งแต่หน้าบ้าน จึงจะทำให้การรีไซเคิลมีประสิทธิภาพได้

แม้นักลุงทุนจากต่างประเทศและไทย มีความสนใจ ที่จะทำธุรกิจรีไซเคิล แต่ปัญหาขยะที่ยังไม่ถูกขัดแยกอย่างมีคุณภาพทำให้ต้นทุนสูงเกิดปัญหา และพบว่าธุรกิจนี้เสี่ยงเผชิญปัญหาขาดทุนทั้งที่เป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตสูงตามศักยภาพกระแสรักษ์โลก

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์