กนอ.ลุยซื้อที่ดิน 1.4 พันไร่ ปักหมุดนิคมฯใหม่ “ระยอง”

กนอ.ลุยซื้อที่ดิน 1.4 พันไร่  ปักหมุดนิคมฯใหม่ “ระยอง”

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นพื้นที่สำคัญในการดึงการลงทุนภาคเอกชน โดยปี 2565 มีการขอส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีมี 637 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนรวม 358,833 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 84% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

การขยายตัวของการลงทุนดังกล่าวทำให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเห็นโอกาสการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการลงทุนซึ่งนอกจากภาคเอกชนที่มีการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งแล้ว การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เห็นโอกาสจากการเติบโตของการลงทุนในพื้นที่

ล่าสุดมีแผนการพัฒนาพื้นที่ 1,482 ไร่ ใน อ.เมืองระยอง จ.ระยอง เป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ เพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต โดยการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ม.ค.2565 เห็นชอบการลงทุนซื้อที่ดินโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในอีอีซี และพื้นที่ จ.ลำพูน ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ มีวงเงินจัดซื้อที่ดินรวม 3,510 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินเพื่อซื้อที่ดินใน จ.ระยอง 2,668 ล้านบาท และวงเงินในการซื้อที่ดินใน จ.ลำพูน 842 ล้านบาท รวมวงเงินที่ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 2 แห่ง 6,545 ล้านบาท

วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ.กล่าวว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) เริ่มเข้าต่อเนื่องโดยเฉพาะในอีอีซี ซึ่งในปี 2566 มีทิศทางการเคลื่อนย้ายการลงทุนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งทำให้มีนักลงทุนสนใจอาเซียนมากขึ้นรวมถึงไทย และแม้ว่าเศรษฐกิจปีนี้จะมีปัจจัยเสี่ยงทั้งเรื่องเศรษฐกิจโลกถดถอย เงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ย แต่จะเป็นผลกระทบระยะสั้น 

ขณะที่การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเป็นการลงทุนระยะยาว และการตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ในอีอีซีจะเพิ่มศักยภาพในการรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ การบินและโลจิสติกส์ หุ่นยนต์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมรีไซเคิลกากอุตสาหกรรม และกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์
 

สำหรับกลุ่มเป้าหมายโครงการนี้เป็นผู้ประกอบการญี่ปุ่น โดยคาดว่าพื้นที่จะขายหรือให้เช่าหมดใน 5 ปี หลังก่อสร้างเสร็จซึ่งก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม และเกิดการจ้างงาน 13,920 คน และเกิดผลผลิตรวมให้ประเทศในสาขาต่างๆ ปีละ 1,542 ล้านบาท

รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุม ครม.ดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรมรายงานว่าวงเงินที่ใช้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ในอีอีซีจะจ่ายจากรายได้และเงินสะสมของ กนอ.ทั้งหมด แบ่งเป็นค่าซื้อที่ดิน 2,668 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการประเมินรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) 12 ล้านบาท ค่าออกแบบรายละเอียดโครงการ 71 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 1,556 ล้านบาท และค่าควบคุมการก่อสร้าง 78 ล้านบาท

รวมทั้ง กนอ.รายงาน ครม.ว่าที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นที่ดินประเภทพัฒนาอุตสาหกรรมใน จ.ระยอง โดยเป็นพื้นที่ต่อเนื่องจากเขตพัฒนาอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง และเข้าถึงพื้นที่ได้หลายทิศทาง โดยทิศเหนือและทิศตะวันออกติดกับพื้นที่โล่งทำการเกษตรกรรม ทิศใต้และทิศตะวันตกติดกับ นิคมอุตสากรรมหลักชัยเมืองยาง

สำหรับโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ใน จ.ลำพูน ตั้งอยู่ที่ ต.มะเขือแจ้ และ ต.บ้านกลาง อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน เป็นที่ดินประเภทอุตสาหกรรมทั่วไปที่ไม่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและคลังสินค้า มีเนื้อที่ 653 ไร่ และที่ดินถนนทางเข้า 25 ไร่ 

ทั้งนี้ มีวงเงินลงทุน 2,160 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดซื้อที่ดินโครงการ 842 ล้านบาท ค่าจัดทำ EIA 8 ล้านบาท ค่าออกแบบรายละเอียดโครงการ 41 ล้านบาท ค่าสร้างถนนเข้าออก 110 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 1,103 ล้านบาท และค่าควบคุมการก่อสร้าง 56 ล้านบาท รองรับการลงทุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องประดับ เครื่องนุ่งห่ม แปรรูปอาหาร เกษตร และ Bio Technology รวมทั้งพลังงานชีวภาพ ที่เป็นจุดเด่นของภาคเหนือ 

สำหรับกลุ่มเป้าหมายจะรองรับผู้ประกอบการญี่ปุ่นเช่นกัน เพราะมีการลงทุนในพื้นที่ใกล้เคียงและมีแผนขยายลงทุนในไทย ซึ่งพื้นที่จะขายหรือให้เช่าหมดภายใน 5 ปี หลังก่อสร้างเสร็จ ก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเกิดการจ้างงาน 8,415 คน และเกิดผลผลิตรวมให้ประเทศในสาขาต่างๆ 277.85 ล้านบาท

กนอ.ลุยซื้อที่ดิน 1.4 พันไร่  ปักหมุดนิคมฯใหม่ “ระยอง”

ทั้งนี้ ครม.ให้ กนอ.วางแผนรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกรณีซื้อที่ดินจากเอกชนไม่ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งอาจทบทวนรูปแบบการลงทุน โดยเปรียบเทียบความคุ้มค่าระหว่างการลงทุนตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่กับการขยายพื้นที่ในนิคมอตุสาหกรรมเดิมที่มี เพื่อให้ใช้พื้นที่เดิมได้เต็มศักยภาพ

นอกจากนี้ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) มีความเห็นเพิ่มเติมว่าการตั้งนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 2 แห่ง ใช้แหล่งเงินจากรายได้ กนอ.ทั้งหมด ซึ่งปี 2566 กนอ.คาดว่ามีเงินสดคงเหลือ 9,500 ล้านบาท โดยถึงแม้ทำ 2 โครงการพร้อมกัน มีมูลค่ารวม 6,545 ล้านบาท จะไม่กระทบสภาพคล่อง กนอ.

ในขณะที่การตรวจสอบข้อมูลงบการเงินของ กนอ.ที่รายงานสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อจัดทำกรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ 2566 ซึ่ง ครม.เห็นชอบวันที่ 20 ก.ย.2565 พบว่า ปี 2566 กนอ.คาดว่ามีเงินสดปลายงวดคงเหลือ 1,500 ล้านบาท มีเงินสดเพื่อคงสภาพคล่อง 355.23 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 2,202 ล้านบาท

รวมทั้งเพื่อให้การดำเนินโครงการนี้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเป้าหมายควรวางแผนบริหารความเสี่ยงเพื่อให้มั่นใจได้ว่า กนอ.จะมีสภาพคล่องมากพอที่จะดำเนินโครงการโดยไม่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐเพิ่ม หรือหากอนาคต กนอ.จำเป็นต้องใช้แหล่งเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการทั้ง 2 แห่ง อาจต้องคำนึงถึงต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกระทบความสำเร็จของโครงการ