‘IMF’ แนะ 4 ประเด็นสำคัญ ไทยเร่งยกระดับ ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’

‘IMF’ แนะ 4 ประเด็นสำคัญ  ไทยเร่งยกระดับ ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’

IMF แนะไทยเร่งพัฒนาแรงงานรับการเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัล หลังพบผู้ประกอบการกว่า 60% ยังขาดแรงงานที่มีทักษะดิจิทัลในองค์กร ชี้ต้องเร่งเดินหน้า 4 เรื่องสำคัญทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาทักษะดิจิทัล ลดข้อจำกัดเข้าถึงแหล่งทุนของSMEs และการเพิ่มโอกาสเข้าถึงนวัตกรรม

เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติร่วมกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ได้จัดงานสัมมนาวิชาการ เรื่อง Accelerating Innovation and Digitalization in Asia to Boost Productivity 

โดยมี ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ Dr. Antoinette Sayeh รองกรรมการผู้จัดการ (Deputy Managing Director) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เข้าร่วมการสัมมนา

สำหรับสาระสำคัญของรายงานในเรื่องนี้ Dr. Eteri Kvintradze ผู้อำนวยการสถาบัน IMF Capacity Development Office ประจำประเทศไทยเปิดเผยว่า เป็นการศึกษาถึงแนวทางการเพิ่มผลิตภาพการผลิตผ่านการยกระดับนวัตกรรมและการปรับตัวเข้าสู่เทคโนโลยีดิจิทัลในบริบทของเศรษฐกิจยุคหลังโควิดในภูมิภาคเอเชีย เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม (Innovation-led growth)

การศึกษาของ IMF พบว่านวัตกรรมด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเชียตั้งแต่ช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ภูมิภาคเอเชียเป็นภูมิภาคที่มีบริษัทด้านเทคโนโลยีขนาดใหญ่หลายแห่ง ขณะเดียวกันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เร่งให้ เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digitalization) และระบบอัตโนมัติ (Automation) จากความจำเป็นและความต้องการในการทำงานซึ่งกลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น

นอกจากนี้ยังพบว่า ภูมิภาคเอเชียมีสัดส่วนของสินทรัพย์ทางปัญญาถึง 50% ของทั่วโลก และ หลายประเทศในภูมิภาคมีอัตราการขยายตัวของการค้าเชิงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) สูงมากกว่า 40% ถึง 50%

ขณะที่ การเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ของธุรกิจภายในประเทศภูมิภาคเอเชียก็ประสบปัญหา ความท้าทายเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกระบวนการบริหารจัดการ การพัฒนาระบบการทำงานทางไกล และการเพิ่มช่องทางการค้าขายอิเล็กทรอนิกส์ได้ เมื่อพิจารณาในระดับอุตสาหกรรม พบว่าระดับผลิตภาพ การผลิตและเทคโนโลยียังมีความแตกต่างกันอยู่มากทั้งระหว่างประเทศชั้นนำและกลุ่มประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค และระหว่างแต่ละอุตสาหกรรมภายในประเทศ

นอกจากนี้ งานศึกษายังพบว่าประเด็นความท้าทายหรือปัญหาที่สำคัญของการยกระดับนวัตกรรม ได้แก่

  • การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัล
  • โอกาสในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ไม่เท่าเทียม
  • ข้อจำกัดของปัจจัยแวดล้อมด้านกฎหมายและกฎระเบียบ
  • การขาดการดูแลป้องกันด้านข้อมูลและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

สำหรับประเทศไทยพบว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างก้าวกระโดด ผ่านนโยบายปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุคใหม่หรือ Thailand 4.0 การลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (EEC) ขณะเดียวกันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เร่งการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ โดยจากข้อมูลพบว่าการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของประชากรไทยเพิ่มขึ้นเป็น 78% ของประชากรทั้งหมดในปี 2565 เทียบกับประมาณ4% ในปี 2543

สอดคล้องกับมูลค่าของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากที่มีสัดส่วนเพียง 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในปี 2560 เป็นร้อยละ 4 ในปี 2564 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดย การพัฒนาดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากการพัฒนาระบบชำระเงิน Promtpay ซึ่งมีส่วนอย่างมากใน การยกระดับการใช้จ่ายผ่านระบบดิจิทัลของประเทศไทย

นอกจากนี้ แม้ว่าการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศไทยจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่อื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย แต่ทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะด้านดิจิทัลของไทยยังคง ขาดแคลน

โดยผู้ประกอบการเพียง 40% ที่รายงานว่ามีแรงงานฝีมือด้านดิจิทัลที่เพียงพอ นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีสัดส่วนของแรงงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย

การศึกษาของ IMF ยังได้ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับการยกระดับองค์ความรู้ทางดิจิทัลรวมถึงการลดช่องว่างของการเข้าถึงดิจิทัลภายในประเทศ ทั้งในระดับอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ และแรงงาน เพื่อที่จะลดช่องว่างของผลิตภาพการผลิตของประเทศต่าง ๆ การศึกษาชิ้นนี้จึงได้เน้นไปที่การปฏิรูปนวัตกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อไป โดยแนวนโยบายที่ผู้ที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญ ประกอบด้วย

1.การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของประเทศเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยี

 2.การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลรวมถึงยกระดับทักษะของแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่อายุยังน้อยให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ

3. ลดข้อจำกัดในการเข้าทุนแหล่งทุนของผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งจะมีส่วนสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้มากขึ้น

4.การเพิ่มโอกาสของภาคธุรกิจในการเข้าถึงนวัตกรรม โดยการพัฒนาการกำกับดูแลให้มีความสอดคล้องเหมาะสมกับการพัฒนาของอุตสาหกรรมดิจิทัล รวมถึงการพัฒนากฎระเบียบต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น ด้านข้อมูล ด้านทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงการสนับสนุนการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์