การทางฯ เผยเอกชน 8 รายแห่ซื้อซองชิงทางด่วนภูเก็ตสายแรก

การทางฯ เผยเอกชน 8 รายแห่ซื้อซองชิงทางด่วนภูเก็ตสายแรก

การทางฯ เผยเอกชนไทย – เทศ 8 ราย ตอบรับซื้อซองประมูลด่วนสายกะทู้ – ป่าตอง 1.4 หมื่นล้านบาท ย้ำผู้ยื่นข้อเสนอทุกรายต้องเป็นผู้ซื้อซองเอกสาร RFP กำหนด 7 เม.ย.นี้ เตรียมเปิดศึกชิงสัมปทานบริหาร 35 ปี

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงโครงการทางพิเศษสายกะทู้ - ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต โดยระบุว่า ภายหลัง กทพ.ได้เปิดจำหน่ายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal : RFP) โครงการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค. 2565 และมีกำหนดขายซองเป็นวันสุดท้ายในวันที่ 25 ม.ค. 2566 ขณะนี้พบว่ามีเอกชนทั้งไทยและต่างชาติ แสดงความสนใจและซื้อซองเอกสารอย่างต่อเนื่องรวม 8 ราย

“ตอนนี้ก็มีเอกชนสนใจเข้ามาซื้อซอง RFP ทั้งคนไทยและต่างชาติ โดยต่างชาติพบว่าเป็นนักลงทุนจากจีนและเกาหลี ซึ่งการทางฯ เรามีกำหนดว่าเอกชนที่จะยื่นข้อเสนอ หรือรวมกลุ่มเพื่อยื่นข้อเสนอในโครงการนี้จะต้องเป็นเอกชนที่เข้าซื้อซองเท่านั้น จึงเชื่อว่า หลังจากนี้จะมีเอกชนสนใจเข้าซื้อซอง RFP เพิ่มขึ้นอีก เพราะการประกวดราคาครั้งนี้ การทางฯ เราเปิดกว้างนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ เพียงแต่มีข้อกำหนดให้เอกชนไทยเป็นลีดเดอร์กลุ่ม

สำหรับโครงการทางพิเศษสายนี้ เป็นลักษณะโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP Net Cost โดย กทพ. รับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และผู้ร่วมลงทุนรับผิดชอบการออกแบบรายละเอียดและการก่อสร้าง (รวมถึงคู่ควบคุมงาน) และการดำเนินงานบริหารจัดการและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance: O&M) โดยผู้ร่วมลงทุนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รายได้ค่าผ่านทาง

ทั้งนี้ ผู้ร่วมลงทุนจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ลงทุนทั้งหมดให้แก่ กทพ. ก่อนเริ่มเปิดบริการในลักษณะของ BTO (Build-Transfer-Operate) โครงการทางพิเศษสายกะทู้ - ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต เป็นโครงการก่อสร้างทางยกระดับมีอุโมงค์อยู่ในช่วงกลางของแนวเส้นทาง ระยะทางรวม 3.98 กิโลเมตร และมีด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง จำนวน 1 แห่ง โดยมีระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้นไม่เกิน 35 ปี นับจากวันที่ กทพ. มีหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน

ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระยะดังนี้ ระยะที่ 1 ออกแบบและก่อสร้าง เป็นระยะเวลาไม่เกิน 4 ปี นับจากวันที่ กทพ. มีหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน และระยะที่ 2 การดำเนินงานบริหารจัดการและบำรุงรักษา โดยมีระยะเวลาตั้งแต่วันเปิดให้บริการโครงการฯ จนถึงวันที่ครบกำหนด 35 ปี นับจากวันที่ กทพ. มีหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน เบื้องต้น กทพ.คาดว่าจะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ 7 เม.ย.นี้ และเริ่มเปิดซองข้อเสนอที่ 1 ในวันที่ 28 เม.ย.2566 คาดได้ตัวเอกชนผู้ชนะการประมูลปลายปี 2566 ก่อนจะเริ่มต้นก่อสร้างโครงการในปี 2567 ก่อสร้างและเสร็จเปิดให้บริการในปี 2570

สำหรับโครงการดังกล่าวมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 14,670.57 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 5,792.24 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง (รวมค่าควบคุมงาน) 8,878.34 ล้านบาท ทั้งนี้ กทพ.คาดการณ์ปริมาณจราจร ณ ปีเปิดให้บริการ ประมาณ 71,000 คันต่อวัน (รถยนต์ 36,000 คันต่อวัน รถจักรยานยนต์ 35,000 คันต่อวัน) สำหรับทางด่วนสายนี้มีขนาด 8 ช่องจราจร (ไป-กลับฝั่งละ 4 ช่องจราจร) ให้รถยนต์วิ่ง 2 ช่อง และรถจักรยานยนต์ 2 ช่องจราจร เบื้องต้นจัดเก็บค่าผ่านทางรถจักรยานยนต์ 15 บาท, รถ 4 ล้อ 40 บาท, รถ 6-10 ล้อ 80 บาท และมากกว่า 10 ล้อ 125 บาท

รายงานข่าวจาก กทพ.ระบุว่า ข้อกำหนดในเอกสาร RFP ของการประกวดราคาครั้งนี้ กทพ.ระบุในส่วนของคุณสมบัติทั่วไปของผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องเป็นนิติบุคคลไทยที่จดทะเบียนมาแล้วเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือกรณีที่เป็นนิติบุคคลหลายรายรวมกันเป็นกลุ่มนิติบุคคล ต้องมีนิติบุคคลไทยเข้าร่วมอย่างน้อย 1 ราย และสัดส่วนการลงทุนของนิติบุคคลไทยรวมกันต้องไม่น้อยกว่า 51% โดยผู้ยื่นข้อเสนอทุกรายจะต้องเป็นผู้ที่เข้าซื้อซองเอกสาร RFP

ทั้งนี้หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนในเบื้องต้น จะประกอบไปด้วย 5 ซอง ได้แก่ ซองไม่ปิดผนึก ซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ ซองที่ 2 ข้อเสนอด้านเทคนิค ซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน และซองที่ 4 ข้อเสนอื่นๆ เป็นประโยชน์ต่อการให้บริการและการดำเนินงานของ กทพ. โดยการประเมินคะแนนด้านเทคนิค ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องได้รับคะแนนประเมินในแต่ละข้อไม่น้อยกว่า 85% และต้องได้รับคะแนนการประเมินรวมทุกข้อไม่น้อยกว่า 90% ของคะแนนรวมทั้งหมด