ส.อ.ท. เร่งเสนอรัฐตรึงค่า Ft งวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2566 ทางออกต้นทุนพลังงานสูง

ส.อ.ท. เร่งเสนอรัฐตรึงค่า Ft งวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2566 ทางออกต้นทุนพลังงานสูง

ส.อ.ท. เสนอทางออกต้นทุนพลังงานพุ่ง ขอรัฐชะลอขึ้นค่าไฟงวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2566 พร้อมเร่งปลดล็อกกฎระเบียบการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในโรงงานและภาคบริการ

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันราคาพลังงานมีความผันผวนและมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากวิกฤติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน และสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังคงมีอยู่ ส่งผลทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจถดถอยตามมา ซึ่งอุตสาหกรรมทั้งในภาคการผลิต ภาคบริการและครัวเรือน เป็นกลุ่มหลักที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก

โดยที่ผ่านมา ส.อ.ท. มีการทำหนังสือยื่นเสนอข้อร้องเรียนถึงรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ตั้งแต่เดือนส.ค. - พ.ย. 2565 เรื่องแนวทางการแก้ไขต้นทุนพลังงาน การชะลอการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) รวมทั้งปัญหาสูตรโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติภาคอุตสาหกรรม แต่ขณะนี้ ยังไม่ได้รับการประสานงานเพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว 

 

ทั้งนี้ เพื่อหาทางออกของภาระต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นของภาคอุตสาหกรรม ส.อ.ท. จึงขอให้ภาครัฐพิจารณาชะลอการขึ้นค่าไฟฟ้าในงวดเดือนม.ค.– เม.ย. 2566 ออกไปก่อน โดยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการแบกรับภาระที่เกิดขึ้น

รวมทั้งให้เร่งปลดล็อคกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินการ เช่น การขอใบอนุญาต รง.4 (กรณีมีการจำหน่ายไฟฟ้าให้ภาครัฐ) การขอใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดตั้งโซลาเซลล์ (Solar Cell) ในโรงงานอุตสาหกรรมและภาคบริการ

 

การส่งเสริมการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้รวดเร็วและครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรม และการเพิ่มสัดส่วนเอทานอลด้วยน้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วผสมกับเอทานอล (E20) เป็นต้น 

"ซึ่งหากมีการปรับขึ้นอีกในงวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2566 จะเป็นการปรับค่าไฟฟ้าขึ้นที่รุนแรงมากถึงสองงวดติดต่อกัน และจะส่งผลกระทบรุนแรงมากจนยากต่อการปรับตัวของทุกภาคส่วน ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอยเกินคาด" 

รวมทั้ง เป็นการบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันประเทศ เนื่องจากภาคการผลิตและภาคบริการเป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ภาครัฐควรพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาต้นทุนพลังงานสูงและการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ขับเคลื่อนธุรกิจอย่างเข้มแข็งและมีศักยภาพสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้