'ท็อปซีอีโอสหรัฐ'ประสานเสียงเตือนเศรษฐกิจถดถอยปีหน้า

'ท็อปซีอีโอสหรัฐ'ประสานเสียงเตือนเศรษฐกิจถดถอยปีหน้า

ปี 2566 กำลังใกล้เข้ามาพร้อมกับแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอย บรรดาบริษัทสหรัฐกำลังเตรียมตัวรับสถานการณ์ผู้บริโภคใช้จ่ายลดลง ซีอีโอบริษัทใหญ่แสดงทัศนะในรายการ “Squawk Box” ทางสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี เมื่อวันอังคาร (6 ธ.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ถึงมุมมองเศรษฐกิจในปีหน้า

เงินเฟ้อ- ขึ้นดอกเบี้ยทำลายทุกสิ่ง

นายเจมี ไดมอน ซีอีโอเจพีมอร์แกน กล่าวว่า “อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น เงินเฟ้อพุ่ง แรงกดดันด้านภูมิรัฐศาสตร์ และปัจจัยอื่น ๆ อาจผสมโรงกันทำให้เศรษฐกิจถดถอย แม้การออมและความช่วยเหลือจากรัฐบาลช่วงโควิดระบาดช่วยประคองกระเป๋าเงินผู้บริโภคได้ แต่เงินเฟ้อและการขึ้นดอกเบี้ย “กำลังทำลายทุกสิ่ง”

ซีอีโอ รายนี้คาดการณ์ว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ อาจอยู่ได้ไม่นาน และเน้นย้ำความเสี่ยงจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องทำเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ อีกทั้งความร้อนแรงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สงครามในยูเครนและการค้าตึงตัวกับจีน เป็นหนึ่งใน “หมู่เมฆก่อพายุ” ที่นายไดมอนกำลังจับตา

ในช่วงที่ดอลลาร์แข็งค่าเขาตั้งข้อสังเกตว่า การค้าขายระหว่างประเทศสำหรับสินค้าจำพวกน้ำมันจะแพงขึ้นต่อไป เนื่องจากสกุลเงินที่อ่อนกว่าจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับส่วนต่าง

“เมื่อมองไปข้างหน้า สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เศรษฐกิจออกนอกลู่นอกทาง เศรษฐกิจถดถอยตั้งแต่เล็กน้อยถึงรุนแรงซึ่งประชาชนต้องกังวล อาจเป็นเฮอริเคนที่เราไม่อาจล่วงรู้ได้” นายไดมอนกล่าว

เศรษฐกิจไม่ถึงขั้นถดถอย

นางแมรี บาร์รา ซีอีโอ เจเนอรัลมอเตอร์ (จีเอ็ม) คาดว่า เศรษฐกิจจะมีอุปสรรคในปีหน้าแต่ยังไม่ถึงขั้นถดถอย

“ดิฉันจะไม่เรียกว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพราะนั่นเป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้ เพราะตอนนี้บริษัทเราเห็นว่าการบริโภคยังคงแข็งแกร่ง” ซีอีเอ็มจีเอ็มแสดงทัศนะ 

กระนั้น จีเอ็ม กำลังดำเนินการอย่างระมัดระวังเตรียมตัวรับความต้องการที่ลดลง เหมือนกับที่อุตสาหกรรมอื่นทำ ในช่วงโควิด-19 ระบาด ผู้บริโภคใช้จ่ายในการเดินทางและบริการน้อยลง บางอุตสาหกรรมกลับมีความต้องการเพิ่มขึ้น จึงไม่ทันตั้งตัวเมื่อต่อมาความต้องการหดหายไป

นางบาร์รากล่าวว่า จีเอ็มกำลังดูแลต้นทุนปี 2566 อย่างระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่มองไม่เห็น แต่เธอยังเห็นความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นมากหลังจากโควิด และมองด้วยว่าปัญหาที่มาจากโควิดเช่น ขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และซัพพลายเชนติดขัดจะยืดเยื้อถึงปี 2566 แม้สถานการณ์จะดีขึ้นในแต่ละไตรมาสก็ตาม

ถดถอยเพื่อผ่อนเงินเฟ้อ

นายดั๊ก แมคมิลลอน ซีอีโอวอลมาร์ทไม่อยากให้เกิดภาวะถดถอย แต่เขาคิดว่าการผ่อนคลายปัญหาเงินเฟ้อให้ลูกค้า เป็นสิ่งที่จำเป็นถึงจะไม่อยากทำก็ตาม

 “เรามีลูกค้าบางคนที่ใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น เพราะพวกเขาตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากเงินเฟ้อมาหลายเดือนแล้ว เฟดควรทำในสิ่งที่ต้องทำไม่ใช่เหรอ แม้ว่าเศรษฐกิจจะลงแรงกว่าที่เราต้องการ ผมคิดว่าจำเป็นต้องจัดการกับเงินเฟ้อ"

แม้ลูกค้ายังใช้จ่ายกับวอลมาร์ทอย่างแข็งแกร่ง แต่นายแม็กมิลลอนพบว่า ลูกค้าระมัดระวังมากขึ้นในการซื้อสินค้าบางประเภทเช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและของเล่น
 

ส่วนปัญหาพนักงานช่วงโควิด-19 เริ่มเบาบางลง เนื่องจากบริษัทปรับขึ้นค่าแรงแล้ว แต่นายแม็กมิลลอนตั้งข้อสังเกตว่า แรงกดดันด้านการจ้างงานระดับแคชเชียร์ยังมีอยู่ ถ้าเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงเขามั่นใจว่า วอลมาร์ทจะไม่กลับไปลดพนักงาน

“ลูกค้าและสมาชิกต้องได้รับการบริการ ดังนั้นเราจึงเพิ่มจำนวนพนักงาน การเติบโตอาจจะไปต่อได้” ซีอีโอวอลมาร์ทสรุป

เฟดทำถดถอยเล็กน้อย

นายสก็อตต์ เคอร์บี ซีอีโอยูไนเต็ดแอร์ไลน์ กล่าวว่า บริษัทกำลังเริ่มปีใหม่ด้วยการมองโลกในแง่ดี แต่ในปี 2566 อาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเล็กน้อยเพราะเฟด

การเดินทางทำธุรกิจกำลังฟื้นตัวต่อเนื่องจากที่เคยหดหายช่วงโควิดแต่เคอร์บีเผยว่า ความต้องการเดินทางยังไม่เพิ่มขึ้น อาจบ่งบอกว่าอยู่ในช่วงก่อนเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยและแม้ว่าอุตสาหกรรมนี้อยู่ในช่วงฟื้นตัว แต่เคอร์บีชี้ว่า ธุรกิจยังคงเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ จากโควิดเช่นขาดแคลนนักบิน และเชื้อเพลิงมีราคาแพง

ตอนนี้สายการบินได้ประโยชน์จากการทำงานแบบผสม มีการทำงานทางไกลเพิ่มมากขึ้น สร้างความยืดหยุ่นให้ผู้คนได้เดินทาง  ยูไนเต็ดยังคงมองอนาคตในทางบวกเนื่องจากตัวเลขรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง บริษัทเกือบกลับมาถึงจุดทำกำไรแล้ว

ปล่อยให้เฟดตัดสินใจ

นายแลนซ์ ฟริตซ์ ซีอีโอยูเนียนแปซิฟิกเรลโรดส์ เผยว่า การขนส่งสินค้ากำลังชะลอตัวลง เป็นสัญญาณว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคเริ่มลดลงและเศรษฐกิจกำลังตึงตัว“ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด และบรรจุภัณฑ์พัสุดเริ่มน้อยลงเช่นกัน ซึ่งเราเห็นได้จากรายงานและการขนส่งพัสดุ” นายฟริตซ์กล่าว

ทั้งนี้ นายฟริตซ์ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเฟดในการตัดสินใจว่า การสร้างความกดดันต่อการใช้จ่ายของประชาชนและทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้านั้น ยังคุ้มค่ากับการลดเงินเฟ้อหรือไม่ ในเมื่ออัตราดอกเบี้ยยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และว่าการใช้จ่ายและความต้องการจะลดลงแน่นอน

“เฟดพยายามทำให้เราทุกคนบาดเจ็บด้วยเศรษฐกิจชะลอตัวและทำลายความต้องการ ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องดี” ซีอีโอยูเนียนแปซิฟิกเรลโรดส์ ระบุ