เงินเฟ้อเดือนพ.ย.ชะลอตัวลงเป็นเดือนที่ 3

เงินเฟ้อเดือนพ.ย.ชะลอตัวลงเป็นเดือนที่ 3

พาณิชย์ เผย เงินเฟ้อเดือน พ.ย.สูงขึ้น 5.55 % ชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ผลจากราคาสินค้าในกลุ่มอาหารลดลง คาดเดือนธ.ค.เงินเฟ้อจะยังทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนพ.ย. คงเงินเฟ้อทั้งปีที่ 5.5 - 6.5 %ค่ากลางที่ 6.0%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า  (สนค.)เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย หรือเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพ.ย. 2565 สูงขึ้น 5.55 %  เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากเดือนก.ย.ที่อยู่ 6.41%  และเดือนต.ค. ที่อยู่5.98 % เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 3.22 %เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่สูงขึ้น 3.17 %  ตามต้นทุนการผลิตที่เกิดจากราคาพลังงานยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ราคาขายปลีกสินค้าและบริการปรับเพิ่มขึ้น

ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อชะลอตัวลง มาจากการชะลอตัวของราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะผักสด ผลไม้สด เนื้อสัตว์ และเครื่องประกอบอาหาร เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่มีมากกว่าเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับเงินเฟ้อของต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนตุลาคม 2565) พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับดีกว่าหลายประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อิตาลี เม็กซิโก อินเดีย รวมถึงประเทศในอาเซียน ทั้งลาว ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อเดือนธ.ค. 2565 คาดว่าจะยังขยายตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม สินค้ากลุ่มอาหาร อาทิ เนื้อสัตว์ ไข่และผลิตภัณฑ์นม และอาหารสำเร็จรูป และค่าโดยสารสาธารณะ ยังสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน รวมทั้ง อุปสงค์ในประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรบางชนิดที่มีมากกว่าปีที่ผ่านมา มาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐ แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท และการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่จะเป็นปัจจัยที่อาจลดทอนอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือได้ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 อยู่ที่ระหว่าง5.5 - 6.5 %ค่ากลางที่ 6.0% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย