คลังยันเดินหน้าเก็บภาษีหุ้น ชี้ถึงเวลาเหมาะสม

ขณะที่ไทยได้ยกเลิกการจัดเก็บภาษีตัวนี้ตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งขณะนั้นตลาดทุนไทยมีขนาดมาร์เก็ตแคปอยู่แค่ 9 แสนล้านบาท ยังเป็นช่วงยุคการก่อตั้งเพื่อให้มาตรการภาษีช่วยไม่เป็นภาระและให้ตลาดทุนเติบโตอย่างเข้มแข็ง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ระบุ ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเพิ่มความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีและลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และการออมเพื่อเกษียณอายุ ซึ่งการเก็บภาษีหุ้นอยู่ในแผนการปฏิรูปภาษีของรัฐบาล เพราะปัจจุบันรายได้ต่อจีดีพีของไทยลดลง ซึ่งหลายประเทศก็ได้มีการปรับอัตราภาษีการขายหุ้นเช่นกัน 

ขณะที่ไทยได้ยกเลิกการจัดเก็บภาษีตัวนี้ตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งขณะนั้นตลาดทุนไทยมีขนาดมาร์เก็ตแคปอยู่แค่ 9 แสนล้านบาท ยังเป็นช่วงยุคการก่อตั้งเพื่อให้มาตรการภาษีช่วยไม่เป็นภาระและให้ตลาดทุนเติบโตอย่างเข้มแข็ง แต่ในปี 2565 ตลาดทุนไทยมีการเติบโตขึ้นค่อนข้างมากกว่า 22 เท่า หรือมีขนาดมาร์เก็ตแคปสูงกว่า 20 ล้านล้านบาท ใหญ่กว่าขนาด GDP ของประเทศไปแล้ว จึงมองว่าเป็นเวลาที่เหมาะสม และกระทรวงการคลังได้หารือร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. มานานแล้ว ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะสอดคล้องไปกับแผนปฏิรูปภาษีที่ถูกบรรจุไว้อยู่แล้ว

อธิบดีกรมสรรพากร ลวรณ แสงสนิท ระบุ ยืนยันการเก็บภาษีขายหุ้นไม่ได้เป็นปัจจัยชี้ขาดว่าใครจะเป็นศูนย์กลางการเงิน ประเด็นดังกล่าวมีการพูดถึงกันมากว่าเมื่อไทยเก็บภาษีการขายหุ้นแล้วจะทำให้ไทยไม่สามารถเป็นศูนย์กลางการเงินในภูมิภาคได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง เนื่องจากประเทศที่เป็นศูนย์กลางการเงินในปัจจุบันก็มีอัตราภาษีและต้นทุนการซื้อขายหุ้นที่สูงกว่าและใกล้เคียงกับไทย

ทั้งนี้ ฮ่องกงจัดเก็บภาษีที่ 0.13% มาเลเซียจัดเก็บที่ 0.15% เกาหลีใต้จัดเก็บที่ 0.23% ไต้หวัน 0.30% ฟิลิปปินส์จัดเก็บที่ 0.60% อังกฤษจัดเก็บที่ 0.50% และจัดเก็บจาก Capital gain ด้วย แต่ตลาดหลักทรัพย์ของเศรษฐกิจเหล่านี้ยังเป็นตลาดหลักของโลก โดยมีมาร์เก็ตแคปอยู่ใน 20 อันดับแรกของโลก ดังนั้น การเก็บภาษีไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดว่า ประเทศใดจะได้เป็นศูนย์กลางการเงิน นอกจากนี้เมื่อเทียบต้นทุนการทำธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ก็จะพบว่าการเก็บภาษีการขายหุ้นในปีแรกเพียงครึ่งหนึ่ง และเก็บเต็มจำนวนในปีต่อๆ ไป ไม่ได้ทำให้ต้นทุนโดยรวมสูงกว่าประเทศอื่น เช่น ฮ่องกง และ มาเลเซีย

ดังนั้น การที่รัฐบาลเข้ามาดำเนินการจัดเก็บภาษีดังกล่าวในช่วงเวลานี้ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้ว เหตุผลสำคัญ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบ เนื่องจากภาษีดังกล่าวได้รับการยกเว้นมากว่า 30 ปี ซึ่งเหตุผลที่ต้องการยกเว้น เพื่อให้ตลาดหุ้นมีการพัฒนา แต่ขณะนี้ตลาดหุ้นมีการพัฒนาอย่างมากมูลค่าการซื้อขายเพิ่มกว่า 22 เท่าอยู่ที่กว่า 20 ล้านล้านบาท จากในช่วงปี 2534 ที่อยู่ประมาณ 9 แสนล้านบาทเท่านั้น ดังนั้น ในช่วงนี้ จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม

ทั้งนี้ ในปีแรกหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ ไทยจะเก็บภาษีขายหุ้นในอัตรา 0.055% เมื่อรวมภาษีท้องถิ่นแล้ว และจะจัดเก็บในอัตรา 0.11% เมื่อรวมภาษีท้องถิ่นแล้วในปีถัดไป โดยภาระต้นทุนจะอยู่ที่ 0.195%ในปีแรก และปีถัดไปจะอยู่ที่ 0.22% ต่ำกว่าฮ่องกงที่อยู่ 0.38% มาเลเซียอยู่ที่ 0.29% และใกล้เคียงกับสิงคโปร์อยู่ที่ 0.19%

โดยการเก็บภาษีหุ้นนั้น มี 2 แนวทาง คือ เก็บจากกำไรจากการซื้อขายหุ้น และเก็บจากการขายหุ้น ซึ่งในบางประเทศก็เก็บแนวทางใดแนวทางหนึ่ง หรือทั้งสองแนวทาง แต่เราเลือกที่จะจัดเก็บแนวทางเดียว คือ เก็บจากการขายหุ้น ซึ่งสะดวกต่อการจัดเก็บ และมีการจัดเก็บที่ต่ำกว่าแนวทางการเก็บภาษีจากกำไร โดยประเมินว่าจะมีรายได้ต่อปีประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

ปัจจุบันบัญชีซื้อขายหุ้นไทยมีประมาณ 5 ล้านบัญชีเคลื่อนไหวอยู่ราว 1 ล้านบัญชี หรือประมาณ 11% ราว 1 แสนคนที่เทรดหุ้นอยู่ 95% ส่วนหุ้นอีก 5% เทรดอยู่ครอบคลุมคนอีก 89% เพราะฉะนั้นกระทบต่อนักลงทุนไม่มาก แต่กลุ่มคนเหล่านี้อาจจะเสียงดังหน่อยจึงเกิดประเด็นขึ้นมาบ้าง แต่หากได้ทำความเข้าใจกันแล้ว ผู้เสียภาษีก็น่าจะมีความเข้าใจที่ถูกต้องมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้ยกเว้นจัดเก็บภาษี FTT ในกลุ่มผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ซึ่งประกอบด้วย 8 ประเภทคือ 1.บริษัทหลักทรัพย์และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บล./บลจ.) 2.สำนักงานประกันสังคม 3.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 4.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 5.กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน 6.กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ 7.กองทุนการออมแห่งชาติ และ 8.กองทุนรวม ซึ่งขอให้มั่นใจว่าไม่ได้เอื้อแก่นักลงทุนรายใหญ่แต่อย่างใด

ส่วนกรณีที่ได้มีการนำเสนอว่าจะมีการยกเว้นภาษีให้นักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งเป็นการนำเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อน ข้อเท็จจริง คือ ไม่ได้ยกเว้นภาษีให้แก่นักลงทุนรายใหญ่ แต่ยกเว้นภาษีให้แก่ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) กับกองทุนบำนาญ โดย Market Maker คือ บริษัทหลักทรัพย์ (Broker) ที่ขึ้นทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ มีหน้าที่ทําการเสนอซื้อขายหลักทรัพย์ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และ Market Maker ไม่ใช่นักลงทุนรายใหญ่ตามที่ข่าวได้นำเสนอ ซึ่งการยกเว้นดังกล่าวเพื่อไม่ให้กระทบการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่นเดียวกับต่างประเทศ อาทิ อังกฤษ ฮ่องกง ฝรั่งเศส และอิตาลี สำหรับนักลงทุนรายใหญ่ ไม่ว่าบุคคลธรรมดา นักลงทุนสถาบันที่ไม่ใช่กองทุนบำนาญ หรือบริษัทหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เอง (ไม่ใช่บัญชี Market Maker) จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีแต่อย่างใด