“ปตท." ชี้ อินฟราสตรัคเจอร์ ตัวขับเคลื่อนชุมชนเข้มแข็ง

“ปตท." ชี้ อินฟราสตรัคเจอร์ ตัวขับเคลื่อนชุมชนเข้มแข็ง

“ปตท.” ย้ำ เทคโนโลยีดิจิทัลมาเร็ว คนในชุมชนพร้อมปรับตัวรับสิ่งใหม่ สิ่งสำคัญคือ การสร้าง “อินฟราสตรัคเจอร์” รองรับ หวัง รัฐเร่งสนับสนุนผู้นำระดับท้องถิ่นต้องเข้มแข็ง

นายสุรชัย เหล่าพูลสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการโครงการนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา "สมาร์ทซิตี้ กับ สมรรถนะการแข่งขันของเมือง" หัวข้อ “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลชุมชน” โดย “กรุงเทพธุรกิจ” ร่วมกับ “สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย” ว่า เมื่อก่อนเราเน้นอุตสาหกรรม 3.0 ต่อจากนี้ไปอนาคตจะก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ดังนั้น สิ่งสำคัญคือเตรียมความพร้อมประเทศ เพื่อก้าวผ่านไปสู่อุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ อุตสาหกรรมยุคใหม่ อาทิ สุขภาพ ดิจิทัล หรือโลจิสติกส์ เป็นต้น

ทั้งนี้ กลุ่มปตท. ได้พัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง และได้ถูกคาดหวังจะต้องเป็นผู้นำ และไม่ใช่ผู้ท้าทาย ปตท. จะทำธุรกิจในบทบาทที่ส่งเสริมภาครัฐ จึงต้องเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะนวัตกรรม ต้องมีอินโนเวชัน กลุ่มปตท. ทำธุรกิจ เกี่ยวกับสมาร์ท ซิตี้ ในรูปแบบต่าง ๆ มาก ดังนั้น เม็ดเงินที่ลงทุนไปจะต้องทำให้ผลตอบแทนอยู่ดีมีสุข ถือว่าท้าทายมาก

“เราทำคนเดียวไม่ได้ การสร้างอินฟราสตรัคเจอร์จึงสำคัญ ในวังจันทร์วัลเลย์ ปตท.ได้ร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อวางอินฟราสตรัคเจอร์ ทำอินโนเวชันเพื่อสนับสนุนอีโคซิสเต็มให้สามารถอยู่รอดด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาใคร โดยเชื่องโยงนักวิจัยในพื้นที่ ตั้งแต่ระบบการศึกษา”

นอกจากนี้ จากการที่วังจันทร์วัลเลย์ มีพื้นที่ในการขายต่างกับพื้นที่ทั่วไปซึ่งมีพื้นที่สีเขียวถึง 60% การลงทุนหลักพันล้านบาท ซึ่งเมืองนี้อยู่ระหว่างการทดลอง จึงไม่มีกรอบ อะไรที่ไม่เคยมีต้องทำในเมืองนี้ให้ได้ อีกทั้ง ในเรื่องของดิจิทัลชุมชน หรือสมาร์ทซิตี้เกิดหลังได้ แต่อินฟราสตรัคเจอร์ต้องสร้างให้เสร็จก่อน

ทั้งนี้ พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ถือเป็นพื้นที่เพื่อให้เข้ามาทดสอบ เรียนรู้ ปตท.ไม่ใช่โอเปอร์เรเตอร์ สิ่งที่ทำได้ คือ พัฒนาเมือง เช่น จะผนวกอุตสาหกรรมอนาคต อย่างโดรนเพื่อการเกษตร ที่เริ่มมจากชุมชนเล็ก สิ่งที่เกี่ยวโดยตรงคือการทดสอบเพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านได้มีอาชีพที่ดีในอนาคต ในขณะที่รถยนต์ไร้คนขับก็สำคัญว่าจะทำอย่างไรให้มีความปลอดภัย รวมทั้งการส่งเสริมพลังงานทดแทน โดยเริ่มจากชุมชนใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ และเมื่อเหลือใช้ก็ขายให้กันภายในชุมชน

ปตท.เน้นเรื่องของการส่งเสริมการเข้าดูพื้นที่ ส่งเสริมการให้เครื่องมือ การพัฒนาด้านการเกษตร ซึ่งภาพใหญ่ เราต้องสร้างอินอินฟราสตรัคเจอร์ที่ดี สามารถใช้อินโนเวชันต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ซึ่งปัจจุบันเราได้มีการชี้วัดกับชุมชน สุดท้ายการตอบโจทย์ธุรกิจดีมานด์ต้องมา สิ่งสำคัญคือรัฐต้องสนับสนุนและส่งเสริม และองค์การบริหารส่วนตำบลต้องเข้มแข็ง”

ทั้งนี้ การเข้าถึงดิจิทัลชุมชนถือเป็นสิ่งที่ต้องการความร่วมมือกับทุกฝ่าย ทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งรัฐทำอยู่แล้ว เอกชนก็ต้องร่วม ผลักดันดีมานด์ ในนามกลุ่มปตท. อยากจะฝากพื้นที่วงจันทร์วัลเลย์ ซึ่งเป็นพื้นที่อีกพื้นที่ที่เป็นความหวังของภาครัฐ หรือดีป้าเอง ตนกล้าได้เต็มปากว่าเป็นเมืองที่ทันสมัยที่สุดและอยู่ในเมืองที่ธรรมชาติที่สุด จึงอยากให้ไปดูด้วยตา เพราะเทคโนโลยีไปเร็ว สิ่งสำคัญคือสร้างอีโคซิสเต็มได้จริง ถือเป็นความภาคภูมิใจให้กับประเทศ โดยปตท.”