กรมโยธาฯเร่งผังเมือง “วังจันทร์” ศูนย์กลางนวัตกรรม-เกษตร

กรมโยธาฯเร่งผังเมือง “วังจันทร์” ศูนย์กลางนวัตกรรม-เกษตร

กรมโยธาธิการและผังเมืองตั้งเป้าผังเมืองรวมอำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง แล้วเสร็จผังแรกช่วงปี 65-66 รวมอีก 2-3 ผังเสร็จในปี 67 อย่างไรก็ตาม ผังที่เหลือคาดว่าเสร็จล่าช้าจากกำหนด เนื่องจากการจัดประชุมรับฟังความเห็นที่ล่าช้าจากสถานการณ์โควิด

ขณะนี้แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2562 หรือผังอีอีซี 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และ ฉะเชิงเทรา มีผลบังคับใช้ และขณะนี้อยู่ช่วงจัดทำผังเมืองอำเภอตามขั้นตอนใน พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2562 ครอบคลุม 30 อำเภอ จัดทำรวม 30 ผัง

สำหรับ “ผังเมืองรวมชุมชนวังจันทร์” จังหวัดระยอง มีแนวคิดในการสร้างเป็นพื้นที่ศูนย์กลางนวัตกรรม การศึกษาทดลองและวิจัย เพื่อส่งเสริมการเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูป อีกทั้งเป็นศูนย์พักอาศัยน่าอยู่และส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชน

โดยกำหนดพื้นที่รองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบ่งเป็น 6 กลุ่ม พื้นที่พัฒนาเมือง 3,421 ไร่ คิดเป็น 1.39% พื้นที่พาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย 325 ไร่ คิดเป็น 0.13% พื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจเพื่อกิจการพิเศษ 3,454 ไร่ คิดเป็น 1.40% พื้นที่พัฒนาเกษตรกรรม 133,889 ไร่ คิดเป็น 54.31% พื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 15,903 ไร่คิดเป็น 6.45% และพื้นที่อื่นๆ 20,186 ไร่ คิดเป็น 8.19%

รายงานข่าวระบุว่า ในที่ประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมชุมชนวังจันทร์ จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2564 ได้มีการเสนอแผน 3 โครงการเพื่อพัฒนาเมือง ดังนี้ 

1.โครงการพัฒนาพื้นที่นันทาการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ และพัฒนาโครงการโรงเรียนพออยู่พอกิน โดยการปรับปรุงเส้นทางในการเข้าถึงโครงการให้สะดวกสบายและการประชาสัมพันธ์เพื่อประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยว 

2.โครงการพัฒนาสวนสาธารณะ อ่างเก็บน้ำอำเภอวังจันทร์ เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และเส้นทางในการเข้าถึงโครงการ 

3.โครงการพัฒนาศูนย์จำหน่ายสินค้าทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์อำเภอวังจันทร์ บริเวณวัดพลงตาเอี่ยม เป็นพื้นที่ค้าขายสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตและผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตร

สำหรับประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากผังเมืองรวมใหม่ของ อีอีซี จะทำให้เมืองหรือชุมชนสวยงามเจริญเติบโตอย่างมีระเบียบและถูกสุขลักษณะ ทำให้ประชาชนปลอดภัยในการอยู่อาศัย ส่งเสริมเศรษฐกิจของเมืองและชุมชนสภาพแวดล้อมของเมือง และชุมชนจะดีขึ้น เนื่องจากกำหนดพื้นที่กำจัดขยะ การบำบัดน้ำเสียที่ชัดเจน ไม่กระทบต่อชุมชน ทำให้สภาพกวดล้อมเมืองน่าอยู่อาศัย มีสวนสาธารณะพักผ่อนหย่อนใจ และรักษาทรัพยากรธรรมชาติและภูมิประเทศที่สวยงาม

กรมโยธาฯเร่งผังเมือง “วังจันทร์” ศูนย์กลางนวัตกรรม-เกษตร รายงานข่าวจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ระบุว่า ความคืบหน้าการจัดทำผังเมืองรวม 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา ครอบคลุม 30 อำเภอ จัดทำรวม 30 ผัง

จากกระบวนการจัดทำผังเมืองทั้งหมด 8 ขั้นตอน ได้แก่ 1.สำรวจ กำหนดเขตผัง วิเคราะห์และจัดทำผังเมืองรวม2.ประชุมเพื่อพิจารณาร่างผังเมืองรวม 3.ประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชน 4.ประชุมคณะกรรมการผังเมือง 5.การปิดประกาศ 90 วัน 

6.รวบรวม ตรวจสอบ พิจารณาคำร้องและแจ้งผลพิจารณาคำร้อง 7.จัดทำเอกสารประกอบการยกร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย 8.เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นขอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ทั้งนี้ ขณะนี้มีผังเมืองอำเภอที่คืบหน้ามากที่สุดอยู่ในขั้นตอนที่ 4 คือ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ซึ่งผ่านการประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนเรียบร้อยเนื่องจากมีประเด็นไม่มากนัก ขณะนี้อยู่ในระหว่างประชุมคณะกรรมการผังเมืองจึงคาดว่าจะเป็นผังเมืองอำเภอแรกที่จะเสร็จในช่วงปี 2565 ถึงปี 2566 และอีก 2-3 ผัง ที่มีประเด็นข้อคิดเห็นจากประชาชนไม่มากและสามารถจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนได้ตามกำหนดในปี 2567

ส่วนผังเมืองรวมที่อยู่ในขั้นตอนที่ 3 มีจำนวน 9 ผัง ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา 2 อำเภอบ้านโพธิ์ อำเภอบางปะกงจังหวัดชลบุรี 4 อำเภอ คือ อำเภอสัตหีบ อำเภอศรีราชา อำเภอบ้านบึง อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดระยอง 2 อำเภอได้แก่ อำเภอนิคมพัฒนา อำเภอแกลง

ส่วนผังเมืองที่อยู่ในขั้นตอนที่ 2 จำนวน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา และ อำเภอบางละมุงจังหวัดชลบุรี ส่วนที่เหลืออีก 19 อำเภออยู่ในขั้นตอนที่ 1 โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จครบขั้นตอน ตาม พ.ร.บ. การผังเมือง พ.ศ.2562 บางผังใน 30 อำเภอ ล่าช้ากล่ากำหนดที่ปี 2567

เนื่องจากในการจัดทำผังเมือง 30 อำเภอ อีอีซี เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญและได้รับความสนใจอย่างมากส่งผลให้มีผู้ยื่นหนังสือสงวนสิทธิเพื่อแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก บางอำเภอมีมากกว่า 1,000 คน ซึ่งบางประเด็นต้องรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาในการดำเนินงานขั้นตอนที่ 4 จึงใช้เวลานาน

นอกจากนี้ ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงปัจจุบัน เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของความล่าช้า ส่งผลให้ไม่สามารถจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามข้อกำหนดใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่ จำเป็นต้องเลื่อนออกไป 2 ครั้ง เนื่องจากจังหวัดไม่อนุมัติให้มีการรวมกลุ่มกันเกิน 30-50 คน อย่างไรก็ตาม กรมฯ ได้มีการจัดการประชุมแบบผ่านสื่อออนไลน์ควบคู่การจัดประชุมในพื้นที่เมื่อจังหวัดได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายการจัดชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ 

ทั้งนี้ ขั้นตอนดังกล่าวต้องใช้เวลารวมทั้งขั้นตอนในการยกร่างกฎหมายที่ส่งต่อให้กระทรวงมหาดไทยและการเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)