ตลท.สอบ MORE ยันชำระค่าหุ้นปกติ ผนึก 4 หน่วยงานตรวจสอบ

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ชี้แจงแนวทางดำเนินการกรณีหลักทรัพย์ MORE ตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พบว่าหลักทรัพย์บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) (MORE) มีการซื้อขายที่ผิดปกติไปจากช่วงก่อนหน้า และได้ติดตามให้ MORE ชี้แจงข้อมูล  

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ชี้แจงแนวทางดำเนินการกรณีหลักทรัพย์ MORE ตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พบว่าหลักทรัพย์บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) (MORE) มีการซื้อขายที่ผิดปกติไปจากช่วงก่อนหน้า และได้ติดตามให้ MORE ชี้แจงข้อมูล  รวมทั้งได้แจ้งเตือนให้ผู้ลงทุนใช้ความระมัดระวังในการซื้อขายตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา รวมถึงขอให้บริษัทสมาชิกเพิ่มมาตรการในการกำกับดูแลการซื้อขายในหลักทรัพย์ดังกล่าวนั้น

ต่อมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้หารือร่วมกับบริษัทสมาชิก สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อตรวจสอบธุรกรรมเกี่ยวกับหลักทรัพย์ MORE ที่อาจเข้าข่ายเป็นรายการที่ผิดปกติ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทสมาชิกบางรายในระดับที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับขนาดของบริษัทสมาชิกและปริมาณธุรกรรมที่เกิดขึ้นผ่านบริษัทสมาชิกรายนั้น โดยปัจจุบันบริษัทสมาชิกทุกรายยังสามารถให้บริการกับผู้ลงทุนได้ตามปกติ

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอเรียนว่า แม้จะมีเหตุการณ์ผิดปกติดังกล่าว แต่การชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ทุกหลักทรัพย์ระหว่างบริษัทสมาชิกและสำนักหักบัญชียังคงดำเนินการไปตามปกติ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับหลักทรัพย์ MORE เป็นจำนวนมาก และมีความคลาดเคลื่อน จนอาจทำให้เกิดความสับสน ดังนั้น เพื่อให้ผู้ลงทุนได้มีโอกาสรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับหลักทรัพย์ MORE จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้องและครบถ้วน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงเห็นควรหยุดพักการซื้อขายหลักทรัพย์ MORE ในวันนี้ (14 พฤศจิกายน 2565)

ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่กระทบต่อระบบตลาดทุนและตัวโบรกเกอร์ อยากให้มั่นใจว่าตลาดทุนในปัจจุบันมีขนาดใหญ่ถึง 20 ล้านล้านบาท ขณะที่หุ้น MORE มีมาร์เก็ตแคปเพียงแค่หนึ่งหมื่นล้านบาท  ในขณะที่การซื้อขายของหุ้นดังกล่าวมีเพียงไม่กี่พันล้านบาท  ซึ่งตลาดหุ้นมีการซื้อขายวันละแสนล้านบาท การส่งมอบต่าง ๆ ทุกวันไม่มีปัญหา จึงอยากสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน 

ส่วนกรณีที่มีการเปิดบัญชีได้ทีเดียว 20 แห่ง ตรงนี้จะเป็นขั้นตอนต่อไปที่ต้องพิจารณาเพื่อทำการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่อาจพิจารณานำมาใช้จะรวมถึงการนำบูโรของหลักทรัพย์ด้วย