ย้อนรอย 8 ปี ‘ประยุทธ์’ ยอมถอย ‘เรื่องใหญ่’ อะไรบ้าง?

ย้อนรอย 8 ปี ‘ประยุทธ์’ ยอมถอย ‘เรื่องใหญ่’ อะไรบ้าง?

ตามตำรา"กลยุทธ์การศึก" ที่ใช้รบให้ชนะ ใช่จะมีแต่การเดินหน้าโจมตีเท่านั้น บางครั้งต้องใช้กลยุทธ์ “ล่าถอย” เพื่อไม่ให้เสียเปรียบจนพ่ายแพ้และสูญเสีย กลศึกของสามก๊ก และคัมภีร์อี้จิง ของจีนก็กล่าวว่าการถอยมิได้หมายความว่าล้มเหลวหากแต่การยอมถอยจะทำให้ชนะได้ในอนาคต

หลักการถอยให้ได้ชัยชนะบางครั้งก็ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารประเทศ และการทำงานการเมือง แม้จะมีอำนาจในมือมากแค่ไหนรัฐบาลก็ต้องดูทิศทางลม ถึงเวลาต้องถอยก็จำเป็นต้องถอยทั้งเพื่อรักษาฐานการเมือง และฐานเสียงความนิยมของประชาชน

ช่วงเวลาในการเป็นนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา เมื่อรวมกับในการเป็นรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็เป็นเวลากว่า 8 ปีแล้วที่อยู่ในตำแหน่ง ในช่วงเวลาดังกล่าวมีเรื่องใหญ่ๆในฐานะนายกรัฐมนตรีต้องตัดสินใจร่วมกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) และแม้จะมีอำนาจมากก็มีหลายเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจถอย ถอน ไม่ฝืนเดินต่อ

 “กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมเรื่องสำคัญๆ ที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจในลักษณะนี้มาให้ผู้อ่านได้ทราบกัน

1.โครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ เรื่องนี้ย้อนกลับไปตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2559 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานในครั้งนั้น ได้มีมติเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ขนาด 800 เมกะวัตต์ โดยให้เหตุผลว่าเป็นโครงการสำคัญของประเทศ และส่งผลต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้

อย่างไรก็ตามการเดินหน้าโครงการนี้ได้รับการคัดค้านจากกลุ่มชุมนุมคัดค้านถ่านหินกระบี่มีการชุมนุมประท้วงจากนักกิจกรรมมากกว่า 10 เครือข่ายที่รวมตัวกันหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และบริเวณทำเนียบรัฐบาล เพื่อคัดค้านการเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยระบุว่าขั้นตอนการทำการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) และการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (EHIA) นั้นไม่ได้มีการทำอย่างทั่วถึงทำให้ไม่สะท้อนความต้องการของคนในพื้นที่  ภายหลังจากการชุมนุมประท้วงนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 4 คณะ ประกอบไปด้วยตัวแทนนักวิชาการทั้งจากภาครัฐและภาคประชาชน

ย้อนรอย 8 ปี ‘ประยุทธ์’ ยอมถอย ‘เรื่องใหญ่’ อะไรบ้าง?

รวมทั้งตัวแทนจากประชาชนในพื้นที่จังหวัดกระบี่ตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายปกป้องอันดามันได้แก่

1.อนุกรรมการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA)  

2.อนุกรรมการศึกษาพลังงานทางเลือก

3.อนุกรรมการประสานงานรับฟังความคิดเห็น

และ4.อนุกรรมการประสานงาน โดยมีอำนาจหน้าที่ ในการปฏิบัติหน้าที่ 3 เรื่องคือ เรื่องรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม – ศึกษาเรื่องพลังงานหมุนเวียน และได้สั่งการให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) มีหนังสือ ถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ยกเลิกกระบวนการทำ EIAและ EHIA ก่อนหน้า เพื่อเริ่มกระบวนการใหม่ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชน

2.โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” สู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา  

โครงการนี้ได้รับการอนุมัติจาก ครม.วันที่ 7 พ.ค.2562 ตามข้อเสนอของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต)  ที่อนุมัติให้มีการขยายผลโครงการ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 ในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อเป็น “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ซึ่งในแผนที่ประชาชนในพื้นที่มีความเป็นห่วงได้รวมถึงการสร้างท่าเรือน้ำลึก ทางรถไฟเชื่อมโยงท่าเรือ โรงไฟฟ้า และนิคมอุตสาหกรรม 

ต่อมามติ ครม. 21 ม.ค. 2563 ครม.เห็นชอบให้อำเภอจะนะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 ครม. รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งนำไปสู่การแก้ผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีม่วงโดยเวทีรับฟังความเห็นดังกล่าว แต่ในพื้นที่มองว่ารัฐบาลยังไม่ให้ความสำคัญในเรื่องการการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) 

 

และยกเลิกมติ ครม.ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดตามที่ได้รับปากกับประชาชนไว้ ต่อมาวันที่ 6 ธ.ค.2564  "เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น" เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ปักหลักทวงสัญญาการทบทวนโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา "เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" หลังจากครบรอบ 1 ปีที่รัฐบาลรับปากว่าจะยกเลิกมติ ครม.ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด พร้อมจัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA ใหม่ทั้งหมด

ย้อนรอย 8 ปี ‘ประยุทธ์’ ยอมถอย ‘เรื่องใหญ่’ อะไรบ้าง?

จนกระทั่งวันที่ 6 ธ.ค.2564 มีการสลายการชุมนุมและจับผู้ชุมนุมประท้วงประมาณ 50 คน บริเวณทางเข้าประตู 1 ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเหตุการณ์เริ่มที่จะบานปลายมากขึ้น ครม.ที่พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานจะยอมถอยทบทวนเรื่องนี้โดยให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต”และแก้ไขเพิ่มเติม องค์ประกอบคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมอบหมายให้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานกรรมการดังกล่าว

รวมทั้งรับทราบข้อเสนอของรองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการ ให้มีการจัดทำผลการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) และแผนแม่บทต่าง ๆ โดยให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการ และให้รับข้อเสนอของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และผลการดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป โดยปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการจัดทำ SEA ในพื้นที่โดยมีหน่วยงานอย่างสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นหน่วยงานดูแล

 

3.การต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว

ถือเป็นเรื่องร้อนที่รอการพิจารณาจาก ครม.ที่มีพล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานมาหลายต่อหลายครั้ง สำหรับกรณีที่กระทรวงมหาดไทย จะเสนอขอความเห็นชอบจาก ครม.ในการเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะขอต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวระหว่างกรุงเทพมหานคร(กทม.) กับ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮล ดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ระยะเวลา 30 ปี (ปี 2572-2602) แลกกับหนี้ของ กทม.ที่ติดค้างบีทีเอสทั้งสัญญาเดินรถและการติดตั้งระบบรวมกว่า 4 หมื่นล้านบาท

โดยในเรื่องนี้เมื่อจะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ก็จะมีปฏิกิริยาจากพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทยที่จะคัดค้านการนำเข้าสู่การประชุม ทำหนังสือชี้แจงเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยในประเด็นต่างๆรวมทั้งนำ ครม.พรรคภูมิใจไทย 7 คนวอร์คเอาท์ไม่เข้า ครม.ก็เคยทำมาแล้ว ซึ่งการไม่เดินต่อในเรื่องการต่อสัมปทานแลกหนี้ของรัฐบาลครั้งนี้แม้จะมีเหตุผลทางการเมืองจากการไม่ยินยอมของพรรคร่วมรัฐบาลแต่ก็สามารถนับเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีเลือกที่จะไม่เดินต่อเพื่อประคองสถานการณ์ทางการเมืองให้รัฐบาลเดินหน้าต่อไปได้

ย้อนรอย 8 ปี ‘ประยุทธ์’ ยอมถอย ‘เรื่องใหญ่’ อะไรบ้าง?

4.การถอนมติ ครม.เรื่องการแก้ไขกฎกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ.... ที่ได้มีการขอถอนมติออกจาก ครม.แบบเร่งด่วนภายหลังมีกระแสคัดค้านและวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย

โดยกระทรวงมหาดไทยได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 7 พ.ย.2565 มายังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อขอบรรจุเรื่องการขอถอนร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นวาระการพิจารณาของ ครม.ในวาระที่ 1 ของการประชุม ครม.วันที่ 8 พ.ย.2565 ทันที เป็นอีกครั้งที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ถอนเรื่องร้อนออกจาก ครม.เสมือนถอนฟืนออกจากกองไฟ

ทั้ง 4 เรื่องนี้เป็นตัวอย่างจังหวะถอยในเรื่องใหญ่ๆที่มีแรงเสียดทานจากสังคม และพรรคร่วมรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

ขณะนี้ทุกฝ่ายก็ต่างจับตาว่าย่างก้าวทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีคนนี้จะมีจังหวะก้าวถอยบ้างหรือไม่ หรือจะเดินหน้าเพื่อการเป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยต่อไป