ประชาธิปไตย โลกาภิวัตน์และอำนาจนิยม | บัณฑิต นิจถาวร

ประชาธิปไตย โลกาภิวัตน์และอำนาจนิยม | บัณฑิต นิจถาวร

อาทิตย์ที่แล้วผมไปร่วมให้ความเห็นในการประชุมวิชาการประจำปีของสถาบันพระปกเกล้าในหัวข้อประชาธิปไตย โลกาภิวัตน์ และการพลิกผันทางเศรษฐกิจ

สถาบันฯตั้งประเด็นอย่างน่าสนใจว่า โลกาภิวัตน์ได้สร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจทั่วโลกโดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมลํ้าและความพลิกผันทางเศรษฐกิจ บั่นทอนความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อระบบทุนนิยมและประชาธิปไตย นํามาสู่การเติบโตของผู้นำประชานิยมและการเมืองแบบอำนาจนิยม

คําถามคือ เราจะปฏิรูปโลกาภิวัตน์ได้หรือไม่เพื่อให้ระบบทุนนิยมเอื้อต่อประชาชนส่วนใหญ่มากขึ้นและรักษาไว้ซึ่งระบบประชาธิปไตย เป็นคําถามที่ตรงกับสถานการณ์โลกปัจจุบัน วันนี้จึงขอแชร์ความเห็นของผมเรื่องนี้

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกาภิวัตน์ซึ่งเป็นกลไกหลักของระบบทุนนิยมที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมาให้ทั้งผลดีและผลเสีย ผลดีคือประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจ ภายใต้กลไกตลาดที่นำไปสู่การเติบโตต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก

แต่ผลเสียคือ ผลต่อการกระจายรายได้ที่การเติบโตของเศรษฐกิจได้สร้างความเหลื่อมล้ำให้มีมากขึ้น ทั้งความเหลื่อมลํ้าระหว่างประเทศคือระหว่างประเทศรวยกับประเทศจน และระหว่างคนในประเทศคือระหว่างคนรวยกับคนจนที่ความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น รวมถึงความเสียหายที่การเติบโตของเศรษฐกิจได้มีต่อสิ่งแวดล้อม นี่คือผลเสียของโลกาภิวัตน์

ผลเสียเหล่านี้กระทบความเป็นอยู่ของคนจํานวนมากทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและกําลังพัฒนา ที่มองว่าตนเองไม่ได้ประโยชน์จากระบบทุนนิยมและโลกาภิวัตน์ และแสดงความไม่พอใจออกมาในหลายรูปแบบ

เช่น กรณี Brexit รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้นโยบายเพื่อลดความสุดโต่งของระบบทุนนิยมและโลกาภิวัตน์ แต่รัฐบาลซึ่งส่วนใหญ่เป็นรัฐบาลในระบบประชาธิปไตยไม่สนใจที่จะแก้ปัญหาหรือไม่สามารถทำให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้นได้ ทําให้ประชาชนผิดหวังกับประชาธิปไตย 

ประชาธิปไตย โลกาภิวัตน์และอำนาจนิยม | บัณฑิต นิจถาวร

ขณะที่นักการเมืองที่สนับสนุนการเมืองแบบอำนาจนิยมหรือ Strong States ก็แสดงความพร้อมที่จะแก้ปัญหาและเอาใจประชาชนด้วยนโยบายประชานิยม ประชาชนจึงตอบรับอํานาจนิยม ทําให้การเมืองแบบอำนาจนิยมเติบโตพร้อมการถดถอยของระบบประชาธิปไตย

คําถามคือถ้าประชาชนสนับสนุนอํานาจนิยมมากขึ้น เพราะประชาธิปไตยดูแต่จะสร้างปัญหา ไม่สามารถนำไปสู่การตัดสินใจในการแก้ปัญหา และยิ่งวันยิ่งดูอ่อนแอในแง่ความสามารถที่จะแก้ปัญหา

ปรากฏการณ์ลักษณะนี้จะนํามาสู่การจบสิ้นของประชาธิปไตยได้หรือไม่ ต่อคําถามนี้ นักวิชาการรัฐศาสตร์ Francis Fukuyama ได้ให้ความเห็นอย่างน่าสนใจว่า ถ้าเราดูประวัติศาสตร์การเมืองโลก อำนาจนิยมหรือรัฐเข้มแข็ง คือ Strong States มักอยู่ได้ไม่นาน คือมาแล้วก็ไป

เพราะอำนาจนิยมหรือรัฐเข้มแข็งก็มีปัญหาจาก

หนึ่ง คุณภาพการตัดสินใจที่ตํ่าเพราะการรวบอํานาจและตัดสินใจอยู่คนเดียว

สอง ประชาชนโดยธรรมชาติชอบความเป็นอิสระ ชอบที่จะแสดงความเห็น ขณะที่รัฐเข้มแข็งต้องการควบคุมการแสดงความคิดเห็น ทําให้ฐานสนับสนุนรัฐเข้มแข็งจะแคบและขาดความชอบธรรมที่จะอยู่ในอำนาจ

ประชาธิปไตย โลกาภิวัตน์และอำนาจนิยม | บัณฑิต นิจถาวร

สาม สิ่งที่รัฐเข้มแข็งให้กับประชาชนมักไม่ไช่ทางเลือกที่ประชาชนต้องการ ด้วยเหตุนี้รัฐเข้มแข็งในที่สุดก็เจอปัญหา เจอความไม่ชอบหรือการต่อต้านของประชาชน และการเมืองก็จะกลับสู่เสรีนิยมหรือประชาธิปไตย

ในบริบทนี้จึงชัดเจนว่าปัญหาจริงๆ อาจไม่ได้อยู่ที่ระบบประชาธิปไตย แต่อยู่ที่ระบบทุนนิยมที่นโยบายสุดโต่งของระบบทุนนิยม เช่น การเปิดเสรีในทุกรูปแบบที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของโลกาภิวัตน์ในรูปแบบที่เกิดขึ้น และสร้างปัญหามากมายต่อความเหลื่อมลํ้าทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น การแก้ปัญหาต้องมุ่งไปที่การแก้นโยบายของระบบทุนนิยมเพื่อบริหารจัดการโลกาภิวัฒน์ให้เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่มากขึ้น และลดความเหลื่อมลํ้าเพื่อให้ระบบทุนนิยมไปต่อได้

เห็นได้ว่า ความสำเร็จของระบบทุนนิยมจริงๆ อยู่ที่การหาจุดสมดุลระหว่างอิสรภาพและประโยชน์ส่วนตัวกับความรับผิดชอบต่อส่วนรวม เป็นความท้าทายที่มีมาต่อเนื่องในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก และความล้มเหลวของโลกาภิวัฒน์ที่ได้เกิดขึ้นก็สะท้อนความไม่สมดุลนี้ที่เบ้ไปทางประโยชน์ส่วนตนมากเกินไป

ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงในโลกาภิวัตน์ได้เริ่มขึ้นแล้ว ผลักดันโดยดิสรัปชันต่อห่วงโซ่การผลิตที่มากับการระบาดของโควิด-19 และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศที่โยงกับปัญหาภูมิศาสตร์การเมือง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงกําลังเกิดขึ้นในสองรูปแบบ

ประชาธิปไตย โลกาภิวัตน์และอำนาจนิยม | บัณฑิต นิจถาวร

รูปแบบแรกคือ หลายประเทศเริ่มไม่มองโลกาภิวัตน์ว่าเป็นไอเดียหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแต่ให้ความสำคัญกับการเติบโตของเศรษฐกิจด้วยพลังหรือปัจจัยภายในประเทศ และพร้อมทํานโยบายเพื่อลดผลกระทบและความเสี่ยงที่ระบบทุนนิยมโลกจะมีต่อความเหลื่อมล้ำในประเทศและเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ตัวอย่างที่ชัดเจนในรูปแบบนี้ก็คือจีน

รูปแบบที่สองคือ การพยายามปรับแก้นโยบายของระบบทุนนิยมทั้งในระดับสากลและในประเทศเพื่อลดผลเสียที่มาจากโลกาภิวัตน์ ให้ได้โลกาภิวัตน์ใหม่ที่ลดความขัดแย้งของคนในประเทศและนําไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

โดยให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกฏเกณฑ์ (Rules-based) การใช้มาตรการภาษีควบคุมการไหลเข้าออกของเงินทุนต่างประเทศ ให้ความสำคัญกับการสร้างงานให้คนในประเทศทำ และรื้อฟื้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

แต่เหล่านี้ส่วนใหญ่คือไอเดียที่พูดกันมานาน ยังไม่เกิดขึ้นในแง่นโยบาย เพราะรอการตอบรับจากทุนนิยมตัวจริงคือผู้เป็นเจ้าของทุน

นี่คือสิ่งที่กําลังเกิดขึ้น

ประชาธิปไตย โลกาภิวัตน์และอำนาจนิยม | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร. บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]