Globalization จะถึงคราวสะดุดหรือไม่? | พสุ เดชะรินทร์

Globalization จะถึงคราวสะดุดหรือไม่? | พสุ เดชะรินทร์

หัวข้อหนึ่งที่กำลังเป็นที่พูดคุยกันมากขึ้นในหมู่ผู้บริหารระดับสูงคือเรื่องความเป็นไปได้ที่ภาวะ Globalization จะถึงคราวสะดุด หรือ บางสำนักในต่างประเทศถึงขั้นที่ใช้คำว่าจุดสิ้นสุดเลยด้วยซ้ำไป

เมื่อนึกถึงคำว่า Globalization ก็จะนึกถึงภาวะที่สินค้า บริการ เทคโนโลยี คน ข้อมูลข่าวสาร เงินทุน สามารถกระจายและหมุนเวียนไปได้ทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ทั้งในระดับบริษัทหรือประเทศหนึ่งๆ สามารถส่งผลกระทบไปยังบุคคลและประเทศอื่นๆ ได้ทั่วโลก 

    ถ้าย้อนดูอดีตของ Globalization นั้น ก็มีมุมมองว่ามีมานานแล้ว นับตั้งแต่สมัยจีนเปิดเส้นทางสายไหมเพื่อค้าขายกับตะวันตก จนถึงการค้นพบโลกใหม่ของบรรดานักสำรวจจากยุโรป ส่วนใหญ่จะยอมรับกันว่า Globalization ยุคปัจจุบันนั้นเติบโตอย่างมากก็หลังสงครามเย็นจบสิ้นลงเมื่อ 30 ปีที่แล้ว

สาเหตุที่ทำให้มองว่า Globalization ถึงคราวสะดุดนั้น ก็เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลกในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทั้งโควิด19 การขาดแคลนชิปที่เป็นวัตถุดิบสำคัญของอุปกรณ์เทคโนโลยีใหม่ๆ และเรื่องระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งส่งผลทำให้การผลิตและขนส่งวัตถุดิบต่างๆ เกิดการชะงักงัน

จนเรียกได้ว่าเกิด Supply Chain Disruption และยังส่งผลต่อการขาดแคลนสินค้าที่สำคัญและจำเป็นในหลายประเทศ นอกจากนี้ต้นทุนของพลังงานและวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ก็ส่งผลต่อต้นทุนของธุรกิจและราคาสินค้าและบริการทั่วโลก

    Larry Fink ซีอีโอของ BlackRock บริษัทจัดการการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ออกจดหมายถึงผู้ถือหุ้นเมื่อสองสัปดาห์ท่ีแล้วสรุปได้ว่า สถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนนั้นจะเป็นการสิ้นสุดความเป็น Globalization ในรูปแบบที่ทุกคนคุ้นเคยกันมากกว่า 30 ปี รัฐบาลและบริษัทต่างๆ จะต้องทบทวนต่อการพึ่งพาในสินค้าและวัตถุดิบจากประเทศอื่นๆ 

    Fink มองว่าสถานการณ์โควิด ก็เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการจัดหาและขนส่งสินค้าและวัตถุดิบ และยิ่งประกอบกับสถานการณ์ในยูเครนก็ยิ่งเป็นการตอกย้ำความจำเป็นที่บริษัทต่างๆ ทั่วโลกจะต้องทบทวนนโยบายการพึ่งพาต่อประเทศอื่น

จากในอดีตที่นิยมไปการลงทุนหรือดำเนินธุรกิจในต่างประเทศในรูปแบบของ Offshore ก็ควรกลับมาทบทวนว่าจะเป็น มาเป็น Nearshore (ประเทศใกล้ๆ) หรือ Onshore (ประเทศตนเอง) แทน

นอกจากนี้เมื่อสิ้นเดือนมีนาคม ก็มีข่าวของ Volkwagen ผู้ผลิตรถยนต์จากเยอรมันที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ลงใน Wall Street Journal โดยระบุว่าทางค่าย VW จะต้องเตรียมและปรับตัวเข้าสู่โลกในยุคของการ Deglobalized อย่างไร ทั้งนี้เนื่องมาจากปัญหาเรื่อง Supply Chain จากสถานการณ์โควิด ปัญหาการขาดแคลนชิปที่ใช้ในรถยนต์ ปัญหาราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น และปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

Globalization จะถึงคราวสะดุดหรือไม่? | พสุ เดชะรินทร์

    ทางค่าย VW ได้พิจารณาที่จะปรับการลงทุนในตลาดยุโรปและสหรัฐมากขึ้น แทนที่จะเน้นการพึ่งการตลาดจากจีน ในด้านการผลิตนั้นก็ต้องเปลี่ยนนโยบายใหม่ แทนที่จะเน้นการหาวัตถุดิบที่มีราคาต้นทุนต่ำสุด (ไม่ว่าจะจากส่วนไหนของโลก) มาให้ความสำคัญกับการไม่ขาดแคลนวัตถุดิบ โดยอาจจะหาจากผู้ผลิตที่มากกว่า 1 แหล่ง และยอมรับว่าการมีวัตถุดิบสำหรับการผลิตนั้นมีความสำคัญมากกว่าวัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำ

    พอจะสรุปได้ว่าเรื่องของ Globalization ในรูปแบบที่คุ้นเคยกันมาตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมาอาจจะต้องปรับเปลี่ยนไป

บางมุมของ Globalization เช่นเรื่องของความเชื่อมต่อ หรือผลกระทบที่ส่งผลต่อทั่วทั้งโลกนั้น จะยังมีอยู่ แต่ความคล่องตัวของการกระจายหรือการจัดหาสินค้า รวมถึงการลงทุน ระหว่างประเทศ อาจจะต้องเปลี่ยนไป ธุรกิจเองก็ต้องเตรียมพร้อมที่จะปรับตัว การหาแหล่งสินค้าและวัตถุดิบอาจจะมองในประเทศหรือใกล้เคียงมากขึ้น 

แนวคิด Just-in-time ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ก็อาจจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป ต้องกลับมาเป็น Just-in-case ที่มีสินค้าและวัตถุดิบให้เพียงพอกับความต้องการ หรือ แม้กระทั่งสกุลเงินที่ถือครองและใช้ในการทำธุรกิจนั้นก็อาจจะต้องเป็นรูปแบบ Multi-currency แทนที่จะเป็น Single-currency เหมือนในอดีต ก็ถือเป็นอีกหนึ่งแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่จะท้าทายผู้บริหารกันพอสมควรเลยทีเดียว.
คอลัมน์ มองมุมใหม่
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]