ไทยเตรียมชงแผนงาน FTAAP ระยะเวลา 4 ปี ต่อที่ประชุมผู้นำเอเปค

ไทยเตรียมชงแผนงาน FTAAP ระยะเวลา 4 ปี ต่อที่ประชุมผู้นำเอเปค

ไทยเตรียมดันเอเปคออกแถลงการณ์ ขับเคลื่อนการจัดทำ FTA เอเชีย-แปซิฟิก ต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค พ.ย. นี้ เผยแผนงาน FTAAP มีกรอบระยะเวลา 4 ปี เน้นตอบโจทย์เศรษฐกิจโลกมุ่งเป้าขยายและลดอุปสรรคทางการค้าการลงทุน พร้อมเปิดวาระการประชุมรัฐมนตรีเอเปค 16-17 พ.ย. ดันโมเดล BCG

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีและระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ระหว่างวันที่ 17 – 19 พ.ย.นี้ ซึ่งจะมีการนำเสนอแผนงานการขับเคลื่อนสู่การจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTAAP) เพื่อให้ที่ประชุมเห็นชอบออกเป็นแถลงการณ์ ซึ่งจะกำหนดเป้าหมายการทำงานของเอเปคในเรื่องดังกล่าว

สำหรับแผนงาน FTAAP ประกอบด้วย การรวบรวมประเด็นที่สมาชิกเอเปคมีความสนใจร่วมกัน ทั้งด้านการค้าดั้งเดิม การค้าใหม่ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากการเกิดวิกฤต ผ่านกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูล และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างสมาชิกเอเปค เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการจัดทำ FTAAP และมุ่งสู่เป้าหมายผลลัพธ์สำคัญของ FTAAP อาทิ การขยายการค้าการลงทุนภายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก การลดอุปสรรคการค้าการลงทุนที่ไม่จำเป็น การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของสมาชิกเอเปค และการลดช่องว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน

“ปัจจุบันสมาชิกเอเปคอยู่ระหว่างการจัดทำแผนงาน FTAAP ซึ่งจะเป็นแผนระยะ 4 ปี ระหว่างปี 2566 – 2569 มุ่งสู่การจัดทำ FTAAP ที่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ทั้งด้านการค้า การลงทุน นวัตกรรม การเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความเข้มแข็ง สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม โดยจะนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคและผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เดือน พ.ย. นี้ เพื่อกำหนดเป้าหมายการทำงานของเอเปคต่อไป” นางอรมน กล่าว 

สำหรับแนวคิด FTAAP เกิดจากข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (ABAC) ต่อผู้นำเอเปค เมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา แต่การผลักดัน FTAAP ยังไม่คืบหน้ามากนัก ซึ่งการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทยในปีนี้ เป็นช่วงที่สมาชิกเอเปคเผชิญกับผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ทุกฝ่ายเล็งเห็นถึงความสำคัญของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เพื่อเปิดเสรี ลดอุปสรรคการค้าการลงทุน และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อและอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ โดยการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคกับ ABAC ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ที่ประชุมจึงเห็นพ้องว่าเขตเศรษฐกิจเอเปคจำเป็นต้องเร่งขับเคลื่อนการจัดทำ FTAAP ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

นางอรมน กล่าวว่า ทั้งนี้ในระหว่างวันที่ 16-17 พ.ย. 2565 กระทรวงพาณิชย์จะร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปค (APEC Ministerial Meeting: AMM) โดยจากในช่วงค่ำของวันที่ 16 พ.ย. 2565 จะมีงานเลี้ยงต้อนรับรัฐมนตรีการค้าและต่างประเทศเอเปคที่เดินทางเข้าร่วมการประชุม และในวันที่ 17 พ.ค. 2565 จะเป็นการประชุม AMM เต็มวัน นายจุรินทร์  จะเป็นประธานร่วมกับนายดอน ปรมัตถ์วินัยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยช่วงเช้าจะเป็นการประชุมในหัวข้อ “การเติบโตอย่างสมดุล ครอบคลุมและยั่งยืน” (Balanced, Inclusive and Sustainable Growth) เน้นการหารือเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) และการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนและครอบคลุม

 

 

จากนั้นในช่วงกลางวัน ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน และในการประชุมช่วงกลางวัน (Working Lunch) จะเป็นหัวข้อ“การกลับมาเชื่อมโยงในภูมิภาค”(Reconnecting the region) เพื่อหารือแนวทางการฟื้นฟูความเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานร่วม

นางอรมน กล่าวว่า ในส่วนของนายจุรินทร์  จะทำหน้าที่ประธานการประชุม ในหัวข้อ “การค้าและการลงทุนที่เปิดกว้างและยั่งยืน” (Open and Sustainable Trade and Investment) เพื่อสนับสนุนให้สมาชิกเอเปคได้หารือและแลกเปลี่ยนแนวคิดหรือนโยบายด้านการค้าและการลงทุน ที่สามารถส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจการค้าที่เปิดกว้าง และมีการพัฒนา/เติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม นอกจากนี้ ไทยยังได้เชิญผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) บันทึกภาพและเสียงบรรยายสรุปเกี่ยวกับการดำเนินการตามผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 12 (MC12) และความเห็นเรื่องการค้าโลกและระบบการค้าพหุภาคี จากนั้นจะเปิดให้สมาชิกเอเปคทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจหารือกันในประเด็นการค้าและการพัฒนาอย่างเปิดกว้างและยั่งยืนของเอเปค เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่า ภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ยังคงเป็นเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่มีพลวัตและเชื่อมโยงระหว่างกันมากที่สุดของโลก

นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 17 พ.ค. 2565 จะมีกิจกรรมอื่นที่น่าสนใจ เช่น การประกาศรางวัลผู้ชนะเลิศ APEC Digital Prosperity Award เพื่อมอบรางวัลด้านการพัฒนา Mobile Application ที่เป็นเครื่องมือด้านนวัตกรรมในการพัฒนาการเติบโตอย่างครอบคลุมและมั่งคั่ง โดยเฉพาะภาคการเกษตร โดยต่อยอดผ่านการคัดเลือกจากผู้เข้าแข่งขันการพัฒนา Mobile Application ของการประกวด APEC App Challenge เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ขณะเดียวกัน ระหว่างวันที่ 16-19 พ.ย. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยจะได้หารือสองฝ่ายกับรัฐมนตรีพาณิชย์ของสมาชิกเอเปค เบื้องต้น คือ จีน ซาอุฯ ส่วนประเทศอื่นๆอยู่ในระหว่างการนัดหมาย   และจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) ของยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Strategic Economic Cooperation Arrangement: SECA) ระหว่างไทยกับออสเตรเลีย เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระหว่างไทยกับออสเตรเลีย จากเดิมที่มีความตกลงการค้าเสรี ไทย – ออสเตรเลีย ระหว่างกันอยู่แล้ว

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะร่วมจัดนิทรรศการ BCG Journey เพื่อร้อยเรียงเรื่องราวความสำเร็จในการขับเคลื่อนโมเดล BCG Economy ของไทย ในสาขาเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต โดยให้เห็นภาพว่าจะมีการปรับเปลี่ยนจากรูปแบบเศรษฐกิจเดิม ๆ ไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่มีมูลค่าเพิ่ม มีนวัตกรรม และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งนิทรรศการนี้จะอิงแนวคิดหลักของเอกสารเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bangkok Goals on BCG Economy) ซึ่งประกอบด้วย 4 ประเด็นสำคัญ คือ (1) การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เหลือศูนย์ (2) การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน (3) การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน และ (4) การจัดการขยะ